ทำไมตายช่วงปีใหม่ 2562

ทำไมตายช่วงปีใหม่ 2562

จำนวนคนตายจากอุบัติเหตุยานพาหนะในแต่ละช่วงเทศกาลเป็นที่สนใจของผู้คน แต่เมื่อเวลาผ่านไปและวนกลับมาก็พูดถึงกันเรื่องตัวเลขว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง

โดยมิได้วิเคราะห์ปรากฏการณ์กันจริงจังเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในช่วงเวลาต่อไป ผู้เขียนขอนำบท วิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุ ปีใหม่2562” ที่สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)ได้ทำไว้อย่างน่าสนใจมานำเสนอ

ผู้เขียนขอนำบางส่วนมาดังต่อไปนี้ (1)ช่วงปีใหม่2562 (27 ธ.ค.2561ถึง 2 ม.ค.2562) มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 463 ราย(70% เป็นจักรยานยนต์) โดยเกิดอุบัติเหตุรวม 3,791 ครั้ง(น้อยลงเมื่อเทียบกับ ปี 2561) มีผู้บาดเจ็บ3,892คน(น้อยลงกว่าเมื่อ ปี 2561) แต่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากขึ้น(ปีก่อน 423 ราย) ถือได้ว่ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

(2)ปัจจัยของความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นมาจาก (ก)ความเร็วทั้งในเขตเมืองและทางหลวง (ข)การไม่ใส่อุปกรณ์นิรภัย(หมวกเข็มขัดนิรภัย) (ค)พฤติกรรมเสี่ยงหลักคือ “หลับใน”และ “ดื่มขับ” (หลับในและการไม่ใส่อุปกรณ์นิรภัยส่วนหนึ่งมาจากแอลกอฮอร์) (ง)สภาพถนนอันตราย เช่น ต้นไม้ ป้าย ก่อสร้าง เสาไฟ ฯลฯ ปัจจัยร่วมเหล่านี้คือสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ

(3) ในจำนวนผู้เสียชีวิต463รายนั้น 258 ราย(56%) เสียชีวิตที่เกิดเหตุ 20 รายระหว่างนำส่งโรงพยาบาล และ 185 รายเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ยานพาหนะที่ผู้เสียชีวิตใช้เป็นจักรยานยนต์ 70%  รถปิคอัพและรถนั่งใกล้เคียงกันคือประเภทละ 10%

ในเรื่องสถานะของผู้เสียชีวิต 76% เป็นผู้ขับขี่เอง 16% เป็นผู้โดยสารและ 7% เป็นผู้เดินถนน

ข้อสังเกตก็คือประมาณ 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตจากจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย 

อนึ่งไม่มีผู้โดยสารรถสาธารณะเสียชีวิตเลยถึงแม้จะมีอุบัติเหตุของรถโดยสารประจำทาง4ครั้งก็ตาม

(4)แอลกอฮอล์มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเกิดอุบัติเหตุ ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดนั้นเกือบ 40% มาจากขับเร็ว(ส่วนใหญ่เป็นผลจากแอลกอฮอร์) เกือบ 30% มาจากดื่มขับ (รวมกันเป็น 70% ดังนั้นจึงอนุมานได้ว่าไม่ต่ำกว่า 70% เป็นผลจากแอลกอฮอล์) อีก 20% มาจากการ ขับรถตัดหน้า และ 6% จากหลับใน(ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ก็โยงใยกับการดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน)

ในช่วงเวลานี้มีการส่งตรวจตัวอย่างเลือดผู้ขับขี่และทราบผล 469 ราย พบว่ามีปริมาณ แอลกอฮอล์จำนวน 57% ในกลุ่มที่พบแอลกอฮอล์นี้สำหรับผู้มีอายุน้อยกว่า 20 ปี พบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์จำนวน 80% ส่วนกลุ่มอายุ 20 ปีขึ้นไปมีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่า 50 มิลลิกรัม(มก.) ถึงจำนวน 52%

(5)เกือบครึ่งหนึ่งหรือ 41% ของผู้ประสบภัยจากรถ (ทั้งตายและบาดเจ็บ) เป็นหัวหน้าครอบครัว 47% เป็นเด็กและเยาวชน(เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งมีสัดส่วน 39%)

(6)ครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตตายในรัศมี 5 กิโลเมตรจากบ้าน(60% ของผู้เสียชีวิตเป็นคนในพื้นที่) โดยเกิดบนทางหลวง 60% เกือบ 16% เป็นเด็กและเยาวชน

