เทคโนโลยี Shortcut ลัดขั้นตอน

เทคโนโลยี Shortcut ลัดขั้นตอน

เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ลดภาระและแก้ปัญหาความยุ่งยากบางประการที่เราประสบอยู่

แม้ว่าในยุคสมัยที่คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการทำงาน ระบบคอมพิวเตอร์ในองค์กรต่างๆ ล้วนแต่ถูกควบคุมสั่งการด้วยการคีย์คำสั่งหรือกดปุ่มบางอย่างเพื่อให้คอมพิวเตอร์รับรู้ว่าเราต้องการอะไร ซึ่งปัจจุบันการควบคุมสั่งการเปลี่ยนจากข้อความกลายเป็นเสียง (Text to Speech) ระบบแผนที่นำทาง (GPS navigator) เครื่องมือช่วยสำคัญในการเดินทาง แต่เดิมต้องคีย์ชื่อสถานที่เข้าไป ปัจจุบันเราสามารถพูดใส่ไมค์ของสมาร์ทโฟน ถึงจุดหมายปลายทางที่เราต้องการจะไป

 สิ่งนี้บ่งชี้ให้เรารู้ว่าการสั่งการหรือการบ่งบอกถึงความต้องการไปยังระบบงานยุคใหม่ (Voice command and control) สามารถทำได้ง่ายดายด้วยคำพูดที่เราเปล่งออกมา ซึ่งทำให้การทำงานระหว่างคนกับเครื่อง(อุปกรณ์ดิจิทัลยุคใหม่) จะมีความใกล้เคียงไม่ต่างจากการทำงานกับคนด้วยกัน ดังนั้นถ้าเราเห็นคนพูดอยู่คนเดียว อย่าไปคิดว่าเพี้ยนหรือบ้า เพราะเขากำลังสื่อสารกับอุปกรณ์รอบข้าง และอุปกรณ์สวมใส่ในร่างกาย

สิ่งนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในที่ทำงานเท่านั้น หากแต่กำลังคืบคลานเข้ามาในบ้านของทุกคน อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ และหลอดไฟภายในบ้านจะถูกต่อเชื่อมกับอินเทอร์เน็ต ในขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ใหม่ๆก็จะติดตั้งหรือฝังวงจรพวกนี้มาให้ในทันที (Embedded system) ทุกครั้งที่เราซื้อสินค้าที่มีฟังก์ชั่น IoT เข้ามาในบ้าน เราต้องติดตั้ง App เชื่อมต่อ Wifi กำหนดชื่อให้กับมัน แล้วก็เริ่มต้นสั่งการด้วยเสียง ซึ่งอุปกรณ์รุ่นใหม่เหล่านี้ล้วนแล้วแต่รองรับ Voice control อย่าง Google assistant หรือ Apple siri หรือ Amazon alexa

นอกจากการสั่งการด้วยเสียงแล้ว ระบบอัตโนมัติควบคุมด้วยตัวเอง จะเข้ามาทำงานแทนเรา ไม่ต่างจากระบบช่วยบิน (Auto pilot) ของเครื่องบินซึ่งมีมานานแล้ว สิ่งนี้จะเข้ามาอยู่ในรถยนต์ (Self-driving car) บางคนอาจเริ่มคุ้นเคยกับระบบย่อยๆที่มีให้ใช้แล้ว อาทิ ควบคุมการวิ่งอัตโนมัติด้วยความเร็วคงที่ (Cruise control) โดยที่คนขับไม่ต้องเหยียบคันเร่ง ภายใต้การควบคุมของคนขับ แต่ให้แน่ใจไปกว่านั้นยังมีเซนเซอร์ช่วยตรวจจับและลดความเร็วลงเมื่อวิ่งเข้าใกล้คันหน้า และเร่งความเร็วกลับมาที่ค่าเดิมเมื่อถนนว่างอีกครั้ง ระบบช่วยจอด (Auto parking) น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนต้องการ โดยเฉพาะมือใหม่หัดขับ

เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น (unnecessary job or non-value added process) ลดภาระและแก้ปัญหาความยุ่งยากบางประการ (pain point) ที่เราประสบอยู่ เช่น กรณี App เรียก Taxi ที่สามารถนัดหมายเวลามารับล่วงหน้า รู้ว่ารถคันไหน ทะเบียนอะไร คนขับชื่ออะไร และไม่ต้องลุ้นกับการปฏิเสธผู้โดยสาร นั่นเป็นรูปแบบธุรกิจสำหรับผู้ที่ไม่มียานพาหนะส่วนตัว แต่สำหรับผู้ที่มีรถยนต์ส่วนตัว ที่นอกจากจะต้องเผชิญกับสภาพการจราจรติดขัด เผาผลาญน้ำมันจนก่อให้เกิดมลพิษแล้ว ยังต้องกังวลว่าเมื่อไปถึงจุดหมายปลายทางยังต้องขับวนหาที่จอด

