ทิศทางเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี พ.ศ. 2562 (จบ)

ทิศทางเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี พ.ศ. 2562 (จบ)

ข้อเท็จจริงเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งก็ชี้ชัดว่า กลุ่มคนเพียง 6 ตระกูลถือครองความมั่งคั่ง

เท่ากับคนเกือบ 50 ล้านคนและครอบครองทรัพย์สินมากกว่า 1 ใน 4 ของทั้งระบบ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งและการถือครองทรัพย์สิน การกระจายรายได้และความมั่งคั่งที่ไม่เป็นธรรมเป็นผลจากโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ระบบการเมืองแบบอำนาจนิยมที่มีการผูกขาด รวมทั้งความผิดพลาดทางนโยบายของหลายรัฐบาล ตลอดจนความไม่สามารถปรับตัวได้กับสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนบน ยังไม่กระจายตัวมายังเศรษฐกิจฐานรากมากนัก และโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่ได้มีการแปรเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญจึงยังทำให้ปัญหาการกระจายรายได้และความมั่งคั่งยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อต่อไป เศรษฐกิจไทยต้องขยายตัวในระดับ 5-6% และต้องกระจายรายได้และความมั่งคั่งมายังคนส่วนใหญ่จึงแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้

  ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ หากการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับ 3-4% ภายใต้โครงสร้างแบบเดิมนี้เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้และยังจะทำให้การกระจายรายได้แย่ลงอีกด้วย เพราะผลประโยชน์ที่เติบโตขึ้นจะไปกระจุกตัวอยู่ในมือของเจ้าของทุน คนรวยจะรวยยิ่งขึ้น คนจนจะไม่ดีขึ้นนัก แต่คนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยจะกลายเป็นคนยากจน 

เป็นภาวะที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมโดยทั่วไปหากไม่มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น คาดว่าสภาวะ รวยกระจุก จนกระจาย” จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อสังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ลดการผูกขาด และการเพิ่มการแข่งขัน เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้นให้ประชาชน

รัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องแก้ปัญหาจริยวิบัติ (Moral Hazard) ความล้มเหลวของกลไกตลาดอันนำมาสู่อำนาจผูกขาด ขณะเดียวกันต้องกำกับดูแลการทุจริตรั่วไหลและความไม่มีประสิทธิภาพจากกลไกภาครัฐ

ทิศทางธุรกิจอุตสาหกรรมในปี 2562 ว่า ทิศทางธุรกิจอุตสาหกรรมไทยจะต้องปรับตัวและเตรียมรับมือจากผลกระทบจาก Disruptive Technology เพิ่มขึ้น ผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนสหรัฐอเมริกาที่ทำให้ Global Supply Chain แบ่งออกเป็น US Global Supply Chain และ China Global Supply Chain ขณะเดียวกันระบบเศรษฐกิจก็เคลื่อนตัวสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)มากขึ้น เป็นระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) มากขึ้น เป็นระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) มากขึ้น ขณะเดียวกันต้องระมัดระวังภาวการณ์ลงทุนและขยายตัวเกินพอดีนำมาสู่ภาวะอุปทานส่วนเกินและปัญหาฟองสบู่ โดยธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูงในปี 2019 ได้แก่ 

1.ธุรกิจ E-Commerce 2. ธุรกิจอุตสาหกรรมขนส่งและโลจีสติกส์ 3. ธุรกิจอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ 4. ธุรกิจอุตสาหกรรมทางด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล 5. ธุรกิจวัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง 6. ธุรกิจเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ 7. ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน 8. ธุรกิจ FinTech หรือธุรกิจบริการการเงินด้วยเทคโนโลยี 9. ธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

10.ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารสุขภาพ อาหารสำเร็จรูป 11. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ EEC 12.ธุรกิจปิโตรเคมีและพลาสติก ธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 2. อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ 3. อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ 4. อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น ธุรกิจอุตสาหรรมที่มีอัตราการเติบโตต่ำ

ความเสี่ยงสูงและจะมีเลิกจ้างพนักงาน ได้แก่ 1. ธุรกิจอุตสาหกรรมทีวี ทีวีดิจิทัล เคเบิลทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์ 2. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายหรือการให้เช่า CD DVD 3. ธุรกิจอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางและปาล์มน้ำมัน 4. สถานศึกษาเอกชน 5. ธุรกิจร้านค้าแบบดั้งเดิม 6. ธุรกิจให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานและธุรกิจร้านอินเทอร์เน็ต 7. ธุรกิจหัตถกรรมและเฟอร์นิเจอร์ไม้ 8. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องหนัง เป็นต้น