การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนในเอเชีย

การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนในเอเชีย

สองอาทิตย์ก่อน ผมได้รับเชิญจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ให้เป็นวิทยากรพิเศษ พูดเรื่อง “ความท้าทายและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน

ของภูมิภาคเอเชีย ในงานประชุมธนาคารกลางภูมิภาค เรื่อง “การประเมินฐานะต่างประเทศ ความยั่งยืน และนโยบาย” ที่สำนักงานฝึกอบรมภูมิภาคเอเชียของไอเอ็มเอฟ ที่สิงคโปร์ วันนี้ก็เลยอยากจะแชร์ความเห็นผมที่ได้ให้ไปในเรื่องนี้ ให้แฟนคอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิตทราบ

การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและนโยบายการเงินเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก ซึ่งสำหรับภูมิภาคเอเชีย เมื่อ 20 ปีก่อน หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย ปี 1997 ประเทศในเอเชียได้ปฏิรูปการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนครั้งใหญ่ เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่จะดูแลความเสี่ยงที่อาจมีต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากความเป็นโลกาภิวัฒน์ของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ หลายประเทศรวมถึงไทยได้ปฏิรูปการดำเนินนโยบายการเงินและระบบอัตราแลกเปลี่ยน โดยนำการกำหนดนโยบายการเงินที่มีอัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย(inflation targeting)มาใช้ และเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เดิม มาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว(floating regime) ที่อัตราแลกเปลี่ยนจะเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้การดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในเอเชียมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเป็นกลไกสำคัญที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของภูมิภาค ส่งเสริมให้เศรษฐกิจของเอเชียสามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ

มองย้อนกลับไป ตอนนี้ก็มากกว่า 20 ปีแล้ว ที่เราได้เห็นประสบการณ์การบริหารนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนในเอเชียหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ปี 1997 ซึ่งการบริหารนโยบายทั้งสองได้ผ่านความท้าทายต่างๆ มามากมาย ที่ผมได้ให้ความเห็นไปก็คือ พูดถึงความท้าทายเหล่านี้ และสิ่งที่ผมคิดว่า จะเป็นประเด็นสำคัญหรือความท้าทายต่อการดำเนินนโยบายในปัจจุบัน ประสบการณ์ที่ว่านี้ แบ่งได้เป็นสามช่วง

ช่วงแรก คือ ช่วงหลังวิกฤติ ปี 1997 ที่การดำเนินนโยบายการเงินแบบมีอัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย และระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวได้ถูกนำมาใช้ ความท้าทายในช่วงนั้นคือ การทำให้ระบบใหม่ทั้งสองระบบ สามารถทำงานได้จริงจังและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการดำเนินนโนบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศ ซึ่งงานหลักคือการรักษาวินัยของการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้ระบบใหม่ การสร้างความเข้าใจกับสาธารณะชนเกี่ยวกับรูปแบบใหม่ของนโยบายการเงิน และดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวตามภาวะตลาด ในระดับของความผันผวนที่จะไม่เป็นอุปสรรคหรือสร้างข้อจำกัดให้กับเศรษฐกิจ เพื่อให้ระบบใหม่เป็นที่ยอมรับและมีความน่าเชื่อถือ

ในระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ความผันผวนเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ผลต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศ ผลต่อฐานะของดุลบัญขีเดินสะพัด ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ทำให้การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ต้องบริหารจัดการ ที่ต้องพยายามดูแลความผันผวนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่เป็นภาระจนเกินไปต่อภาคธุรกิจ ทำให้บางครั้งต้องมีการแทรกแซง เพื่อให้การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ นี่เป็นความท้าทายสำคัญ โดยเฉพาะในประเทศที่ภาคเอกชนเคยชินกับอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เป็นเวลานาน เช่น กรณีของประเทศไทย