(7) 2 ใน 3 ของอำเภอไม่มีการเสียชีวิต มี 1 ใน 3 เป็นอำเภอเสี่ยง(อาจเป็นอำเภอที่มีถนนยาว ผู้สัญจรมากและอาจมีการดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอำเภอใหญ่ๆ ที่มีงานฉลอง รื่นเริง มีลานเบียร์)

(8)วันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ วันที่ 1 ม.ค. คือ 91 คน รองลงมาคือ วันที่ 29 ธ.ค. 84 คน วันที่ 31 ธ.ค. 76 คนและจำนวนความถี่ของการเกิดอุบัติเหตุก็สูงเช่นเดียวกันระหว่าง 30 ธ.ค.- 1 ม.ค. ซึ่งหมายถึงว่าเป็นช่วงการฉลองปีใหม่และมีการดื่มแอลกอฮอล์ตลอดจนการเดินทางไปและกลับทันทีหลังปีใหม่ เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต ไม่ใช่ช่วงก่อนและหลังการฉลองไปแล้ว

(9)ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้นำไปสู่ข้อเสนอแนะใหญ่ๆ หลายประการดังนี้ (ก)เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าพนักงานโดยมีเครื่องมือตรวจความเร็ว ตรวจแอลกอฮอล์ ฯลฯ เพียงพออย่างเคร่งครัดทั้งก่อนและหลังเทศกาล (ข)จัดการสภาพแวดล้อมของถนน ไม่ว่าในเรื่องพื้นที่ก่อสร้าง เครื่องหมายจราจรเส้นทางที่รถขับเร็ว ฯลฯ (ค)มาตรการเรื่องจักรยานยนต์เป็นการเฉพาะ เพราะเป็นสาเหตุของการตายถึง 70% ในเรื่องใบขับขี่ หมวกนิรภัย การปฏิบัติตามกฎหมาย ฯลฯ

(ง)บทบาทของท้องถิ่นทั้งในระดับอำเภอ/ตำบลในการเป็น “เจ้าภาพ” บริหารจัดการความเสี่ยง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของการใช้จักรยานยนต์ของเยาวชน การดื่มแอลกอฮอล์ของคนในชุมชนเมาแล้วขับ ฯลฯ

(จ)การร่วมมือของหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชนในการแก้ไขปัญหาอย่างสอดคล้องกันและมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างที่ดีของการทำงานแก้ไขในระดับพื้นที่ของอ.เมือง จ.สกลนคร โดยมีนโยบาย “ถนนสกลนครปลอดภัย” มีการจัดทำฐานข้อมูลของการเกิดอุบัติเหตุและวิเคราะห์ปัญหา มีอนุกรรมการของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.)ของคณะกรรมการอำเภอเมืองเป็นทีมงานขับเคลื่อนโดยมี “ทีมเทวดา-นางฟ้า”  มีการค้นหาจุดเสี่ยงเพื่อแก้ไข ทำงานเชิงรุกขับเคลื่อนตำบลป้องกันและลดอุบัติเหตุ

สสส.ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนการมีสุขภาวะที่ดีของคนไทย (ซึ่ง “สุขภาวะ” ครอบคลุมทั้งสุขภาพทางกายและจิตใจ) มีโครงการสื่อโฆษณา“ กลับบ้านปลอดภัย” อย่างกว้างขวาง สนับสนุนอำเภอเป็นกลไกจัดการลดความเสี่ยงโดยเฉพาะ 1 ใน 3 ของอำเภอ (283 อำเภอ) ที่มีสถิติอุบัติเหตุสูงจัดให้มีสื่อสาธารณะสนับสนุนการใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เพื่อลดพฤติกรรมความเสี่ยง เช่น ขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกและไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ฯลฯ อีกทั้งพยายามสร้างกระแส “smart driver” ในสังคมไทยและความตระหนัก “วินัยจราจร”

ปีหนึ่งคนไทยเกิดไม่ถึง 700,000 คน ตายปีละ 400,000 กว่าคน และในจำนวนที่ตายนี้ก็มีเยาวชนรวมอยู่ด้วยอย่างไม่สมควร คนไทยเราที่อยู่ในวัยทำงานก็จะไม่เพิ่มขึ้นมากในอนาคตอยู่แล้ว การตายกันโครมๆ ทุกเทศกาลจึงไม่ใช่เรื่องดีแต่อย่างใด

ปัจจุบันคนสูงวัยชีวิตยืนยาวก็มีจำนวนมากให้ลูกหลานเยาวชนที่มีจำนวนไม่มากต้องออกแรงเลี้ยงผ่านการจ่ายภาษีอยู่แล้ว สงสารเยาวชนไทยกันเถอะครับที่โดน 2 เด้ง เราควรช่วยกันรีบแก้ไขปัญหาเก่าแก่นี้ให้ได้ผลจริงจังกันเสียที