นโยบายการเงินกับประชาธิปไตย

นโยบายการเงินกับประชาธิปไตย

ในโลกแห่งทฤษฎี 2 หลักการดังกล่าวไม่น่าจะเปรียบเทียบกันได้ เพราะนโยบายการเงินเป็นหลักการของเศรษฐศาสตร์

ขณะที่ประชาธิปไตยเป็นหลักการปกครองเชิงรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในโลกความเป็นจริง 2 หลักการขัดกันในเชิงปฏิบัติ

ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดในการปกครองหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน (ซึ่งโดยปกติคือการใช้อำนาจทางอ้อมผ่านรัฐบาล) ซึ่งในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ความต้องการของประชาชนและรัฐบาลคือการกินดีอยู่ดี เศรษฐกิจเติบโตได้เต็มศักยภาพ

ขณะที่ในส่วนของนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจที่ถูกกำหนดโดยธนาคารกลางนั้น เป้าหมายหลักคือการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว ดังนั้นธนาคารกลางจึงมักมุ่งเน้นรักษาเสถียรภาพทางการเงินเป็นหลัก

ความขัดแย้งของ 2 หลักการมีมากหลังจากบทเรียนในศตวรรษที่ 80 ที่ประเทศแถบลาตินอเมริกาที่มุ่งเน้นนโยบายประชานิยมแบบสุดโต่ง ประกอบกับการเกิดวิกฤตน้ำมันครั้งที่สอง นำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อพุ่งทะยาน (Hyperinflation) คล้ายกับที่เกิดในเวเนซุเอลาในปัจจุบัน และนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแต่เงินเฟ้อสูง (Stagflation) ที่ลุกลามไปทั่วโลก

วิกฤตครั้งนั้นนำมาซึ่ง 2 แนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค คือ (1) การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) และ (2) การสนับสนุนให้ธนาคารมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบาย (Central Bank Independence) โดยนักวิชาการเชื่อว่า การผสมผสานของนโยบายทั้งสองจะทำให้ธนาคารกลางน่าเชื่อถือ ทำให้เงินเฟ้อต่ำ และทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพในระยะยาว นอกจากนั้น ความเปลี่ยนแปลงด้านอื่น ๆ เช่น การล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์ที่ทำให้มีแรงงานจำนวนมากเข้าสู่ภาคการผลิตโลก ส่งผลทำให้เงินเฟ้อทั่วโลกลดลง แต่ก็นำมาสู่ผลเสียหลัก คือ ศักยภาพเศรษฐกิจที่หายไป

ตัวอย่างหลักได้แก่ประเทศไทย ที่ผู้กำหนดนโยบายยึดมั่นให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เพื่อเศรษฐกิจและระบบการเงินมีเสถียรภาพ จึงดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินไป และนำมาซึ่ง 4 สัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะตกต่ำระยะยาว (Secular Stagnation) อันได้แก่

นโยบายการเงินกับประชาธิปไตย

(1) เงินเฟ้อที่ต่ำที่สุดในภูมิภาค โดยแม้ว่าเงินเฟ้อที่ต่ำจะหมายความว่าผู้ผลิตและผู้บริโภคมีต้นทุนการผลิต/ต้นทุนการดำเนินชีวิตต่ำกว่าที่อื่น แต่อีกนัยหนึ่งก็บ่งชี้ว่า ประชาชนในประเทศขาดกำลังซื้อ ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถตั้งราคาสูงขึ้นได้ โดยหากเปรียบเทียบกับภูมิภาคเอเชียแล้ว จะเห็นว่าในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อของไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 7% อยู่ในระดับเดียวกับ ไต้หวัน และญี่ปุ่น แต่ต่ำกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนิเซีย ที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระดับ 15-50%

(2) บัญชีเดินสะพัดเกินดุลในระดับสูง โดยในเชิงเศรษฐศาสตร์ บัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลมากไป อาจบ่งชี้ว่านโยบายการเงินตึงตัวเกินไป รวมถึงศักยภาพในการลงทุนในประเทศอยู่ในระดับต่ำ โดยหากเปรียบเทียบกับภูมิภาค ไทยเกินดุลประมาณ 5.7% ของ GDP ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา สูงกว่าเพื่อนบ้านเช่น อินโดนิเซีย และมาเลเซียที่ขาดดุล -2.5% ถึงเกินดุล 3.4% ของ GDP

(3) ค่าเงินที่แข็งเกินไป โดยหากพิจารณาอย่างง่าย การที่ไทยมีนโยบายการเงินที่ตึงตัวกว่าเพื่อนบ้าน จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งกว่าเพื่อนบ้านโดยเปรียบเทียบ ซึ่งในรอบ 7 ปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทเทียบกับเพื่อนบ้าน เช่น หยวน เปโซ ริงกิต และรูเปี๊ยห์ แข็งค่าขึ้นในระดับ 5-54%

