ขอบคุณ เจ้าฝุ่นพิษ

 ขอบคุณ เจ้าฝุ่นพิษ

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวประชาเดือดร้อนกันทั่วหน้า

เมื่อ PM 2.5 ที่ไม่เคยเห็นและไม่เคยรู้จักมาก่อน มันปกคลุมทั่วฟ้ากรุงเทพมหานครและอีกหลายจังหวัด

แม้ว่าโดยปกติเราจะมองไม่เห็นฝุ่นเล็กขนาดนี้ แต่ครั้งนี้มันมาเป็นก้อนใหญ่ ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจน และต้องใส่หน้ากากป้องกันสุขภาพกัน จนสับสนอลหม่านไปหมด

อย่างไรก็ตาม ผมยังคิดว่าในบางมุมมอง เราอาจจะต้องขอบคุณเจ้าฝุ่นน้อย ที่ได้ปฎิบัติการสร้างความสั่นสะเทือนในครั้งนี้ เพราะมันเข้ามาตอกย้ำให้เราตระหนักว่า ใครก็ตามที่คิดว่า เมื่อโยนปัญหาให้พ้นจากตัวเองไปแล้ว ทุกอย่างจะจบลงเพียงแค่นั้น จริงๆแล้วมันไม่เป็นเช่นนั้นหรอกนะ

ตัวอย่างเช่น เรารู้เห็นกันมานานแล้วว่า บ้านเมืองเรามีแหล่งกำเนิดฝุ่นหลากหลายแห่ง ที่เห็นได้ง่ายๆก็คือการก่อสร้างตึกสูงกลางเมือง ซึ่งหลายปีก่อนเวลาก่อสร้างตึกสูง ผู้รับเหมาก็มักโอบล้อมตึกไว้ด้วยผ้าสีเขียวบางๆ เพื่อกันฝุ่นจากการก่อสร้าง

แต่บางตึกมันก็เป็นภาพที่น่าอัปลักษณ์ เพราะผ้ากันฝุ่นที่ขาดร่องแร่ง ปิดมิดบ้างไม่มิดบ้าง บางแห่งชายผ้ากันฝุ่นก็ขาดกระรุ่งกระริ่ง ถูกลมพัดลอย ปล่อยให้ฝุ่นฟุ้งกระจายไปทั่วเมือง ยังดีที่ในปัจจุบัน ภาพอุดจาดสายตาเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว การห่อห่มตึกเรียบร้อยพอสมควร และอยู่ในสภาพที่ไม่น่าเกลียดเหมือนเดิม

แต่ก็ไม่เคยมีใครคิดว่าฝุ่นเป็นปัญหาส่วนรวม มันเป็นเพียงปัญหาส่วนตัวเท่านั้น ใครแพ้ก็จามไป เช็ดน้ำมูกไป รักษาตัวเองไป มันเพิ่งกลายเป็นปัญหาส่วนรวมที่ต้องรีบแก้ไขอย่างรีบด่วน ก็เมื่อ 2-3 อาทิตย์นี้เท่านั้นเอง เมื่อคนทั้งกรุงเทพฯ มองไม่เห็นตึกสูงเพราะถูกฝุ่นปกคลุมไปหมด จนรัฐต้องออกมาตรการเร่งด่วน ระดมทรัพยากรเพื่อบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า

ต้องยอมรับว่า การมองปัญหาใหญ่ๆที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต และการป้องกันไว้ล่วงหน้า เป็นเรื่องที่ไทยเราไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าใดนัก คนไทยติดนิสัยว่าถ้ายังไม่วิกฤต ก็ไม่มีใครทำอะไรจริงจังและต่อเนื่อง เอาไว้ถึงเวลานั้นค่อยว่ากัน อะไรประมาณนั้น

เจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่รับผิดชอบ บางคนหย่อนยานต่อหน้าที่โดยนิสัยและโดยผลประโยชน์ และเอกชนจำนวนหนึ่ง ก็มุ่งลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้ได้กำไรเพิ่มขึ้น บ่อยครั้งสองฝ่ายก็สมยอมซึ่งกันและกัน ฝ่ายหนึ่งจ่ายค่าตอบแทนเพื่อให้ผู้รับผิดชอบทำหน้าที่อย่างหย่อนยาน ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ แต่ทิ้งปัญหาระยะยาวไว้ให้ประชาชีต้องเผชิญ มันเป็นเช่นนี้เสมอมา

เรื่องที่เรานึกไม่ถึงว่าจะเป็นไปได้ ก็ยังเกิดขึ้นได้ เช่นอยู่ดีๆก็มีตลาดสดเกิดขึ้นระเกะระกะ และขยายวงกว้าง ขัดขวางเส้นทางสัญจรของประชาชน ในหมู่บ้านย่านศรีนครินทร์ ผมเคยผ่านไปแถวนั้น ก็ยังรู้สึกหดหู่ใจแทนเจ้าของบ้าน สภาพเป็นเช่นนั้นอยู่นานหลายปี โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำอะไรให้สถานการณ์ดีขึ้นเลย อย่างไรก็ตาม ในที่สุด ทุกอย่างก็จบลงได้อย่างเรียบร้อย

