สับสนศัพท์นักวิเคราะห์

สับสนศัพท์นักวิเคราะห์

นักลงทุนจะสามารถเข้าใจรายงานบทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน และเข้าใจวัตถุประสงค์ที่นักวิเคราะห์จะสื่อสารไปยังนักลงทุนได้ดียิ่งขึ้น

นักลงทุนหลายท่านมักมีปัญหาเกี่ยวกับศัพท์ที่นักวิเคราะห์ใช้ในรายงานบทวิเคราะห์หุ้นที่มีความหลากหลาย ทั้งๆที่เป็นการวิเคราะห์ด้วยปัจจัยพื้นฐานเหมือนกัน แต่ต่างโบรกเกอร์ ก็ใช้ศัพท์ในรายงานต่างกัน และอาจไม่ได้มีคำจำกัดความบอกเสียด้วยว่า มันหมายถึงอะไร จนบางครั้งนักลงทุนถึงกับต้องเกาศรีษะ

เอาล่ะ วันนี้ผมเลยถือโอกาสนำเอาเรื่องนี้มาคุยกัน แบบเบาๆ สไตล์วันหยุด แน่นอน นักลงทุนสามารถเข้าใจได้ในคำแนะนำ BUY, Sell, Hold อันนี้ความหมายตรงไปตรงมาชัดเจน นั่นหมายถึงนักวิเคราะห์ประเมินว่า ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเวลานี้ยังซื้อได้มั้ย (นักวิเคราะห์ประเมินว่า ราคาหุ้นตัวนี้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หรือ อนาคตไม่สดใส ราคาแพงไป) ปัจจุบัน 80% ของหุ้นที่นักวิเคราะห์ติดตามอย่างใกล้ชิดด้านพื้นฐานมักจะมีคำแนะนำว่า BUY/Trading BUY/Accumulative BUY หลากหลายแตกต่างกันไป

ท่านนักลงทุนเคยสงสัยมั้ยครับว่า นักวิเคราะห์ใช้คำว่า BUY/Trading BUY/Accumulative BUY/Outperform มันมีความแตกต่างกันหรือไม่ หรือ ก็เหมือนกันแหละ

จริงแล้ว การใช้คำเหล่านี้มีความหมายที่แตกต่างกันในมุมมองเรื่องอัตราผลตอบแทนในอนาคต ปกติหุ้นมูลค่าตลาดขนาดใหญ่มากกว่า 2.5 หมื่นล้านบาทขึ้นไป นักวิเคราะห์ประเมินราคาตามปัจจัยพื้นฐานมีแนวคิดคือ หากราคาหุ้นมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า 15% ใน 12 เดือนข้างหน้า คำแนะนำคือ ซื้อ

แต่กรณีหุ้นบางบริษัทราคาปัจจุบันใกล้เคียงกับราคาปัจจัยพื้นฐาน หรือ สูงกว่าราคาพื้นฐาน เพียงแต่มีข่าวดีในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ราคาเกิดการเก็งกำไรวิ่งขึ้นต่อได้ แต่ไม่สามารถยืนราคาได้ในระยะยาว นักวิเคราะห์จะให้คำแนะนำ ซื้อเก็งกำไร (TRADING BUY)

กรณีราคาหุ้นต่ำกว่าราคาปัจจัยพื้นฐานระดับ 15% ขึ้นไป แต่ปัจจัยพื้นฐาน หรือข่าวในปัจจุบันอยู่ด้านลบ หรือไม่มีข่าวดีระยะสั้นสนับสนุน นักวิเคราะห์มักให้คำแนะนำ ซื้อสะสม (ACCUMULATIVE BUY) แสดงว่า ระยะเวลาที่นักลงทุนต้องทำใจซื้อ และถือหุ้นประเภทนี้จะใช้ระยะเวลานานกว่าปกติกว่าจะสะท้อนมูลค่าปัจจัยพื้นฐานที่เหมาะสม (อาจนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป)

ส่วนกรณีนักวิเคราะห์ประเมินว่า ราคาหุ้นสะท้อนปัจจัยพื้นฐานในปัจจุบัน และอนาคตไปมากแหละ (ทั้งในแง่ด้านดี และไม่ดี) ประกอบกับยังไม่มีประเด็นอะไรใหม่ในช่วงนี้ที่จะมากระตุ้นราคาหุ้นได้ ก็จะให้คำแนะนำ ถือ (HOLD) นั่นคือ ราคาหุ้นอาจปรับลดลงมากสะท้อนข่าวกำไรลดลง จนราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี และอัตราเงินปันผลมากจนสามารถชดเชยความเสี่ยงแล้ว

ขณะเดียวกัน คำแนะนำ MARKET OUTPERFORM จะมีความหมายที่กว้างกว่า คำแนะนำ BUY กล่าวคือนักวิเคราะห์ประเมินปัจจัยพื้นฐานของกลุ่มธุรกิจนี้ยังคงเป็นขาขึ้น และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าไม่เพียงแต่เปรียบเทียบกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน แต่ยังมีแนวโน้มหุ้นบริษัทดังกล่าวจะปรับตัวขึ้นสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดหุ้นโดยรวมอีกด้วย

สุดท้ายนี้ ผมหวังว่า นักลงทุนจะสามารถเข้าใจรายงานบทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน และเข้าใจวัตถุประสงค์ที่นักวิเคราะห์จะสื่อสารไปยังนักลงทุนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เราสามารถประเมินได้มากกว่าขึ้นว่า ควรเน้นซื้อหุ้นบริษัทไหน อย่างไร