2 แนวทาง 2 ความคิด “ปรองดอง” หรือ “เกี้ยเซี้ย”

 2 แนวทาง 2 ความคิด  “ปรองดอง” หรือ “เกี้ยเซี้ย”

4-5 ปีที่ผ่านมา “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ได้ออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 ที่อ้างว่า ยึดโยงกับกติกาสากลของประชาธิปไตย

และเพิ่มเติมบทบาททางการเมือง กองทัพ ภาคประชาสังคม

แท้จริงแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ก็คือสรุปบทเรียนมาจากความล้มเหลวของ “ระบอบพิบูลสงคราม” , “ระบอบสฤษดิ์” และระบอบถนอม-ประภาส

รัฐธรรมนูญ 2560 มีความใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญ 2522 ซึ่งเรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย” แต่นักวิชาการสมัยนั้น วิจารณ์ว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”

ฝ่ายความมั่นคงของ คสช. มองว่า ประชาธิปไตยแบบไทยยังไม่มีเสถียรภาพ ดังนั้น การจะพัฒนาประชาธิปไตยให้ทันยุคทันสมัย จึงจำเป็นต้องหยิบยกประชาธิปไตยในรูปแบบเสรีนิยมมาเทียบเคียงกับประชาธิปไตยแบบไทย

ฉะนั้น คสช.จึงออกแบบประชาธิปไตยแบบไทยให้สมบูรณ์ โดยสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 250 คน มาจากการแต่งตั้งของ คสช. แถมโควต้า ผบ.เหล่าทัพ 6 ตำแหน่ง

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของ คสช. ก็คือธงผืนใหญ่ คือคำอธิบายขยายความของประชาธิปไตยแบบไทย ที่จะต้องมีสานต่อโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็ยังมิอาจคาดเดาได้ว่า ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี?

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งชูธง “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” และคัดค้านการสืบทอดอำนาจของฝ่ายเผด็จการ พร้อมเรียกร้องให้กองทัพถอยกลับเข้ากรมกอง

เสียงเรียกร้องให้เลือก พรรคฝ่ายประชาธิปไตยดังสนั่นลั่นประเทศ แนวโน้มความขัดแย้งหลังเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 อาจนำประเทศสู่ภาวะอนาธิปไตย เหมือนปี 2553

ล่าสุด มีสัญญาณจากแดนไกล ผ่านสื่อโซเชียลว่า “ประเทศนี้ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ เพราะไม่มีคนกลางที่เหมาะสมที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ มาแก้ปัญหา เราถึงควรมีนายกฯ ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ถ้าทุกฝ่ายถอยให้คนๆหนึ่ง ขึ้นเป็นนายกฯ นายกฯ คนนี้ สามารถทำให้ทหารกลับเข้ากรมกอง”

ชื่อ “คนนอก” ถูกโยนออกมาในสื่อออนไลน์ ท่ามกลางความดีอกดีใจของกลุ่มบางกลุ่ม ตามมาด้วยประเด็น “รัฐบาลแห่งชาติ” เพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

ในชั่วโมงแห่งการตัดสินใจ การต่อสู้ 2 ความคิด 2 แนวทาง ยังขับเคี่ยวกันอย่างหนัก ไม่ว่าผลจะออกมาในแนวทางใด ประเทศไทย ไม่เหมือนเดิมแน่นอน