อนาคตประเทศอยู่ที่คนรุ่นใหม่

อนาคตประเทศอยู่ที่คนรุ่นใหม่

อาทิตย์ที่แล้ว ใครที่ได้ดูการแสดงออกของนักศึกษาในงานแข่งขันฟุตบอลประเพณีระหว่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 73

ทั้งในช่วงการเดินพาเหรดและช่วงการแปร ตัวอักษรล้อการเมืองคงรู้สึกถึงความห่วงใยและความแหลมคมของความคิดนักศึกษาต่อปัญหาของบ้านเมืองในปัจจุบัน ที่นิสิตนักศึกษาใช้ช่องว่างของเสรีภาพที่มีอยู่ แสดงความคิดเห็นและความรู้สึกของพวกเขาเกี่ยวกับ สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ทั้งในเรื่องความไม่เป็นธรรม การไม่เข้าใจและไม่เคารพในสิทธิส่วนบุคคลของคนรุ่นใหม่ การทำผิดจริยธรรมและธรรมาภิบาลของบริษัทเอกชน การไม่ทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ และองค์กรอิสระที่ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น การเอาเปรียบของฝ่ายการเมืองในการเลือกตั้งที่จะมาถึง เป็นคำถามของพลังบริสุทธิ์ของพลเมืองไทย วัย 18 - 21 ปี ต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ สะท้อนถึงการรับรู้และความห่วงใยของคนรุ่นใหม่ต่อสถานการณ์ของประเทศ ลบทิ้งความเชื่อและความเข้าใจเดิมๆ ที่มองว่านักศึกษาปัจจุบันไม่สนใจปัญหาและความเป็นไปของประเทศ

นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยขณะนี้คือ พลเมืองไทยที่เกิดและเติบโตในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น สังคมไทยที่คนเหล่านี้ได้สัมผัส ได้เห็นตั้งแต่จำความได้ก็คือ สังคมไทยช่วง 12 - 15 ปี ที่ผ่านมานี้เอง เป็นสังคมที่นักศึกษาเหล่านี้เห็นและรับทราบว่าเป็นประเทศไทย ด้านการเมือง เขาเห็นสังคมที่ไม่สมานฉันท์ มีความแตกแยก มีการประท้วงเดินขบวน มีการรัฐประหารสองครั้ง และระบบการเมืองของประเทศไม่เป็น ประชาธิปไตย ด้านเศรษฐกิจ เขาเห็นเศรษฐกิจเติบโตช้า ปัญหาความเหลื่อมล้ำมีมาก ความแตกต่างเห็นได้ ชัดเจนในความเป็นอยู่ของคนในสังคมทั่วไป เห็นพ่อแม่ที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดกลางและเล็กต้องต่อสู้มาก เทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ค่อนข้างสบาย เห็นการทุจริตคอร์รัปชั่นที่แพร่หลายและรุนแรง ในสังคมที่เขาอยู่เขา เห็นระบบอุปถัมภ์ การใช้เส้นสายและการใช้อภิสิทธิ์เป็นเรื่องปรกติในชีวิตประจำวัน นำมาสู่ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนในสังคม นี่คือสิ่งที่นิสิตนักศึกษาเห็นในช่วงที่เขาเติบโตในสังคมไทย

ขณะเดียวกัน คนรุ่นนี้ก็รับรู้ข่าวสารและเรื่องต่างๆ จากทั่วโลกได้เร็ว พวกเขาเป็นพลเมืองของประชาคมโลก จากเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ที่ถือว่าเป็นสิ่งปรกติของคนรุ่นเขา สามารถตามทันเหตุการณ์ต่างๆ สามารถรับฟัง รับรู้ และเข้าถึงการแสดงความคิดเห็นและการวิเคราะห์ต่างๆ รู้ว่าค่านิยมที่ดีและสิ่งที่ควรทำในสังคมคืออะไร อะไรถูก อะไรผิด ตามมาตรฐานสากล ได้เห็นได้สัมผัส เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ เช่น ความเป็นระเบียบของคนในสังคมในประเทศอื่น วัฒนธรรมการเข้าคิว การใช้สิทธิ การใช้เทคโนโลยีสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในธุรกิจ การแสดงความคิดเห็น การเคารพในสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น และความสำคัญของการปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายเมื่ออยู่ร่วมกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงความแตกต่างกับสิ่งที่สังคมไทยมีและสิ่งที่สังคมไทยไม่มี นำมาสู่การเปรียบเทียบ ความรู้สึก และการตั้งคำถามว่า ประเทศไทยจะเป็นอย่างนี้ต่อไปหรือจะเปลี่ยนแปลงและจะแก้ไขได้ไหม

