ผู้นำ....เพื่อใคร?

ผู้นำ....เพื่อใคร?

ตามทฤษฎีและทางปฏิบัตินั้น หน้าที่หนึ่งที่สำคัญของผู้นำคือการตัดสินใจ แต่เคยสังเกตหรือไม่ว่าผู้นำแต่ละท่านนั้น

เมื่อทำการตัดสินใจไป (ไม่ว่าดีหรือร้าย ถูกหรือผิด) เป็นการตัดสินใจเพื่อใคร? เป็นการตัดสินใจไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือองค์กรอย่างแท้จริง หรือ เป็นการตัดสินเพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้องของตนเองเป็นหลัก? เชื่อว่าโดยส่วนใหญ่แล้วถ้าถามผู้นำหรือผู้ที่อยากจะเป็นผู้นำทุกท่าน ก็มักจะได้รับคำตอบว่าตัดสินใจไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมหรือองค์กรทั้งสิ้น แต่จริงๆ แล้วแรงจูงใจที่แแท้จริงคืออะไรก็ต้องดูกันยาวๆ

ในระยะสั้นอาจจะยากที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้นำตัดสินใจไปเพื่อใคร แต่ในระยะยาวแล้วผลของการตัดสินใจดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกให้รู้ถึงแรงจูงใจที่แท้จริง บริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่งถึงขั้นล้มละลายเนื่องจากผู้บริหารให้ความสนใจต่อผลประกอบการขององค์กรในระยะสั้น (ช่วงที่ตนเองยังเป็นผู้บริหาร) เพื่อให้ผลงานในช่วงที่ตนเองเป็นผู้บริหารออกมาดูดี โดยแท้ที่จริงแล้ว องค์กรดังกล่าวกำลังอยู่ในช่วงที่ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และถ้าไม่เปลี่ยนองค์กรจะไม่รอด ซึ่งถ้าเปลี่ยนก็จะทำให้ผลประกอบการระยะสั้นออกมาไม่ดี (ผลงานของผู้บริหารไม่ดี) ดังนั้นผู้นำเหล่านั้นจึงเลือกที่จะตัดสินใจเพื่อระยะสั้น (นั้นคือตัดสินใจเพื่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ของตนเอง) โดยไม่สนใจต่อระยะยาวหรือความอยู่รอดขององค์กร สุดท้ายก็นำไปสู่หายนะขององค์กร

อีกแนวทางหนึ่งในการดูว่าผู้นำตัดสินใจเพื่อใครนั้น ก็คือต้องย้อนกลับไปดูว่าคนที่เป็นผู้นำนั้น ขึ้นมาเป็นผู้นำเพราะต้องการอะไร และเพื่อใคร? ซึ่งก็มีทฤษฎีทางการจูงใจ ชื่อ Theory of Needs ที่คิดกันขึ้นมาตั้งแต่ปี 1961 โดย David McClelland ซึ่งยังสามารถปรับใช้ได้กับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยในทฤษฎีดังกล่าวระบุว่าคนที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ มักจะมีความต้องการในเรื่องของอำนาจ (Need for Power) มากกว่าความต้องการด้านอื่นๆ (อีกสองด้านที่เหลือคือด้านความสำเร็จแและความสัมพันธ์)

บุคคลที่มีความต้องการด้านอำนาจสูงนั้น มักจะแสดงออกได้ผ่านพฤติกรรมและคำพูด อาทิเช่น ต้องการที่จะให้ผู้อื่นทำตามในสิ่งที่ตนเองต้องการ หรือ ต้องการที่จะชี้นำคนรอบๆ ตัว หรือ ต้องการที่จะเป็นผู้ตัดสินใจให้กับคนรอบๆ ตัว แม้กระทั่งความต้องการมีชื่อเสียง ก็มีงานวิจัยระบุว่าเป็นการแแสดงออกอย่างหนึ่งของคนที่มีความต้องการอำนาจสูง

ความต้องการในการมีอำนาจนั้นยังสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทย่อยๆ คือ ต้องการอำนาจเพื่อส่วนรวม (Institutional หรือ Social Power) และอำนาจเพื่อส่วนตัว (Personal Power) ซึ่งพวกแรกที่ต้องการมีอำนาจเพื่อส่วนรวมนั้น คือเพื่อทำให้ส่วนรวมหรือองค์กรดีขึ้น อำนาจหรือความต้องการส่วนบุคคล ไม่ใช่จุดมุ่งหมายหลักของคนกลุ่มนี้ จะมีคนจำนวนมากที่ต้องเสียสละความสุข ความสบาย หรือ แม้กระทั่งเวลาและชีวิตส่วนตัวในการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ แต่ก็ต้องยอมเนื่องจากอยากจะแก้ปัญหาให้กับองค์กรหรือ อยากจะเห็นองค์กรและส่วนรวมดีขึ้น สำหรับคนกลุ่มนี้แล้วการตัดสินใจของเขาจะไม่ใช่เป็นการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้อง แต่เป็นการตัดสินใจ โดยยึดเอาประโยชน์ขององค์กรเป็นที่ตั้ง (ส่วนจะตัดสินใจถูกหรือผิด ตัดสินใจโดยมีมุมมองที่แคบหรือกว้าง นั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง)

สำหรับผู้นำกลุ่มที่ 2 ที่มีความต้องการอำนาจเพื่อส่วนตัวสูง ก็ชัดเจนว่าต้องการที่จะมีอำนาจ ต้องการเป็นผู้นำ นั้นคือเพื่อตนเองเป็นหลัก โดยอาจจะไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะครอบคลุมไปถึง ชื่อเสียง สถานะ เกียรติยศ การได้รับการยอมรับ หรือแม้กระทั่งเพื่อความสะใจ เป็นต้น ผู้นำประเภทนี้ก็จะชัดเจนว่าการตัดสินใจที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่นั้นจะมีตนเองเป็นศูนย์กลางมากกว่าที่จะคำนึงถึงองค์กรหรือส่วนรวม

สุดท้ายท่านผู้อ่านลองสังเกตผู้นำรอบๆ ข้างดูนะครับว่า แต่ละท่านก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเพื่อใครและการตัดสินใจนั้นตัดสินใจไปเพื่อใคร