(4) ความสามารถในการแข่งขันที่หายไป ค่าเงินที่แข็งค่าเกินไป ทำให้เมื่อแปลงรายได้จากการส่งออกมาเป็นรูปเงินสกุลท้องถิ่นแล้วนั้น จะได้รายได้น้อยกว่าคู่แข่ง ซี่งหากเป็นเช่นนี้ต่อเนื่อง ก็จะทำให้ผู้ผลิตขาดแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่หันมากดค่าแรงในประเทศแทน ทำให้การลงทุน รวมถึงรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นในระดับต่ำกว่าคู่แข่ง

โดยในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา รายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทขยายตัว 18% ต่ำสุดในภูมิภาค เมื่อเทียบกับอินโดนิเซีย จีน มาเลเซีย อินเดีย และฟิลิปปินส์ที่รายได้ขยายตัว 31-69% และเป็นส่วนทำให้รายได้ต่อหัวในสกุลท้องถิ่นของไทยเติบโตแทบจะต่ำสุดในภูมิภาคในช่วงเวลาดังกล่าว

ภาพดังกล่าวบ่งชี้ว่า นโยบายการเงินของไทยตึงตัวเกินไปมีส่วนสำคัญให้คนไทยจนลงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในรอบ 7 ปีที่่ผ่านมา แต่สถานการณ์ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนี้ในระยะยาว เนื่องจากข้อเท็จจริง 5 ประการคือ

นโยบายการเงินกับประชาธิปไตย

(1) ทิศทางเงินเฟ้อโลกในระยะต่อไปจะอยู่ในระดับต่ำ จากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิต ภาวะสังคมสูงวัย (Aging Society) และกระแส Digitalization ทำให้ไม่มีความจำเป็นในการทำนโยบายการเงินตึงตัว

(2) เศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะ New Normal ที่เติบโตต่ำ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปริมาณหนี้ทั่วโลกที่สูงขึ้น ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยยิ่งจะซ้ำเติมให้ผู้กู้มีภาระทางการเงินที่สูงขึ้น

(3) ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงินที่ ทื่อหรือไม่มีประสิทธิภาพที่จะใช้บริหารเศรษฐกิจแบบจุลภาค โดยเฉพาะความเสี่ยงในระบบการเงินเฉพาะภาคส่วน เช่น สหกรณ์ ซึ่งการใช้เครื่องมืออื่น ๆ ในรูปแบบ Macroprudential Regulation เช่นในกรณีของภาคอสังหาฯ จะเหมาะสมกว่า

(4) การสอดประสานระหว่างนโยบายเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งการเงินและการคลังเป็นสิ่งจำเป็น ดังเช่นในสิงคโปร์ที่หน่วยงานด้านการเงินและการคลังมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ทำให้นโยบายเป็นหนึ่งเดียว และทำให้เศรษฐกิจเติบโตดีอย่างยั่งยืน และ

นโยบายการเงินกับประชาธิปไตย

(5) ไทยมีระดับการเปิดประเทศ (Degree of Openess) สูง (120% ของ GDP) กว่าหลายประเทศในเอเชีย เช่น อินโดนิเซียและฟิลิปปินส์ ทำให้การใช้ดอกเบี้ยนโยบายในการควบคุมเงินเฟ้อไม่มีประสิทธิภาพนัก

ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอ 3 ประการ คือ

(1) ปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงิน จากเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายและใช้ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือนั้น กลายเป็นค่าเงินเป็นเป้าหมาย และดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือ โดยวัดจากดัชนีค่าเงินบาทที่เทียบกับคู่ค้า (NEER) เป็นเป้าหมายหลัก

(2) กระบวนการทำนโยบายการเงิน จะต้องมีการตรวจสอบ (Check and Balance) โดยผู้กำหนดนโยบายการเงินจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน

(3) เพิ่มระดับความร่วมมือเชิงนโยบาย (Policy Coordination) ระหว่างหน่วยงานเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยอาจมีการแลกเปลี่ยนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระหว่างกัน เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจได้เห็นภาพเป็นองค์รวม

เพราะเป้าหมายหลักของทั้งนโยบายการเงินและระบอบประชาธิปไตย ได้แก่การกินดีอยู่ดีของประชาชนทุกหมู่เหล่า รวมถึงเศรษฐกิจที่สามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพอย่างยั่งยืน

อันจะเป็นประโยชน์ต่อปวงชนชาวไทยในระยะยาว

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]