กฎหมายดื่มไม่ขับในญี่ปุ่น

กฎหมายดื่มไม่ขับในญี่ปุ่น

การดื่มแล้วขับ ไม่เพียงเป็นภัยต่อตนเอง หากยังเป็นภัยต่อผู้ร่วมใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ ผู้บริสุทธิ์ ทั้งยังมีผลกระทบต่อครอบครัวของบุคคลเหล่านั้น

ที่อาจต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักหรือเป็นกำลังหลักของครอบครัวไป นอกจากนี้ หากมองในระดับประเทศแล้ว รัฐเองก็ต้องสูญเสียกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งยังต้องเสียงบประมาณบางส่วนในการดูแลรักษาผู้ที่ประสบอุบัติเหตุกลุ่มนี้โดยไม่จำเป็น เพราะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้หากทุกคนมีจิตสำนึกที่ดีพอ

ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่มีผู้คนจำนวนมากนิยมเสพเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในวาระต่างๆ ซึ่งส่งผลให้มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากผู้ขับขี่ยานพาหนะซึ่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นจำนวนมากทุกปี เมื่อปี พ.ศ. 2560 จึงได้มีการแก้ไขกฎหมายให้มีบทลงโทษที่หนักขึ้น แต่กฎเกณฑ์ที่แก้ไขใหม่นี้ มีผลให้คนดื่มแล้วขับลดลงหรือไม่

หากมองจากประสบการณ์รอบๆตัวแล้ว หลายท่านน่าจะทราบดีว่า กฎหมายใหม่ยังไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก คนที่ดื่มแล้วขับก็ยังมีพบเห็นอยู่มากมาย ประเด็นปัญหาหลักส่วนหนึ่ง อาจอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย และจิตสำนึกของผู้ขับขี่ ทั้งนี้ไม่ว่าจะใช้คำว่า “เมาไม่ขับ” หรือ “ดื่มไม่ขับ” ก็ยังค่อนข้างเปิดโอกาสให้ผู้ขับขี่ใช้ความคิดเห็นของตนว่าถึงจะดื่มแต่ก็ยังขับได้

ะดับแอลกอฮอล์ในเลือดตามกฎหมายไทยคือ ต้องไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ในร่างกาย (เทียบได้กับปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจออก 0.25 mg/l) ซึ่งถือได้ว่าเป็นปริมาณที่ต่ำมาก เบียร์เพียง 1 กระป๋องก็เกินระดับแล้ว

อาจกล่าวได้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงอันตรายจากการดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ดื่มในปริมาณที่ไม่มาก ทั้งๆ ที่ในเชิงวิทยาศาสตร์แล้ว ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด แม้เพียงเล็กน้อยก็ส่งผลกระทบถึงระบบประสาทในร่างกายมนุษย์ได้แล้ว ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการคิดและการตัดสินใจด้วย

ประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีประชาชนดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์กันเป็นจำนวนมาก โดยเปรียบเทียบแล้วอาจมีผู้ที่นิยมดื่มเป็นจำนวนที่มากกว่าในประเทศไทยก็ว่าได้ แต่มีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุจากผู้ขับขี่ที่ดื่มแอลกอฮอล์ที่ต่ำกว่าของไทยมาก ทั้งนี้เป็นเพราะญี่ปุ่นเองก็ตระหนักถึงภัยอันตรายจากปัญหาดังกล่าวและต้องการกำจัดการดื่มแล้วขับ จึงได้มีการแก้ไขกฎหมายใหม่ในปี พ.ศ. 2550 ให้มีบทบัญญัติที่เข้มงวดมากขึ้น เพิ่มโทษสำหรับผู้ที่ดื่มแล้วขับ รวมไปถึงการกำหนดบทลงโทษสำหรับบุคคลอื่นที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบการกระทำของผู้ขับขี่ด้วย ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้ (นอกเหนือไปจากการหักแต้ม และการเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่)

