วิธีเตรียมการรับมือกับอนาคต

วิธีเตรียมการรับมือกับอนาคต

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของยุทธภูมิทางธุรกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของธุรกิจในระยะ 3-5 ปี

จากปัจจุบัน ซึ่งระยะเวลา 3-5 ปีนี้นักบริหารธุรกิจในอดีตมักใช้เป็นช่วงเวลาสำหรับการวางแผนธุรกิจระยะกลาง

ส่วนใหญ่ แผนระยะกลางมักจะถูกประมาณการโดยการใช้สถานการณ์ในปัจจุบันเป็นตัวตั้ง แล้วจึงกำหนดอัตราการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ เพื่อคำนวณค่าความน่าจะเป็นของอนาคตในระยะกลาง ซึ่งวิธีดังกล่าวจะมีความแม่นยำได้ก็ต่อเมื่อสภาวะแวดล้อมต่างๆ คงที่ หรือเปลี่ยนแปลงไปไม่มากนัก ซึ่งไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ผู้บริหารธุรกิจในปัจจุบัน จึงต้องแสวงหาเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะมาใช้สร้างความสามารถให้แก่ธุรกิจในการมองอนาคตให้ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และเนื่องจาก อนาคตเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นการคาดการณ์หรือพยากรณ์อนาคตว่าจะเป็นอย่างไร จึงมีโอกาสผิดพลาดได้โดยง่าย

แนวคิดของการวางแผนธุรกิจในอนาคตจึงเปลี่ยนมาเป็นการมองไปที่ทางเลือกต่างๆ ในอนาคต มากกว่าจะเป็นการมองเป้าหมายเดี่ยวๆ ในอนาคต

ทางเลือกของภาพอนาคต จึงมีได้หลายทางเลือก และการบริหารธุรกิจเพื่อรับมือกับอนาคต ก็คือ การเลือกภาพอนาคตที่ผู้บริหารเห็นว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับธุรกิจ แล้วจึงกำหนดทิศทางการบริหารเพื่อสร้างธุรกิจให้เป็นไปตามภาพอนาคตที่ได้เลือกไว้

วิธีนี้จึงเป็นการเตรียมรับมือกับอนาคตได้ดีที่สุด เพราะเป็นอนาคตที่เรากำหนดขึ้นเอง

ความสามารถขององค์กรในการรับมือกับอนาคต จึงเป็นประเด็นสำคัญในยุคนี้ที่ผู้บริหารจำเป็นจะต้องวางรากฐานและสร้างขึ้นให้ได้ในองค์กร เพื่อรักษาการเติบโตของธุรกิจไปได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน

หลักสำคัญในการสร้างความสามารถขององค์กรในการรับมือกับอนาคต แยกออกได้เป็น 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่

1.การค้นหาเครื่องมือเพื่อสร้างความตระหนักต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในภาพกว้าง เพื่อให้สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ได้ว่า ปัจจัยใดมีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางของธุรกิจในอนาคตได้ โดยวิเคราะห์จากปัญหาที่ธุรกิจต้องเผชิญมาในอดีต ปัญหาที่ต้องเผชิญในปัจจุบัน และคาดการณ์ว่าจะยังคงเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต

แนวทางนี้ เป็นการทำให้ธุรกิจ ได้รับรู้เกี่ยวกับประเภทของปัญหาและระยะเวลาที่ต้องใช้ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเมื่อมองไปยังภาพอนาคตที่ต้องการจะไปให้ถึง ก็จะสามารถประมาณการระยะเวลาที่ต้องใช้ได้ค่อนข้างแม่นยำ

และหากต้องการที่จะย่นระยะเวลาให้เร็วขึ้น ผู้บริหารจำเป็นต้องลงทุนเพื่อสร้างความสามารถในการมีประสาทสัมผัสที่ไวต่อสิ่งบอกเหตุต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต

2.เมื่อสามารถมองเห็นสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ ในขั้นต่อไป ธุรกิจจะต้องสร้างความสามารถในการอุปมาอุปมัย จำลองภาพ หรือขยายขอบเขตของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขั้นตอนนี้ ธุรกิจอาจต้องมีบุคคลากรที่มีความสามารถในการสร้างจินตนาการ โดยที่จินตนาการนั้นๆ ต้องเป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบหรือเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจได้อย่างเป็นกิจลักษณะ

หากจะเรียกว่าเป็นโหรประจำบริษัท ก็จะต้องเป็นโหรที่ใช้นำสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในขั้นตอนที่ 1 มาขยายผลเป็นภาพอนาคตของธุรกิจได้ ซึ่งอาจทำได้โดยตัวของผู้บริหารเอง หรือมีการจัดตั้งหน่วยงานโดยเฉพาะเพื่อมองอนาคตของบริษัท

3.ทดสอบความเป็นไปได้ของภาพอนาคตว่าจะเกิดขึ้นจริงในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ทดลองภาพอนาคตที่เลือกไว้กับการบริหารงานภายในของธุรกิจ หรือทดลองกับตลาดจรงในกรณีของผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีแห่งอนาคต

ขั้นตอนสุดท้ายนี้ เป็นสิ่งตอกย้ำว่า กระบวนการที่ผ่านมาทั้ง 2 ขั้นตอนแรก จะสามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ หรือจะเป็นแค่ภาพที่ฝันไว้เฉยๆ

การทดลองหรือทดสอบจริง จะเป็นการยืนยันได้ว่าแผนการรับมือกับอนาคตที่เลือกไว้ จะต้องปรับแต่งอย่างไรต่อไปเพื่อให้เกิดความแม่นยำและประสิทธิภาพสูงสุด

ธุรกิจที่มีการเตรียมรับมือกับอนาคตเสียตั้งแต่ในปัจจุบัน ย่อมได้เปรียบธุรกิจคู่แข่งที่ไม่มีการเตรียมตัวหรือเตรียมตัวน้อยกว่า ถึงแม้เรื่องของการมองอนาคตจะดูเป็นเรื่องของ “ศิลป์” ค่อนข้างมาก แต่ก็จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนแรกๆ ของการมองอนาคตได้อย่างแม่นยำ คือการเลือกอนาคตที่อยากเป็น ล้วนเป็นเรื่องของ “ศาสตร์” ที่อาจเป็น “ศาสตร์ใหม่” ในปัจจุบัน

ศาสตร์ของการมองอนาคต จึงเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจในแวดวงนักวิชาการและผู้บริหารธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจใหญ่ๆ ระดับโลก แทบทุกแห่ง