ทั้งหมดเกิดขึ้นได้ เพราะคุณป้าเพียงคนเดียว กับขวานเล่มเดียวเท่านั้นเอง

นั่นก็คืออีกตัวอย่างหนึ่ง ที่สะท้อนว่าเรามักจะปล่อยปละละเลย จนปัญหาสะสมอย่างรุนแรงเสียก่อน แล้วการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังจึงจะเกิดขึ้น ก็เหมือนกับปัญหาฝุ่นครั้งนี้นั่นแหละ

ย้อนกลับไป เมื่อปี พ.. 2540 ประเทศไทยล้มละลายทางเศรษฐกิจ เพราะวิกฤตต้มยำกุ้ง คนไทยเจ็บปวดแสนสาหัส ผมได้เขียนบทความลงในนิตยสาร “Far Eastern Economic Review” ในชื่อเรื่องว่า “Thanks for the Crisis พื่อขอบคุณต้มยำกุ้ง ที่ทำให้คนไทยเกือบทั้งประเทศ ล้มลงอย่างรุนแรงที่สุดในชีวิต

ไม่ได้อยากให้เกิดขึ้นหรอกครับ เพราะเจ็บปวดกันทั่วหน้า แต่มันได้ปลุกสติคนไทย ทำให้ต้องหันมาถามตนเองว่าการ “ตกสวรรค์” โดยไม่ทันเตรียมตัวเตรียมใจ จนบาดแผลเหวอะหวะเช่นนั้น มันเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุอันใด

ที่เราควรขอบคุณวิกฤตครั้งนั้น ก็เพราะมันทำให้เรามีโอกาสทบทวนและเรียนรู้ และนำไปสู่การฟื้นฟูระบบข้อมูลทางเศรษฐกิจ การสร้างความเข้มแข็งในระบบการเงิน การบริหารความเสี่ยงขององค์กรต่างๆ ฯลฯ ถือว่าเป็นบทเรียนสูงค่าสำหรับภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ทำให้บัดนี้เรามีภูมิคุ้มกันมากพอสมควร

แม้ควรจะขอบคุณฝุ่นพิษ แต่ที่ผมยังกังวลอยู่บ้างก็คืออาการครั้งนี้ ถ้าเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งแล้ว ความสาหัสสากรรจ์ยังเทียบกันไม่ได้เลย เพราะมันเกิดขึ้นสั้นๆ และไม่ได้กระทบกับ “กระเป๋าสตางค์” ของผู้คนมากนัก และช่วงนี้ปัญหาฝุ่นก็เริ่มลดลงบ้างแล้ว

ดังนั้นหลังจาก PM 2.5 ทยอยจากไป ความสนใจทั้งของรัฐและเอกชน จะยังคงจริงจังต่อไปอีกนานเพียงใด จะร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ ไม่ให้กลับมาอีกในระยะยาว หรือไม่

เนื่องจากบ้านเรามี “วาระแห่งชาติ” มากมาย เช่นอุบัติเหตุบนท้องถนน คุณภาพครู คุณภาพการศึกษา การคอรัปชั่น ความเสื่อมโทรมของป่าและธรรมชาติ ฯลฯ ขณะที่งบประมาณและเวลาของผู้บริหารภาครัฐก็มีอย่างจำกัด ปัญหาบางอย่างจึงมีโอกาสที่จะขาดการเหลียวแล จนลามปามถึงขั้นระอุและระเบิดได้ ในที่สุด

PM 2.5 ก็เช่นกัน พอปัญหาจางหายไป ใครๆก็คงเลิกติดตาม สื่อก็มีข่าวใหม่ที่ร้อนแรงกว่า เช่นเวลานี้ก็จะมีข่าวการเมืองให้สนุกสนานทุกวัน แค่เริ่มต้นกระบวนการเลือกตั้ง ก็มีเรื่องให้ฮาหน้าหนึ่งแล้ว เมื่อผู้สมัครเกือบ 20 คน เปลี่ยนชื่อตัว มาเป็นชื่อเดียวกัน ดังนั้น ฝุ่นระลอกใหม่คงเป็น “ฝุ่นการเมือง" ที่จะเข้ามาแทนฝุ่นเดิม คือ “ฝุ่น PM 2.5" ที่กำลังจะผ่านไป

แต่คุณรู้ไหมว่า PM น่ะ ย่อมาจากอะไร ขออนุญาตบอกกันว่ามันมาจากคำว่า Paticulate Matter” และเจ้า PM คำเดียวกันนี้ ก็เป็นตัวย่อของอีกคำหนึ่งด้วย คือคำว่า Prime Ministerก็เรียกว่าโยงเข้ากับการเมือง ได้เลยทีเดียว

การมาเยือนของ PM 2.5 ครั้งนี้ จึงอาจจะเป็นความท้าทาย และเป็นโอกาสให้คุณลุงนายกของเรา ใช้เวลาช่วงท้ายก่อนวันการเลือกตั้ง พิสูจน์ให้ประชาชนเห็นอย่างจริงจังว่า จะสู้ PM 2.5 ให้สำเร็จเด็ดขาดจริงๆ และไม่ให้ปัญหานี้หวนกลับมาอีก ได้อย่างไร

ถ้าหากสู้ PM 2.5 จนเชื่อว่าได้ผลระยะยาวชัดเจนจริง ก็คงจะมีโอกาสสูงขึ้น ที่จะได้กลับเข้ามาเป็น... PM 4.0 ต่อไป