ผมได้มีโอกาสชมคลิปวีดิโอที่ถ่ายทำให้เห็นรูปแบบธุรกิจใหม่ (new business model) ที่เกิดขึ้นในเมืองไทเป ไต้หวัน โดยอาจารย์วิสิทธิ์ เวียงนาค ผู้เชี่ยวชาญด้าน IoT และอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยรังสิต วีดิโอนี้ถ่ายให้เห็นขั้นตอนโดยละเอียดตั้งแต่คนทั่วไปที่ขับรถยนต์อยู่บนถนน เมื่อต้องการไปย่านธุรกิจสามารถจะเปิด App เพื่อค้นหาและจองพื้นที่จอดรถได้ผ่านสมาร์ทโฟน เมื่อกดเลือกอาคารที่จะเข้าไปจอดแล้ว ระบบจะส่งหมายเลขจุดจอดมาให้ ทั้งนี้จะต้องชำระค่าจองที่จอดรถ และมาถึงที่จอดภายใน 1 ชั่วโมง ถ้ามาช้าที่จอดนั้นก็จะถูกยกเลิกในระบบ และให้สิทธิไปกับผู้อื่น แต่ถ้าการจราจรติดขัดมากและคิดว่ามาไม่ทันแน่ สามารถขยายเวลาการจองไปอีกหนึ่งชั่วโมงได้ แต่ต้องจ่ายเงินจองเพิ่มเติม

ที่สำคัญเมื่อถึงอาคารดังกล่าว ทุกอาคารที่ให้บริการจอดรถอัจฉริยะ (Smart parking system) นี้จะติดตั้งเสาสัญญาณบอกตำแหน่งทุกจุด (indoor tracking) ที่ทำงานกับแผนที่อาคารจอดรถ ซึ่งจะช่วยนำทางรถทุกคันที่เข้าไปถึงจุดจอด ในทุกช่องจอดจะมีแผงกั้น รถยนต์ที่จองไว้เท่านั้นที่จะมีสิทธิปลดแผงกั้นลงด้วยการสั่งการผ่าน App เวลาที่จอดจะนับไปเรื่อยๆและคิดเงินตามเวลาที่ใช้ไปจริง

อีกปัญหาหนึ่งของเจ้าของรถก็คือ การลืมชั้นจอดหรือจุดจอดรถ ในกรณีนี้ App จะช่วยนำทางไปสู่จุดที่เราจอดรถได้โดยง่าย เมื่อเลื่อนรถออกจากจุดจอด แผงกั้นก็จะดีดตัวขึ้นเพื่อให้ระบบคืนสถานะเป็นว่าง เมื่อเจ้าของรถวิ่งลงมาถึงชั้นล่าง ระบบจะรู้ทันทีว่าเป็นรถคันใด ค่าจอดรถจะแสดงให้เห็น ผู้ขับขี่สามารถชำระเงินผ่าน App ดังกล่าว และแผงกั้นก็จะเปิดออกเพื่อให้รถยนต์วิ่งออกจากอาคารได้ทันที กระบวนการทั้งหมดนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ให้บริการใดๆเลยแม้แต่คนเดียว เชื่อว่าต่อไปในอาคารต่างๆในย่านธุรกิจใจกลางเมืองของไทย ห้างสรรพสินค้า น่าจะเริ่มมีผู้ให้บริการแบบนี้

 ในอนาคตเมื่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV car – Electrical Vehicles) มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย สิ่งที่จะตามมาก็คือสถานีชาร์จไฟ (Charging station) นอกจากพฤติกรรมของคนที่ต้องเปลี่ยนไป จากเดิมเมื่อเข้าบ้าน จะต้องชาร์จโทรศัพท์ทิ้งไว้ก่อนนอน ต่อไปก็ต้องชาร์จรถยนต์เช่นกัน เมื่ออยู่นอกสถานที่ อาทิ ห้างสรรพสินค้า หรืออาคารสำนักงานต่างๆ ลานจอดรถก็จะมีตู้ชาร์จไฟให้บริการ นี่คือตัวอย่างรูปแบบธุรกิจให้บริการใหม่ๆที่กำลังเกิดขึ้น และยังมีอื่นๆอีกที่จะตามมา ใครคิดได้ก่อน ทำก่อน ย่อมได้ประโยชน์ก่อน