อันเนื่องมาจากการมองอะไรๆ เป็นกระต่ายตื่นตูม

อันเนื่องมาจากการมองอะไรๆ เป็นกระต่ายตื่นตูม

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว คอลัมน์นี้พูดถึงเรื่องเขื่อนแตกในบราซิลซึ่งส่งผลให้คนตายและสูญหายหลายร้อยพร้อมกับสิ่งแวดล้อมเสียหายในวงกว้าง

 เหตุการณ์นั้นเป็นเสมือนการยืนยันว่า พลังของฝ่ายเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังด้อยกว่าพลังของฝ่ายที่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความมั่งคั่ง ทั้งที่เป็นที่ยอมรับกันว่า การทำลายพื้นที่ป่าอันกว้างใหญ่ของลุ่มแม่น้ำอเมซอนมีผลกระทบต่อภูมิอากาศและชาวโลกอย่างทั่วถึง เนื่องจากป่านั้นเป็นเสมือนเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ การทำลายป่ายังดำเนินต่อไปในอัตราสูง

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ มีบทความน่าสนใจในสื่อออนไลน์ของสำนักข่าวอังกฤษเกี่ยวกับรายงานของสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะ (Institute for Public Policy Research หรือ IPPR) ผมยังไม่มีโอกาสเข้าถึงต้นฉบับของรายงานนั้น แต่การอ่านบทความดังกล่าวได้ข้อมูลที่ผู้อ่านคอลัมน์นี้อาจสนใจ จึงขอนำมาปันในวันนี้

ก่อนอื่นขอเรียนว่า IPPR เป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไรตั้งขึ้นในอังกฤษมา 30 ปี งานวิจัยของสถาบันนี้มักขัดกับจุดยืนของฝ่ายที่ต้องการใช้ระบบตลาดเสรีแนวพื้นฐาน นั่นคือ ปราศจากการดูแลของภาครัฐอันเป็นตลาดเสรีชนิดมือใครยาวสาวได้สาวเอา ด้วยเหตุนี้ IPPR จึงถูกจัดว่า อยู่ในฝ่ายเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในบางกรณี การวิจัยของสถาบันนี้ถูกมองว่าสรุปออกมาในทางลบเกินไปจนเป็นกระต่ายตื่นตูมโดยฝ่ายตลาดเสรีแนวพื้นฐานซึ่งมักต้องการทำลายป่า รายงานที่อ้างถึงอาจถูกมองว่าเป็นเช่นนั้นด้วย

รายงานของ IPPR สรุปว่า ความเกี่ยวพันอันสลับซับซ้อนของปัจจัยหลายอย่างซึ่งมีแรงผลักดันต่อกันและกันได้ก่อให้เกิดการทำลายเสถียรภาพทางสิ่งแวดล้อมจนถึงขั้นวิกฤติแล้ว ปัจจัยที่รายงานยกมาอ้างได้แก่ ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก การสูญเสียหน้าดิน การทำลายป่าและการเป็นกรดของน้ำทะเล วิกฤติทางสิ่งแวดล้อมนี้กำลังมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของสังคมและเศรษฐกิจโลกในอัตราเร่ง ร้ายยิ่งกว่านั้น โอกาสที่จะป้องกันมิให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงแทบไม่เหลืออยู่ รายงานยกตัวอย่างดังนี้ ในช่วงเวลา 70 ปีที่ผ่านมา ภาวะน้ำท่วมเกิดเพิ่มขึ้น 15 เท่า อากาศร้อนหรือหนาวผิดปกติเกิดเพิ่มขึ้น 20 เท่า และไฟป่าเกิดบ่อยขึ้น 7 เท่า

ในปัจจุบัน แม้การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศจะเริ่มได้รับความสนใจอย่างกว้างขว้าง แต่เหตุการณ์สำคัญๆ อีกมากแทบไม่มีใครใส่ใจ เช่น การสูญเสียหน้าดินเร็วกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติ 10-40 เท่า ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา 30% ของพื้นดินที่ใช้ในการเพาะปลูกถูกทำลาย และอีก 30 ปีข้างหน้าคุณภาพของผืนดินราว 95% จะเสื่อมลง สิ่งเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อการผลิตอาหาร การอพยพออกจากย่านขาดแคลนอาหารในอัตราที่สูงขึ้นจะกระทบต่อเสถียรภาพของสังคมโลก

ข้อสรุปดังกล่าวจะถูกมองว่าเข้าขั้นกระต่ายตื่นตูมหรือไม่คงไม่สำคัญ ผู้เชี่ยวชาญที่อ่านรายงานต่างให้ความเห็นว่า สถานการณ์อยู่ในขั้นน่าวิตกมาก ซ้ำร้าย นโยบายสำหรับแก้ปัญหามักเชื่องช้าจนไม่ทันเหตุการณ์

จากมุมมองของความสามารถในการผลิตอาหาร เมืองไทยยังผลิตได้เกินความต้องการภายใน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การดูแลพื้นที่ป่าพร้อมกับการรักษาความหลากหลายในระบบนิเวศและสภาพของดินในพื้นที่เพาะปลูกจะไม่สำคัญเท่ากับในย่านอื่นของโลกสื่อนำภาพเขาหัวโล้นแบบแทบสุดสายตามาเสนอบ่อยๆ แต่รัฐบาลดูจะไม่พยายามแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะรัฐบาลมองว่าสื่อเสนอสภาพปัญหาแบบกระต่ายตื่นตูม ส่วนผู้สังเกตการณ์มักมองว่ารัฐบาลต้องการเอาใจนายทุน เช่นเดียวกับในด้านการใช้สารเคมีที่มีพิษร้ายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคน ทั้งที่มีการห้ามใช้ในหลายสิบประเทศ แต่รัฐบาลไทยยังดันทุรังให้ใช้ต่อไป เท่าที่ผ่านมา จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าเราหลอกตัวเองมาตลอดในด้านการดูแลรักษาป่า สิ่งแวดล้อมและพื้นที่เพาะปลูก

มองต่อไป ไม่มีพรรคการเมืองใหญ่ๆ ชูนโยบายในประเด็นที่กล่าวถึงในการหาเสียงเลือกตั้ง มองกว้างออกไป ไม่มีใครชูแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งจะแก้และป้องกันปัญหาได้สารพัด ตรงข้าม ต่างแข่งขันกันชูมาตรการสร้างความมั่งคั่งและเพิ่มความเข้มข้นของยาเสพติดประชานิยม ด้วยเหตุนี้ อนาคตจึงไม่มีความสดใสไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง