พัฒนาเมืองเพื่อเกษตรกร

พัฒนาเมืองเพื่อเกษตรกร

ช่วงนี้ผมกำลังติดตามศึกษานโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ พบว่าเกือบทุกพรรคมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งนับเป็นนโยบายสำคัญครับ

เพราะประชากรส่วนใหญ่ของไทยยังอยู่ในภาคการเกษตร

ทำให้ผมนึกเปรียบเทียบถึงนโยบายการเกษตรของรัฐบาลจีน ซึ่งมีแนวคิดที่ค่อนข้างน่าสนใจ นั่นก็คือ แนวคิด พัฒนาเกษตรด้วยการพัฒนาเมือง

ฟังทีแรก ท่านผู้อ่านก็คงคิดเหมือนผมว่า การพัฒนาเมืองจะไปช่วยเกษตรกรได้อย่างไร ถ้าจะช่วยเกษตรกร ก็ต้องไปพัฒนาชนบทสิ แต่ที่จริงแล้ว ประสบการณ์ของจีนชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาเมืองนี่แหละที่จะเป็นกุญแจทองในการช่วยพี่น้องเกษตรกร

เป้าหมายของการพัฒนาการเกษตรของจีนมีอยู่สองข้อ ข้อแรกคือ ยกระดับผลผลิตทางการเกษตร ข้อสองคือ ยกระดับรายได้ของเกษตรกร

การยกระดับผลผลิตทางการเกษตรจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยอาศัยเครื่องจักร เทคโนโลยี และเครื่องมือทางการเกษตรสมัยใหม่ การยกระดับผลผลิตไม่ได้แปลว่าต้องใช้คนในภาคเกษตรเยอะขึ้น หากแต่ใช้คนน้อย แต่ได้ผลผลิตเยอะด้วยเทคนิคเกษตรสมัยใหม่

ส่วนเรื่องที่เป็นหัวใจสำคัญคือ การยกระดับรายได้เกษตรกร จริงๆแล้ว ระดับรายได้เกษตรกรมีสูตรคิดง่ายๆ นั่นก็คือ เอาผลผลิตหารจำนวนเกษตรกร จะพอได้เป็นรายได้เกษตรกรต่อหัว

ความหมายก็คือ สมมติว่าพื้นที่ทางการเกษตรคงที่ วิธีสำคัญที่จะยกระดับรายได้เกษตรกรก็คือการลดจำนวนเกษตรกรลง โดยที่ยังสามารถผลิตผลผลิตได้เท่าเดิมหรือมากขึ้นด้วยการยกระดับเทคโนโลยีการเกษตรพร้อมกันไปด้วย เมื่อใช้เกษตรกรน้อยลง แต่ผลิตได้เท่าเดิมหรือมากขึ้น พอหารเฉลี่ย รายได้เกษตรกรต่อหัวก็จะเพิ่มสูงขึ้น

พอเราเข้าใจอย่างนี้ จะพบว่าการพัฒนาเมืองสำคัญมากต่อการยกระดับรายได้ของเกษตรกร ด้วยสองเหตุผลหลัก

หนึ่ง การพัฒนาเขตเมืองจะช่วยสร้างงานใหม่จำนวนมาก ทำให้สามารถโอนย้ายแรงงานจากชนบทเข้าสู่เมือง แรงงานในชนบทที่เข้าเมืองจะมีรายได้ที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อจำนวนเกษตรกรในชนบทลดลง แต่รัฐบาลส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ก็จะส่งผลให้รายได้เกษตรกรต่อหัวสูงขึ้น

ในประเทศจีน เมื่อจำนวนเกษตรกรลดลง ยังส่งผลให้พื้นที่สำหรับทำการเกษตรมีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย ซึ่งช่วยให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) ส่งผลดีต่อการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สาเหตุที่พื้นที่การเกษตรมีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะพื้นที่ส่วนหนึ่งที่เคยเป็นบ้านพักอาศัยของคนชนบทซึ่งตอนนี้ย้ายเข้าเมือง ก็สามารถนำมาแปลงเป็นพื้นที่การเกษตรได้ ในขณะเดียวกัน เมื่อคนในชนบทลดลง พื้นที่ทางการเกษตรก็มีแนวโน้มเป็นผืนใหญ่ขึ้น เพราะไม่ต้องเสียพื้นที่ให้กับรั้วกั้นหรือสวนกั้นระหว่างครัวเรือนอีกต่อไป

สอง การพัฒนาเมืองจะช่วยยกระดับรายได้ของคนเมือง เมื่อคนในเขตเมืองมีระดับรายได้สูงขึ้น ก็จะมีความต้องการสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูงขึ้น และสามารถซื้อสินค้าเกษตรในราคาสูงขึ้นได้ด้วย

ในไทย ผมเห็นมีหลายพรรคการเมืองมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จักปลูกพืชพันธุ์ดี ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ หรือจะให้มีการฝึกอบรมให้เกษตรกรทำหีบห่อผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร โดยหวังจะให้ขายสินค้าเกษตรได้ในราคาที่สูงขึ้น ผมคิดว่าเหล่านี้ล้วนเป็นนโยบายที่ดี แต่อีกด้านหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม ก็คือด้านดีมานด์ ถ้าคนในเมืองที่เป็นผู้บริโภคยังมีจำนวนน้อยหรือมีระดับรายได้ไม่สูงพอ ก็คงไม่มีดีมานด์ในการบริโภคสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพหรือมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเหล่านี้

ในประเทศจีน เมื่อคนในเมืองมีรายได้สูงขึ้น ยังทำให้เกิดดีมานด์สำหรับภาคบริการใหม่ๆ ในชนบท เช่น ธุรกิจโฮมสเตย์กับเกษตรกร หรือการท่องเที่ยวเชิงเกษตรต่างๆ ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นเทรนด์ฮิตมากในจีน ทำให้เกษตรกรในจีนกลายมาเป็นผู้ประกอบการและมีช่องทางทำรายได้มากขึ้น

ตัวอย่างการพัฒนาภาคการเกษตรของจีนที่ประสบความสำเร็จคือ พื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ (มณฑลเหลียวหนิง มณฑลจี้หลิน มณฑลเฮยหลงเจียง) ซึ่งมีการพัฒนาเมืองใหม่อย่างต่อเนื่อง เมื่อคนชนบทส่วนหนึ่งย้ายเข้าสู่เมือง เกษตรกรในพื้นที่ชนบทก็มีจำนวนลดลง แต่ยังสามารถรักษาระดับผลผลิตทางการเกษตร และมีการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรในระยะยาวอีกด้วย ทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน

ข้อคิดสำคัญที่ผมได้รับจากการพัฒนาภาคเกษตรของจีน ก็คือการคิดอย่างเชื่อมโยง เวลาเราตั้งเป้าหมายจะยกระดับรายได้เกษตรกร ทางออกที่ยั่งยืนอาจจะไม่ใช่การแจกเงิน การจำนำสินค้าเกษตร หรือการประกันราคาสินค้าเกษตร แต่เป็นการมองและถามคำถามที่ใหญ่กว่านั้น ทำอย่างไรจึงจะยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของภาคเกษตรพร้อมกับลดจำนวนเกษตรกร และทำอย่างไรจึงจะมีดีมานด์สำหรับสินค้าเกษตรในราคาสูงขึ้น

เมื่อถามคำถามเช่นนี้ คำตอบที่ได้ก็จะเชื่อมโยงไปเรื่องที่นอกเหนือจากภาคเกษตรหรือภาคชนบทเดิม นั่นก็คือ ต้องพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ รวมทั้งพัฒนาเมืองใหม่ๆ พร้อมสนับสนุนการถ่ายโอนคนชนบทส่วนหนึ่งเข้าสู่เมืองใหม่ๆ เหล่านั้น ด้านหนึ่งช่วยยกระดับรายได้ผู้บริโภคสินค้าเกษตรในเขตเมือง อีกด้านก็ลดจำนวนเกษตรกรในเขตชนบทด้วย เราเคยคิดกันว่า การพัฒนาเมืองดีกับคนเมืองหรือเป็นการเอาทรัพยากรของรัฐไปให้กับคนเมืองเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว การพัฒนาเมืองนั้นเชื่อมโยงกับการยกระดับรายได้ของคนในชนบทด้วยเช่นกัน

คนจีนบางทีก็ชอบพูดอะไรแปลกๆ และฟังทีแรกดูขัดแย้งดี แต่คิดๆไป มีเหตุผลลึกซึ้งนะครับ อย่างเช่นที่อธิบายไปวันนี้ หัวใจของการพัฒนาภาคการเกษตร แท้จริงแล้วไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาชนบทเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การพัฒนาเมืองเป็นสำคัญต่างหาก