ย้อนกลับไป 40 ปีที่แล้ว สมัยที่ผมและคนรุ่นผมเรียนมหาวิทยาลัย ก็ได้ตั้งคำถามในลักษณะเดียวกัน เป็นคำถามเดียวกันที่อยากเห็นประเทศไทยดีขึ้น พัฒนามากขึ้น มีความก้าวหน้าทันสมัย เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ แต่สำหรับนิสิตนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ขณะนี้ ผมคิดว่าพวกเขาคงจะถอดใจ เมื่อมองไปข้างหน้า ที่เห็นคนรุ่นผู้ใหญ่ปัจจุบันยังวุ่นอยู่กับเรื่องของรุ่นตัวเอง ยังตกลงกันไม่ได้ ยังไม่ยอมกัน ไม่มีฉันทามติร่วมกันของการนำประเทศเดินไปข้างหน้า วนเวียนกับเรื่องการเมืองตัวบุคคล เรื่องอำนาจ ผลประโยชน์ ไม่แก้ไขปัญหาที่ประเทศมี ไม่ปฏิรูป ไม่พยายามปรองดองหรือยุติความขัดแย้ง ไม่แก้เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหามากในสายตาต่างประเทศ และคนไทยก็ถูกมองว่าไม่มีความสามารถที่จะหาทางออก หรือแก้ไขปัญหาที่ประเทศตนเองมี ประเทศจึงไม่ไปไหน

ทั้งหมดนี้ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับความมั่งคั่ง ความรู้ ความสามารถ และศักยภาพที่ประเทศไทย และคนไทยมี ที่สามารถนำพาประเทศให้เติบโตได้มากกว่านี้อีกมาก สามารถพัฒนาขึ้นเป็นประเทศชั้นนำของภูมิภาค ดีกว่าไต้หวัน สิงคโปร์และมาเลเซีย แต่เราก็ไม่ทำ สามารถทำให้ความเป็นอยู่ของคนไทยทั่วประเทศดีขึ้น เป็นที่ยอมรับที่คนไทยทุกคนภูมิใจ แต่ก็ไม่เกิดขึ้น จนมีการตั้งคำถามว่า คนไทยที่มีการศึกษา มีความรู้ความสามารถปล่อยให้ประเทศมาถึงสถานการณ์แบบนี้ได้อย่างไรโดยไม่รู้สึกเดือดร้อน

ด้วยเหตุนี้ผมจึงมองเห็นการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา – ธรรมศาสตร์และในเวทีต่างๆ ขณะนี้ว่า เป็นความหวังที่ต้องรักษาไว้และต้องสนับสนุน ประเทศไทยในอนาคตเป็นของพวกเขา ที่ต้องเข้ามารับผิดชอบต่ออนาคตของประเทศ ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหามากมายที่รุ่นผู้ใหญ่ปัจจุบันได้สร้างไว้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าต่อได้ เป็นภารกิจที่ใหญ่หลวงที่ต้องการการชี้แนะและการสนับสนุน ผมคิดว่าคนรุ่นผู้ใหญ่ปัจจุบัน อาจต้องเริ่มพิจารณาตัวเองว่าสมควรลดหรือยุติบทบาทของตนได้แล้วหรือยัง เพราะเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า การเข้ามามีบทบาทอย่างไม่ยอมวางมือ แม้จะมีความตั้งใจดีๆ แต่ก็ไม่สามารถช่วยทำให้ประเทศดีขึ้น หรือปัญหามีการแก้ไข ควรหรือไม่ที่จะถอยมาอยู่ในแนวหลังที่พร้อมสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มีโอกาสที่จะนำพาประเทศต่อไป เหมือนที่ได้เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จได้ดีในต่างประเทศ เป็นความจริงที่ต้องยอมรับ เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องทำใจ