ความล้มเหลง 4 ข้อในการพลิกโฉมองค์กร

ความล้มเหลง 4 ข้อในการพลิกโฉมองค์กร

ช่วงสอง 3 ปีมานี้ คำว่าการพลิกโฉมไปสู่องค์กรดิจิทัลกลายเป็นคำยอดฮิตในทุกวงการ และเป็นคำที่สร้างความปวดหัวให้กับผู้บริหารกันโดยถ้วนหน้า

เพราะแม้จะรู้ว่ากระแสดิจิทัลกำลังมา พอเอาเข้าจริงก็ยังตอบกันไม่ค่อยได้ว่าต้องทำยังไงถึงจะสามารถพลิกโฉมธุรกิจให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ผลการศึกษาในหลายประเทศพบว่า พบว่าธุรกิจที่พยายามที่พยายามปรับตัว มีโอกาสประสบความสำเร็จเพียงประมาณ 1 ใน 4 เท่านั้นเอง ธุรกิจที่ล้มเหลวในการเรื่องนี้มีลักษณะเหมือนกัน 4 ด้าน

ด้านที่ 1 ล้มเหลวเพราะไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร

ความน่ากลัวของกระแสดิจิตัลที่มาพร้อมกับโลกยุค 4.0 คือ การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นเร็วมาก จนทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าไม่เปลี่ยนตามให้เร็ว ก็จะไม่สามารถแข่งกับคนอื่นเขาได้ ความคิดแบบนี้เองที่ทำให้เราเลือกเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้แบบตามกระแส โดยไม่คิดให้ดีว่ามันเหมาะสมกับธุรกิจของเราหรือไม่

ยกตัวอย่างเช่น ร้านตัดผมขนาดเล็กที่ได้ข่าวว่าธุรกิจร้านตัดผมเริ่มใช้ระบบการจองคิวตัดผมและจองช่างออนไลน์ เลยไปซื้อโปรแกรมนี้มาใช้บ้าง เสียเงินไปหลายหมื่นแต่ไม่ได้ช่วยให้มีลูกค้าเข้าร้านมากขึ้น เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าหน้าเดิมในหมู่บ้าน เขาก็แค่อยากรู้ว่าช่วงไหนคิวยังว่าง มีทรงผมใหม่แบบไหนที่น่าสนใจบ้าง ซึ่งเรื่องแค่นี้ไลน์คุยกันก็พอแล้ว

เรื่องที่ 2 ล้มเหลวเพราะมีแผนแต่ไม่มีวิธีการที่ดีในการทำตามแผน

แม้ว่าจะระบุได้ว่าเทคโนโลยีแบบไหนเหมาะกันธุรกิจขอตนเอง ก็ยังมีธุรกิจไม่น้อยที่ตกม้าตายเพราะมีแต่แผน ขาดวิธีการในการทำตามแผน ไม่รู้จักการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังว่า ต้องเริ่มจากที่ไหนก่อน การปรับตัวในส่วนไหนจะเป็นพื้นฐานในการปรับตัวในด้านอื่น

กรณีของร้านตัดผม ถ้าพนักงานไม่คุ้นเคยกับระบบการจองคิวออนไลน์ พอนำระบบนี้มาใช้ก็จะสร้างความปั่นป่วน ยิ่งถ้าคอมพิวเตอร์ในร้านหรือแทบเล็ตมีคุณภาพต่ำ สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ดีด้วยแล้ว ก็ไม่ต้องหวังเลยว่าจะใช้ประโยชน์จากระบบการจองออนไลน์ได้อย่างเต็มที่

 เรื่องที่ 3 ล้มเหลวเพราะคิดไม่กี่คนแต่จะให้ทุกคนยอมรับ

การปรับตัวนั้น แม้ทำแค่บางส่วน ก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งหมด ทุกคนจึงเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ ดังนั้น ก่อนจะเปลี่ยนแปลงควรพูดคุยกับฟังความคิดเห็นกับพนักงานและลูกค้าก่อน ซึ่งเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว นกตัวแรก คือ จะได้ตรวจสอบดูว่าสิ่งที่คิดไว้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็นและมีการปรับแนวทางตามข้อเสนอของพวกเขา ช่วยให้ทุกคนรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้จึงเกิดขึ้นง่ายกว่าการสั่งการจากข้างบนเพียงอย่างเดียว

 นกตัวที่สอง คือ การพูดคุยรับฟังความคิดเห็นเป็นโอกาสที่ดีในการสื่อสารเพื่อให้พนักงานและลูกค้าทราบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ช่วยให้ทุกคนมีการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงแต่เนิ่น ๆ พอถึงช่วงที่ต้องทำการเปลี่ยนแปลงจริง ก็จะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า

เรื่องที่ 4 ล้มเหลวเพราะคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังม้วนเดียวจบ

เทคโนโลยีดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก การพลิกโฉมสู่องค์กรดิจิทัล จึงไม่ใช่หนังม้วนเดียวจบที่ทำครั้งหนึ่งแล้วก็รอไปอีก 3 ปี 5 ปี ค่อยมาว่ากันใหม่ หัวใจสำคัญของความสำเร็จ คือ “การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ” เพราะสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของลูกค้า กลยุทธ์ของคู่แข่ง การกำกับดูแลของรัฐบาล ล้วนแล้วแต่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขึ้นมาก จนการคาดการณ์ไปข้างหน้าไกล ๆ แทบไม่ช่วยอะไรเลย ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครมีอะไร แต่เป็นใครที่สามารถปรับตัวได้เร็วและเหมาะสมกว่ากัน

การที่ธุรกิจกว่า 3 ใน 4 ล้มเหลวในการปรับตัวไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรทำเรื่องนี้ ตรงกันข้าม หากเราสามารถเป็นเหมือนธุรกิจอีก 1 ใน 4 ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ก็แสดงว่าเราสามารถทิ้งห่างคู่แข่งได้หลายขุม หัวใจสำคัญของความสำเร็จขึ้นอยู่กับการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับตัวเอง มีการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน รู้จักจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังว่าอะไรต้องทำก่อนอะไรต้องทำที่หลัง ไม่ตื่นตูมเต้นตามคนอื่นเขา แต่ก็ไม่ใจเย็นจนเกินไปจนปล่อยให้คนอื่นทิ้งห่าง ทุกก้าวย่างต้องคิดอย่างรอบคอบ เพราะถ้าเดินผิดแค่นิดเดียว อาจเข้าตาจนแบบไม่รู้ตัว