กฎหมายดื่มไม่ขับในญี่ปุ่น

ในกรณีของผู้ขับขี่ หากขับขี่ยานพาหนะในสภาพที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย (酒気帯び運転) โดยมีระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจเกินกว่า 0.15 มก./ลิตร จะโดนโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 เยน แต่หากเมาแล้วขับขี่ยานพาหนะ (酒酔い運転) โดนโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 เยน

ในกรณีของผู้ที่ให้ยืมหรือให้ใช้รถ หากผู้ขับขี่น่าจะขับขี่ในสภาพที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย จะโดนโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 เยน แต่ถ้าผู้ขับขี่เมาแล้วขับ จะโดนโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 เยน

กรณีผู้ที่จัดหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ หรือส่งเสริมให้ผู้ขับขี่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากผู้ขับขี่น่าจะขับขี่ในสภาพที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย จะโดนโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 เยน หากเป็นกรณีผู้ขับขี่เมาแล้วขับ จะโดนโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 เยน

ในกรณีผู้ขอโดยสารรถหรือไหว้วานให้ไปส่งตนเองหรือร่วมนั่งรถไปด้วยนั้น (1) กรณีที่รู้ว่าผู้ขับขี่เมา แล้วผู้ขับขี่เมาแล้วขับ จะโดนโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 เยน แต่ถ้าเป็นกรณีผู้ขับขี่ได้ขับขี่ในสภาพที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย จะโดนโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 เยน (2) กรณีที่รู้ว่าผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย และไม่ว่าจะเป็นกรณีผู้ขับขี่เมาแล้วขับขี่หรือน่าจะขับขี่ในสภาพที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย จะโดนโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 เยน

อนึ่ง หากเกิดอุบัติเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต ผู้ขับขี่จะต้องโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปี

หากท่านใดมีโอกาสได้ร่วมสังสรรค์ดื่มสุรากับคนญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่นก็จะสังเกตเห็นได้ชัดว่า ผู้ที่มีความจำเป็นหรือมีหน้าที่ ต้องขับขี่ยานพาหนะจะปฏิเสธที่จะดื่มเครื่องดื่มชนิดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ คนที่ร่วมวงสังสรรค์เมื่อทราบว่าบุคคลผู้นั้นขับขี่รถก็จะไม่ชักชวนให้ดื่ม หากบุคคลใดที่ต้องการจะดื่ม ก็จะไม่นำรถมาด้วย และเตรียมพร้อมที่จะกลับบ้านโดยวิธีอื่น อาทิ ใช้รถไฟ รถแท็กซี่ ขอโดยสารรถผู้อื่น (ที่ไม่ได้ดื่ม) รวมไปถึงการนอนพักที่โรงแรม หรือในรถของตนเอง อนึ่ง บางร้านก็จะมีบริการเรียกรถแท็กซี่ให้ด้วย

กฎเกณฑ์เหล่านี้ หากจะมีการนำมาปรับใช้ในประเทศไทยด้วยก็น่าจะเป็นผลดี เพราะมีหลายกรณีที่ผู้ขับขี่เองแม้จะปฏิเสธการร่วมดื่มในตอนแรก แต่ได้รับการชักชวนจากคนในกลุ่มคนที่ไปร่วมสังสรรค์ จนกระทั่งสุดท้ายก็ร่วมดื่มด้วย ซึ่งหากมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโดยกำหนดให้ผู้ที่มีส่วนร่วมส่งเสริมให้ผู้ขับขี่ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์จะต้องได้รับการลงโทษด้วยแล้ว น่าจะช่วยลดปัญหาได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากปรับแก้ไขกฎหมายแล้ว การมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังก็เป็นเรื่องที่จำเป็น รวมถึงความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน และมาตรการในการปลูกฝังประชาชนไทยให้มีจิตสำนึกตระหนักต่อความรับผิดชอบต่อสังคมให้มากขึ้นด้วย

โดย... 

ณิชนันท์ คุปตานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์