มาเลเซียแปรวิกฤติเป็นโอกาสท่ามกลางสงครามการค้า

มาเลเซียแปรวิกฤติเป็นโอกาสท่ามกลางสงครามการค้า

สงครามการค้า (Trade War) ระหว่างมหาอำนาจอย่างสหรัฐและจีน ที่ก่อตัวเมื่อต้นปีที่แล้ว ยังคงสร้างความกังวลไปทั่วโลก ด้วยมาตรการกีดกันทางการค้า

 ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกำแพงภาษี การห้ามนำเข้าสินค้าบางประเภทเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจในประเทศตนขยายตัว หรือการถ่วงดุลการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของอีกฝ่ายหนึ่ง ในฐานะที่ทั้งสหรัฐฯ และจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของภูมิภาค ชาติสมาชิกอาเซียนจึงจำเป็นจะต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือมาเลเซีย

มาเลเซียถือเป็นประเทศที่สร้างโอกาสจากสงครามการค้าได้อย่างน่าสนใจ โดยเสนอตัวเองเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนแทน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบจากสงครามการค้าในครั้งนี้ เมื่อไม่นานมานี้นายลิมกวนเอ็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของมาเลเซีย กล่าวชัดว่า มาเลเซียจะไม่ขอเลือกข้างในสงครามการค้าครั้งนี้ เนื่องจากทั้งจีน และสหรัฐฯ ต่างเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับหนึ่งและอันดับสองของมาเลเซียตามลำดับ การเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อมาเลเซีย

รายงานของ The Economist Intelligence Unit (EIU) ที่เผยแพร่ออกมาในเดือน พ.ย. 2561 ชี้ให้เห็นว่า การที่มาเลเซียได้รับประโยชน์จากสงครามการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอุตสาหกรรมไอซีที และยานยนต์อัจฉริยะ เป็นผลมาจากจุดแข็งด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจในประเทศและบริบทระหว่างประเทศดังนี้

ประการแรก มาเลเซียมีโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งที่เพียบพร้อม ทั้งถนน ทางรถไฟ และท่าเรือ เครือข่ายโลจิสติกส์ที่เข้มแข็งสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะธุรกิจส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ที่มาเลเซียมีความเชี่ยวชาญมาอย่างยาวนาน บริษัทใหญ่ๆ ทางด้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เดลล์ โซนี่ และพานาโซนิค จึงให้ความสนใจมาเลเซียเข้ามาลงทุนและสร้างฐานการผลิตในประเทศอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะและชิ้นส่วนยานยนต์ มาเลเซียยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ และฐานการผลิตสำคัญจากการที่มาเลเซียมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์กว่า 800 แห่งในประเทศ ครอบคลุมทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ขนาดใหญ่และส่วนประกอบอื่นๆ 

มาเลเซียมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในข้อตกลงการค้าทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีต่างๆ มาเลเซียลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีแล้วทั้งสิ้น 13 ฉบับ นอกเหนือจากการเร่งรัดมาตรการด้านการค้าและการลงทุนผ่านกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว มาเลเซียยังให้ความสำคัญกับการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership : CPTPP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) สร้างความเกี่ยวโยงและสัมพันธ์ กับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ซึ่งมีขนาด GDP ถึง 1 ใน 3 ของโลก

นอกจากนั้น ในบริบทความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ มาเลเซียได้รับอานิสงส์จากต้นทุนในการนำเข้าสินค้าของจีน และสหรัฐฯในบางรายการที่สูงขึ้น ทำให้ทั้งสองประเทศต้องเร่งหาฐานการผลิตและแหล่งนำเข้าสินค้าใหม่ๆ เช่น การที่จีนลดการนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ลง 25% จากเดิมที่นำเข้า 60% เพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์และน้ำมันพืช จีนจึงต้องหันมานำเข้าปาล์มน้ำมันจากมาเลเซียเพิ่มขึ้นแทน นอกจากนี้การที่จีนขึ้นกำแพงภาษีผลิตภัณฑ์เนื้อหมูจากสหรัฐฯ ยังเป็นผลดีต่อมาเลเซียในการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังจีนแทนสหรัฐอีกด้วย

EIU วิเคราะห์ว่าเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินเดียจะเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ได้รับความสนใจจากบรรษัทข้ามชาติด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศมี การทำสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนกลับส่งผลดีต่อผลประโยชน์ในระยะสั้นและระยะกลางของมาเลเซีย ในขณะที่มาเลเซียสามารถอาศัยจังหวะของความขัดแย้งทางการค้า ส่งออกสินค้าบางรายการไปยังทั้งสองประเทศนี้ สงครามการค้าอาจยังจะกระตุ้นให้บรรษัทข้ามชาติต้องหาฐานการผลิตใหม่เพื่อเลี่ยงข้อจำกัดทางภาษี และ/หรือ สร้างฐานการผลิตใหม่ในมาเลเซียในอนาคตอันใกล้ เนื่องด้วยความพร้อมด้านโครงสร้างทางการลงทุนและเสถียรภาพทางการเมือง

ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจและผลของสงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจโลกจึงอาจเป็นวิกฤติที่สร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ๆ ให้แก่อาเซียนได้เช่นกัน แต่ประโยชน์ที่แต่ละชาติจะสามารถได้รับ นั้น ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งและความสามารถในการกำหนดและดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละชาติด้วย ในกรณีของมาเลเซีย การพัฒนาศักยภาพและขยายตลาดการค้าการลงทุนอย่างต่อเนื่องในหลายทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมกับการแสดงจุดยืนเลือกวางตัวเป็นกลางไม่เลือกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงหาโอกาสและบรรเทาผลกระทบของสงครามการค้าที่มีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไป

 โดย...

ชัชฎา กำลังแพทย์

ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการจับตาอาเซียน ฝ่าย 1 สกว.