ความเชื่อมโยงและบริบทผู้บริโภค อะไรสำคัญกว่ากัน..!

ความเชื่อมโยงและบริบทผู้บริโภค อะไรสำคัญกว่ากัน..!

ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดงาน CES หรือ International Consumer Electronics Show

ซึ่งเป็นงานด้านเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งของโลก โดยมีอุปกรณ์ gadget และสิ่งประดิษฐ์ล้ำๆ ตบเท้าออกมาโชว์โฉมมากมาย มีทั้งหุ่นยนต์ รถไร้คนขับ ไปจนถึงอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ที่สั่งงานได้ด้วยเสียง (Voice –enabled) หรือ AI (Artificial Intelligence) 

แต่ที่น่าสนใจและอยากหยิบมาพูดคุยในฉบับนี้คือ คำถามที่ว่า เทคโนโลยี ใหม่ๆ ล้ำๆ เหล่านี้ มีผลกับพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างไร และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้และซื้อสินค้าอย่างไรบ้าง โดยจะนำเสนอแนวคิดที่มาจากงาน CES ซึ่งเป็นผลงานของ Wavemaker มาวิเคราะห์ค่ะ

ในเรื่องของเทคโนโลยี บริบทสำคัญกว่าความเชื่อมโยง (Connectivity is key but context is everything) อุปกรณ์ต่างๆทำหน้าที่เชื่อมโยงองค์ประกอบของชีวิตมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน ส่วนใหญ่เราจะตื่นเต้นว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ นี้ทำงานอย่างไรมี ฟังก์ชั่นที่เหนือกว่าของเก่าอย่างไรบ้าง พออัพเกรดแล้วแตกต่างอย่างไร แต่มองลึกลงไปว่าเทคโนโลยีนั้นๆเปลี่ยนแปลงความเป็นมนุษย์ การสื่อสาร และการเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันอย่างไร เนื่องจาก devices และ platform ต่างๆเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งหมดของผู้บริโภคให้เป็น frictionless experience หรือประสบการณ์ที่ดี ที่รวดเร็วราบรื่น และน่าพึงพอใจมากขึ้น

แบรนด์ต่างๆ จึงควรใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างประสบการณ์เช่นนี้ กำจัดความล่าช้า ความไม่สะดวกสบาย หรือ ความเครียด ความกังวล โดยใช้ความเชื่อมโยงของ device/platform เพราะสำหรับผู้บริโภคแล้วเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ความตื่นเต้นเร้าใจแต่การสร้างประสบการณ์ที่ดีต่างหากที่จะเป็นสิ่งที่เขาจดจำ ความเชื่อมโยงของเทคโนโลยีมีความสำคัญในการสร้างประสบการณ์ที่ดี แต่หากแบรนด์ไม่เข้าใจบริบทของผู้บริโภคและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมก็จะไม่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในระยะยาวได้

LG ทำได้ดีในด้านนี้โดยเน้นไปที่การสร้าง connect smart kitchen เป็นระบบครัวอัจฉริยะที่อุปกรณ์ต่างๆ มีระบบที่เชื่อมโยงกัน เพื่อให้เกิดประสบการณ์ของการทำครัวที่ดีขึ้น มีระบบ X Boom AI ThinQWK9 ซึ่งเป็นตู้เย็นที่มีระบบ Stereo speaker และ touch screen ที่เป็นระบบ AI ใช้งานผ่านทาง Google Assistant ทำให้ผู้ใช้หาเมนูใหม่ๆ หรือสูตรอาหารได้สะดวกรวดเร็ว แถม personalized ตามความชอบของแต่ละคนอีกด้วย 

LG ยังออกเครื่องทำเบียร์ LG Home Brew และ Quad wash dishwasher มาเสริมให้ครัวแห่งอนาคตสมบูรณ์มากขึ้น ลูกค้าสามารถดื่มเบียร์ ขณะที่มองหาสูตรทำอาหารบนจอ touchscreen ของตู้เย็น เมื่อเลือกสูตรอาหารได้แล้วก็ส่งต่อ ข้อมูลไปที่เตาอบเพื่อให้เริ่มทำงานในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับจานนั้นๆ หลังจากทำอาหารเสร็จเตาอบมีระบบ easy clean ที่ช่วยกำจัดเศษอาหารที่ติดอยู่ด้านในของเตาอบ หลังจากนั้นระบบจะสั่งการไปที่เครื่องล้างจานเพื่อ set up การชะล้างที่เหมาะสมกับประเภทของเครื่องครัว จานและอุปกรณ์อื่นๆที่ใช้ในอาหารมื้อนั้น 

ระบบ smart kitchen ถูกพัฒนามาจากหัวใจหลักคือ การเข้าใจบริบทของผู้บริโภคที่มองหาครัวแห่งอนาคต เชื่อหรือไม่ว่า การมีอุปกรณ์เครื่องครัวที่ล้าสมัย ไม่มีการเชื่อมโยงกันทำให้ผู้ใช้มีความเครียดมากขึ้นเพราะต้องคอยจำว่าเครื่องนี้ใช้อย่างไร เครื่องนั้นต้องกดตรงไหน แต่หลักการของ smart kitchen คือ ลดความกังวลเหล่านี้และให้อุปกรณ์ต่างๆสื่อสารกันเอง เป็นการสร้างระบบแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบให้ผู้ใช้มีความสุขในครัวมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องออกไปทางอาหารนอกบ้าน

Google เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่สร้างความโดดเด่นในเรื่องของ connectivity โดยมี Assistant connect เป็น platform ที่ทำให้ อุปกรณ์ภายในบ้านแบบ smart home สามารถเชื่อมโยงกับ Google Assistant ได้หมด

โดยสรุป Connectivity เป็นสิ่งที่สำคัญแต่อย่าลืมว่า ต้องนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ทำให้ชีวิตของผู้บริโภคดีขึ้น กล่าวคือ ต้องดูบริบททางสังคมความเป็นอยู่ และความต้องการของผู้บริโภคด้วยค่ะ