เมื่อ ’เฟด’โดน ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ กดดัน

เมื่อ ’เฟด’โดน ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ กดดัน

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ร่วมรับประทานข้าวเย็นกับเจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด

และ ริชาร์ด คลาริดา รองประธานเฟด ที่ทำเนียบขาว แบบไม่เป็นทางการ และได้ออกคำแถลงการณ์ว่ามีการรับประทานอาหารเย็นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างเฟดกับทำเนียบขาว

ผมมองว่านี่คือสัญญาณที่เริ่มทำท่าไม่ค่อยจะดีสำหรับความเป็นอิสระของเฟด แม้ผมอาจจะมองในแง่ร้ายเกินในประเด็นนี้

อย่างไรก็ดี ผมมองว่า เฟดน่าจะกำลังถูกกดดันแบบทางอ้อมมากกว่าเป็นการเคลียร์ใจกัน (ยังนึกไม่ออกว่าทรัมป์จะเคลียร์ใจกับใครได้) โดยหากสังเกตคำแถลงการณ์ ที่ออกมาจากเฟดหลังการรับประทานอาหารเย็น จะพบว่า การเขียนคำแถลงการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ลักษณะภาษาที่ใช้กันของชาวเฟดที่ได้อ่านกันมาตลอด โดยเหมือนกับเป็นสไตล์ของคำพูดที่ออกมาจากสตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐมากกว่า ที่ผมชี้ให้เห็นง่ายๆ คือเวลาเฟดจะกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของเฟดในการดำเนินนโยบายการเงินนั้น จะใช้ประโยคที่ว่าเพื่อให้ ระดับราคามีเสถียรภาพและให้อัตราการว่างงานที่เหมาะสม ทว่าในครั้งนี้ กลับใช้วลีที่ว่า เพื่อให้การจ้างงานสูงสุดและระดับราคามีเสถียรภาพ

รวมถึงเมื่อพิจารณาบริบทรวมก่อนหน้านี้ ก็บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน ดังนี้

หนึ่ง การปรับกระบวนการ Policy Normalization หรือการลดขนาดงบดุลเฟดเมื่อต้นปีนี้ ทั้งนี้ เฟดย้ำว่าจะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือหลัก โดยการปรับเปลี่ยนเงินสำรอง (Reserve) ถือเป็นกลยุทธ์ที่มีความสำคัญน้อยกว่า อย่างไรก็ดี มีสิ่งที่ถือว่าแปลกคือการพูดถึงการปรับลดความเร็วในการลดขนาดงบดุล โดยบอกว่าจะใช้กลยุทธ์นี้ เมื่อเครื่องมือทางการเงินอย่างการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหมดกระสุนลง ในทางกลับกัน เมื่อสถานภาพทางเศรษฐกิจและทางการเงินมีความเหมาะสม ก็จะใช้กลยุทธ์การลดขนาดงบดุลให้มีความเข้มข้นขึ้น

ผมมองว่า สิ่งที่เป็นแรงจูงใจที่เฟดจำเป็นนำวลีดังกล่าวมาใส่ เนื่องจากเกรงว่าการใช้ Guidance เพียงแต่ว่าเมื่อสถานภาพทางเศรษฐกิจและทางการเงินมีความเหมาะสม ก็จะใช้กลยุทธ์การลดขนาดงบดุลให้มีความเข้มข้นขึ้น เพียงอย่างเดียวนั้น อาจทำให้ตลาดตีความแบบไม่สงสัยเลยว่า เฟดจะเพิ่มอัตราเร็วในการลดขนาดงบดุลในอนาคตอันใกล้ ซึ่งไม่ใช่ว่าเฟดภายใต้นายพาวเวลจะไม่ทำ แต่เกรงว่าหากเฟดตัดสินใจไม่ทำ อาจทำให้ตลาดปั่นป่วนมากกว่า

นอกจากนี้ ผมยังมองว่าภาษาที่ใช้ในการปรับเปลี่ยนอัตราเร็วเพื่อลดขนาดงบดุลของเฟดสำหรับครั้งนี้ มีความผิดปกติ เนื่องจากการลดขนาดงบดุล โดยทั่วไปแล้ว ไม่ควรจะมีคำพูดที่บอกถึงนัยยะของ Dovish หรือ Hawkish สำหรับการเพิ่มและลดขนาดงบดุล โดยที่ผ่านมา เฟดจะมองและใช้ Policy Normalization ในลักษณะที่เหมือนกับเครื่องมือหนึ่งในชุดอาวุธสำหรับนโยบายการเงิน โดยจะฟันธงถึงแผนของขนาดการลดตราสารทางการเงินแบบเป็น Timeline ที่ชัดเจน เสมือนเป็นผลลัพธ์สุดท้าย เหมือนสมัย TALF, QE ชุดต่างๆ หรือ Operation Twists ที่เฟดจะบอกแผนสุดท้ายไปเลย

อย่างไรก็ดี ผมยังมองว่าเฟดยังมีอำนาจต่อรองบ้างในการกำหนด Statement ของกระบวนการ Policy Normalization หรือการลดขนาดงบดุลเฟดเมื่อช่วงต้นปี โดยการที่กล่าวว่า จะใช้กลยุทธ์ลดความเร็วในการลดขนาดงบดุล เมื่อเครื่องมือทางการเงินอย่างการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหมดกระสุนลง ก็เหมือนกับเป็นการแฝงนัยยะที่ว่า หากเป็นขาที่จะขึ้นดอกเบี้ย ก็น่าจะนำทางด้วยการเพิ่มความเร็วในการลดขนาดงบดุลมากกว่า ซึ่งน่าจะตรงใจนายพาวเวลเนื่องจากการที่โดนทรัมป์กดดันมาโดยตลอดในการไม่ให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อ พาวเวลก็จะได้มีช่องทางในการทำให้นโยบายการเงินมีความตึงตัวขึ้น โดยไม่ต้องทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่อย่างใด

สอง วลีที่เพิ่มเติมใน Fed Minutes ล่าสุด ที่เน้นคำว่า ‘Patient’ ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และคำว่า ‘Flexibility’ ในการปรับขนาดงบดุลเฟดนั้น ถือว่าแปลกเช่นกัน เนื่องจาก โดยปกติแล้ว การจะแสดงความเห็นว่าจะชะลอการทำให้นโยบายการเงินผ่อนคลายนั้น ภาษาที่ธนาคารกลางใช้ ไม่ควรจะเป็นคำหลักที่เป็นเชิง Subjective แบบที่สื่อว่า อดทน ซึ่งผมทราบดีว่า นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ค นั้นมีความเชี่ยวชาญด้านการประเมินสัญญาณความคาดหวังของอัตราเงินเฟ้อว่าจะเป็นจุดที่เหมาะสมสำหรับองค์รวม ทั้งในมุมตลาดและเศรษฐกิจ เพื่อให้เฟดสามารถลงมือขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในจุดที่เหมาะสม ทว่าคำที่ใช้สื่อสารถึง mindset ที่เป็นแบบที่นายพาวเวลใช้ในครั้งนี้นั้น น่าจะมีนัยยะที่ลึกกว่าตลาดเข้าใจกันในตอนนี้

ท้ายสุด ผมมองว่าเฟดกำลังเข้าสู่จุดที่ไม่ได้ทำงานได้ง่ายและใช้บริบทที่แท้จริงทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เหมือนยุค ‘เบน เบอร์นันเก้’ และ ‘เจเน็ต เยลเลน’ อีกต่อไป