ช่วงที่สอง คือ ช่วงหลังเกิดวิกติเศรษฐกิจการเงินโลกครั้งใหญ่ ปี 2008 ที่นำไปสู่การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากของประเทศอุตสาหกรรม ทั้งสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเหล่านี้ได้ออกนอกรูปแบบปรกติ (unconventional) เช่น การอัดฉีดสภาพคล่องผ่านมาตรการคิวอี และนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ สิ่งเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนในเอเชียอย่างไม่เคยมีมาก่อน อย่างน้อยในสองด้าน หนึ่งความผันผวนในตลาดการเงินโลกเพิ่มสูงขึ้นมาก ทั้งในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดเงิน และตลาดหุ้น สอง เกิดการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและในปริมาณที่มากสู่ประเทศในเอเชียเพื่อหากำไร สร้างความท้าทายต่อการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศในเอเชียเพื่อรักษาการเติบโตและเสถียรภาพของเศรษฐกิจ

ความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่มากขึ้น และเงินทุนไหลเข้าในปริมาณที่มาก เป็นความท้าทายที่ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนในเกือบทุกประเทศในเอเชียต้องปรับตัว เพราะความเสี่ยงที่มากับเงินทุนไหลเข้าที่มีต่อการขยายตัวและต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การดำเนินนโยบายการเงินและการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศในภูมิภาคเอเชียเข้มข้นกว่าเดิมมาก(active) มีการใช้มาตราการแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศ ใช้มาตราการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างประเทศ และใช้มาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ (Macro - prudential) ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายการเงินและการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแพร่หลายในภูมิภาค เกิดขึ้นในหลายประเทศช่วงสิบปีหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก ปี 2008 จนทำให้การใช้มาตรการพิเศษเหล่านี้ ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน กลายเป็นเรื่องปรกติ มีให้เห็นได้ทั่วไปในหลายประเทศ

ในเรื่องนี้ ผมได้ให้ความเห็นต่อที่ประชุมว่า การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมแบบออกนอกกรอบปรกติ(unconventional) ได้ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียออกนอกกรอบปรกติตามไปด้วย คือเป็นการทำนโยบายแบบผสมผสาน คือ ผสมนโยบายการเงินแบบมีอัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย และระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ผสมกับการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนและการใช้มาตรการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างประเทศและการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ เกิดขึ้นตามความจำเป็นที่ต้องดูแลความเสี่ยงที่อาจมีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจจากผลกระทบที่มาจากภายนอก

ช่วงที่สาม คือ สถานการณ์ปัจจุบันที่การดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูงมาก โดยเฉพาะความไม่แน่นอนด้านนโยบายที่มาจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ จากปัญหาความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมืองในหลายพื้นที่ เช่น กรณีBrexit ของอังกฤษ ปัญหาการเมืองในยุโรป ในภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังอ่อนตัวเป็นขาลงโดยเฉพาะในประเทศใหญ่ เช่น จีนและสหรัฐ และภายใต้ภาวะแวดล้อมของนโยบายการเงินสหรัฐที่ต้องการลดการผ่อนคลายของนโยบายการเงินแม้เศรษฐกิจโลกจะเริ่มชะลอ

สิ่งเหล่านี้ คือ ความขัดแย้ง และความไม่แน่นอนที่สร้างความเสี่ยงต่อการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศจากภูมิภาคเอเชีย ทำให้สภาพคล่องทางการเงินในภูมิภาคเอเชียอาจเป็นปัญหา อัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนมากขึ้นและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจจะสูงขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบที่จะมีต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทเอกชน ทำให้ธนาคารกลางในภูมิภาคจะต้องพยายายามรักษาความสมดุลย์ระหว่างการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ภายใต้เป้าหมายเงินเฟ้อ และการลดความเสี่ยงที่อาจมีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ ความท้าทายนี้ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียอาจจำเป็นต้องพึ่งการดำเนินนโยบายแบบออกนอกกรอบปรกติต่อไป คือผสมผสานนโยบายการเงินและการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนกับการใช้มาตรการควบคุมต่างๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ที่จะสร้างความไม่แน่นอนมากขึ้นให้กับภาคธุรกิจและนักลงทุน นี่คือความท้าทายของการดำเนินนโยบายการเงินในภาวะปัจจุบัน