Horizon 2020 โอกาสทองของนักวิจัยไทย

Horizon 2020 โอกาสทองของนักวิจัยไทย

Horizon 2020 เป็นชื่อเรียกของโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่ใหญ่ที่สุดของอียูซึ่งมีเงินทุนสนับสนุนสูงถึง 80,000 ล้านยูโร

ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 2014 ถึง 2020 โดยกองทุนนี้เปิดกว้างให้นักวิจัยทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นบริษัท สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย หรือองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGOs) ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศ

ทีมงาน Thaieurope.net เห็นว่าโครงการ Horizon 2020 มีความสอดคล้องและส่งเสริมนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเน้นการใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนและปฏิรูปเศรษฐกิจไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าจากเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และการ “สานพลังประชารัฐ” ดังนั้น โครงการ Horizon 2020 จึงน่าจะเป็นโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งเชื่อมโลกให้นักวิจัยของไทยมีโอกาสร่วมงานกับนักวิจัยอียูเพื่อต่อยอดและพัฒนาผลงาน/โครงการของตน ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัย ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ ของไทยสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ภายในอียู เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยต่อไป

หัวใจสำคัญของโครงการ Horizon 2020 มี 3 ข้อ คือ 1) เพื่อพัฒนาความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ด้วยการให้เงินทุนแก่นักวิจัย เปิดโอกาสให้นำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ที่ต่างจากเดิม และผลักดันผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ “From lab to market” โดยเน้นการประยุกต์และผสมผสานหลักการทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เข้าด้วยกัน 2) เพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศด้านอุตสาหกรรมและให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ เช่น ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ นาโนเทค ไบโอเทค เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และอวกาศ 3) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายทางสังคมในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน และการขนส่ง โดยเน้นความยั่งยืนและความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ความน่าสนใจของโครงการความร่วมมือกับอียู ด้านงานวิจัยและนวัตกรรมคือ 1) เม็ดเงินในการสนับสนุนการวิจัยจากอียูนั้นสูงถึง 24% ของเม็ดเงินในการสนับสนุนการวิจัยทั่วโลก 2) สัดส่วนของงานวิจัยซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติสูงถึง 32% 3) อียูผลิตสิทธิบัตรถึง 32% ของจำนวนสิทธิบัตรทั่วโลก นอกจากนั้นอียูยังเป็นตลาดการค้าที่ใหญ่ที่สุดตลาดหนึ่งของโลกโดยมีประชากรกว่า 500 ล้านคนและมีประเทศสมาชิก 28 ประเทศ มหาวิทยาลัยในอียูจำนวนกว่า 25 แห่งติด 100 อันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลก บริษัทชั้นนำของอียูที่ให้ความสำคัญเรื่องงานวิจัยและการพัฒนากว่า 25% ติด 2,000 อันดับทั่วโลก

การเข้าร่วมโครงการฯ ยังเป็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาทางสังคมซึ่งส่วนมากเป็นปัญหาใหญ่ที่มีผลกระทบต่อเราทุกคน เช่น โรคติดเชื้อ ความมั่นคงทางพลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยผู้เข้าร่วมโครงการฯ สามารถใช้โอกาสในการขยายปริมาณการผลิตและต่อยอดงานวิจัยอื่นๆ ระดับโลก การเข้าถึงฐานข้อมูลที่กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายและพันธมิตรเพื่อเพิ่มศักยภาพในงานวิจัยของตนเองในระดับนานาชาติ

ในฉบับนี้ ทีมงาน Thaieurope.net ได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ Horizon 2020 โดยเฉพาะกรอบการดำเนินการปัจจุบันที่ใช้สำหรับปี 2018-2020 ซึ่งยังเหลือเงินทุนอีกจำนวน 30,000 ล้านยูโรสำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือหน่วยงานต่างๆ ของไทยก็สามารถสมัครร่วมงานวิจัยและนวัตกรรมดังกล่าวได้หากมีหัวข้อการวิจัยที่สอดคล้องกับนโยบายของอียู

สาขางานวิจัยที่โครงการ Horizon 2020 ให้ความสำคัญสำหรับปี 2018-2020:

  • - Market creating innovation หรือนวัตกรรมการที่จะช่วยสร้างตลาดในระยะแรก European Innovation Council (EIC) จะสนับสนุนผู้ประกอบการในการสร้างแนวคิดใหม่เพื่อเปิดตลาดการค้าให้ใหญ่ขึ้น โดยใช้เครื่องมือที่มีอยู่ เช่น การลงทุนในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อสนับสนุนการวิจัย (SME Instrument), การสนับสนุนเทคโนโลยีในอนาคตและเทคโนโลยีเกิดใหม่ (Future and Emerging Technologies หรือ FET) และนวัตกรรมที่ต้องเร่งวิจัยและพัฒนา (Fast Track to Innovation หรือ FTI) เป็นต้น
  • การแก้ไขปัญหาทางการเมืองและสังคมเช่น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ การรับมือกับภาวะโลกร้อน การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมและการบริการไปสู่ระบบดิจิทัล เป็นต้น
  • การผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศด้านงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างพันธสัญญาที่หนักแน่นเรื่องผลประโยชน์ร่วมกันในระดับนานาชาติ

ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งนอกอียูที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินทุนจากโครงการฯ โดยเฉพาะ

  • โครงการความร่วมมือด้านงานวิจัยและนวัตกรรม(Collaborative research & innovation projects) ซึ่งกำหนดว่าหุ้นส่วนของโครงการต้องมีอย่างน้อย 3 องค์กรจากประเทศที่แตกต่างกันเข้าร่วม
  • โครงการสำหรับบุคคลธรรมดา(Individual researcher projects) สามารถสมัครได้ผ่านสถาบัน European Research Council (ERC) หรือ Marie Skłodowska-Curie action (MCSA) ที่ให้โอกาสนักวิจัยจากประเทศที่สามได้มาทำงานวิจัยในยุโรป โดยต้องประกอบไปด้วย นักวิจัย 1 คน และสถาบันวิจัยเจ้าภาพในประเทศสมาชิก 1 สถาบัน

ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เข้าร่วมงานวิจัยในบางโครงการของ Horizon 2020 ยกตัวอย่างเช่น 1) โครงการ RECONECT  ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ซึ่งยึดกรอบ Nature-Based Solutions (NBS) ในการลดความเสี่ยงเกี่ยวกับอุทกวิทยา/อุตุนิยมวิทยา รวมทั้งวางแผนการใช้ที่ดินอย่างชาญฉลาด (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.reconect.eu/about-reconect/) 2) โครงการ INTERMIN ของคณะกรรมการประสานงานเกี่ยวกับการสำรวจทรัพยากรธรณีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ (Coordinating Committee for Geoscience Programmes in East and South East Asia: CCOP) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างเครือข่าย จัดการฝึกอบรม ให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://interminproject.org/about/)

อย่างไรก็ตาม นับว่าไทยยังมีส่วนร่วมในโครงการ Horizon 2020 ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณเม็ดเงินที่ยังมีเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก โดยวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้นักวิจัยไทยสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสดังกล่าวคือการหาผู้ร่วมวิจัยทั้งในและนอกอียูที่มีความเชี่ยวชาญในการยื่นข้อเสนอโครงการ และ/หรือ เคยมีประสบการณ์การทำงานวิจัยภายใต้โครงการ Horizon 2020 มาแล้ว นอกจากนี้ ยังอาจติดตามข่าวสารจากเว็บไซต์ www.thaieurope.net เกี่ยวกับโครงการอบรมสัมมนาการเขียนข้อเสนอโครงการสำหรับ Horizon 2020 ซึ่งในปีที่ผ่านมา สำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจข้อเสนอโครงการ จัดอบรมให้กับนักวิจัยที่สนใจไปแล้ว 1 ครั้ง และมีแผนที่จะจัดครั้งที่ 2 ในปีนี้

ารเข้าร่วมโครงการความร่วมมือและการถ่ายทอดนวัตกรรมเทคโนโลยีถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่นักวิจัย หน่วยงานหรือผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยจะสามารถเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมของยุโรปเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายทางสังคมที่ทั่วโลกกำลังประสบ นอกจากนี้ อียูเองยังเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนและตลาดการค้าใหม่ที่ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงถึงอีกเช่นกัน การเข้าร่วมโครงการฯ จึงป็นประโยชน์ในหลายด้านสำหรับนักวิจัยและผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวไกลและยั่งยืน

สำหรับผู้ที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการ Horizon 2020 สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ที่ระบุด้านล่าง

Horizon 2020 Participant Portal – Research and Innovation, European Commission

http://ec.europa.eu/research/participants/portal/desktop/en/home.html

Horizon 2020 European Commission

http://ec.europa.eu/programmes/horizon2020/

Incontact (NCP’s network)

http://www.ncp-incontact.eu/nkswiki/index.php?title=Main_Page