เรื่องที่ผู้จัดการ (รับจ้าง) “ต้องทำ!” (ถ้าอยากเพิ่มค่าตัว!)

เรื่องที่ผู้จัดการ (รับจ้าง) “ต้องทำ!” (ถ้าอยากเพิ่มค่าตัว!)

ตำแหน่ง “ผู้จัดการ” สำหรับธุรกิจเล็กๆและขนาดกลาง ส่วนหนึ่ง อาจหมายถึงคนที่เป็นเจ้าของกิจการ แต่โดยทั่วไปแล้ว ตำแหน่ง “ผู้จัดการรับจ้าง” 

หมายถึง ผู้จัดการที่เป็นลูกจ้าง ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ

แต่แนวคิดที่จะคุยกับผู้อ่านในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการรับจ้าง หรือจะเป็นผู้จัดการที่เป็นญาติ เป็นเจ้าของกิจการ ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้เช่นเดียวกัน

มาเริ่มที่ตรงนี้กันก่อน...

ถ้าเป็นองค์กรขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ ตำแหน่ง ผู้จัดการ จะมีการระบุ Job Description ไว้อย่างชัดเจน ส่วนธุรกิจขนาดเล็ก ก็จะมีบ้าง ไม่มีบ้าง และส่วนใหญ่ Job Description ก็เขียน (หรือลอกกันมา) คล้ายๆกัน!

แต่ยังไงก็ตาม ถึงแม้แต่ละที่จะระบุ บทบาท/หน้าที่ ของผู้จัดการมาคล้ายๆกัน แต่เชื่อหรือไม่ว่า มีผู้จัดการจำนวนน้อยมากที่จะ “ใส่ใจ” ในเรื่องนี้! เพราะแต่ละท่านในแต่ละที่ ก็จะคิดและลุยงานกันตาม สถานการณ์ ตามความถนัดของแต่ละคน!

ประเด็นแรก... Job Description ที่ระบุไว้ ผู้จัดการแต่ละที่ ใส่ใจที่จะทำตามที่ระบุไว้หรือไม่!?

ประเด็นถัดมา... Job Description ที่ระบุหน้าที่ของผู้จัดการ มันล้าสมัย มันเต็มไปด้วยเรื่องหยุมหยิมที่ควรปรับเปลี่ยนหรือยัง!? นั่นคือเรื่องของ Job Description!

มาต่อกันด้วยเรื่องนี้...

ผู้จัดการ ที่ไม่ค่อยฉลาด และมักทำผลงานในการบริหารออกมาไม่ค่อยดี.. มักจะคิดเอง เออเองว่าต้องคิดต้องทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ และทำแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเกือบทุกวัน!

ส่วนผู้จัดการที่ฉลาด จะพูดคุย ถามความคาดหวัง ผู้บริหารระดับสูงที่เป็นเจ้านายโดยตรง หรือผู้นำองค์กร ถึงสิ่งที่ ผู้นำองค์กร และ ผู้ที่เป็นเจ้านายโดยตรง “คาดหวัง” จากผู้จัดการ!

ประเด็นนี้สำคัญมาก!

เพราะไม่ว่าผู้จัดการอย่างท่าน จะทุ่มเท ทำงานหนักขนาดไหน แต่ถ้าทุกอย่างที่คิดที่ทำ ไม่ตรงกับสิ่งที่เจ้านายโดยตรงและผู้นำองค์กรคาดหวังจากท่าน.. ไม่ใช่เพียงเหนื่อยเปล่า ยังดู เหนื่อยแบบโง่ๆ” อีกด้วย!

(อันนี้เรื่องจริงนะครับ ในอดีตตอนที่ผมยังเป็นลูกจ้างเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน เคยลุยงานทั้งวันและทั้งคืนพร้อมทีมงานที่เป็นลูกน้องทั้งผู้หญิง ผู้ชายอีกยี่สิบกว่าคนกันถึงเช้าโดยไม่นอน แต่วันรุ่งขึ้น ยังโดนเจ้าของบริษัทเรียกไปตำหนิว่า อยู่กันทั้งคืนเปลืองไฟเปล่าๆ! แล้วงานที่ลุยกันทั้งวันทั้งคืน ก็ไม่ใช่งานที่เจ้าของคาดหวัง! สรุป เคยเหนื่อยแบบโง่ๆ มาแล้ว เลยไม่อยากให้ทุกท่านพลาดแบบนี้ครับ)

สิ่งที่เจ้านายสายตรงและผู้นำองค์กร คาดหวังคืออะไร? ท่านต้องชัดเจน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะตรงหรือต่างกับ Job Description แต่นั่งคือสิ่งที่ท่าน “ต้องทำให้ได้!” ในฐานะ ผู้จัดการรับจ้าง!

เรื่องถัดมา..

หลังจาก รู้ความคาดหวังจากเจ้านายสายตรงและผู้นำองค์กรแล้ว เรื่องที่ท่านไม่ควรละเลยอย่างยิ่งก็คือความคาดหวังของลูกน้องในสายงานของท่าน

ลูกน้องบางคนต้องการความก้าวหน้ามาเป็นอันดับแรก ลูกน้องบางคนต้องการมีรายได้มากๆเป็นอันดับแรก ลูกน้องบางคนต้องการความภาคภูมิใจเป็นอันดับแรก ลูกน้องบางคนต้องการความสบายใจเป็นอันดับแรก ลูกน้องบางคนต้องการความผูกพันสายสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานเป็นอันดับแรก ฯลฯ

มันจะเป็นไปได้อย่างไร ที่ท่านไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของลูกน้องแต่ละคน แล้วจะสามารถโน้มน้าวให้ลูกน้องแต่ละคนมุ่งไปสู่เป้าหมายร่วมของทีม/หน่วยงานของท่าน จริงมั๊ยครับ?

(ความท้าทายในบทบาทหน้าที่ของท่าน คือ ต้องผสมผสานความคาดหวังจากเจ้านายของท่าน และลูกน้องของท่านให้ไปด้วยกันให้ได้ ไม่ว่าความคาดหวังทั้งสองส่วนจะแตกต่างกันยังไงก็ตาม!)

เรื่องถัดมา..

ความต้องการของลูกค้าและคู่ค้าของท่าน” ลูกค้าที่ซื้อสินค้า/บริการจากบริษัทของท่าน ไม่ว่าหน่วยงานของท่านจะเป็นหน่วยงานใดในองค์กร ก็จะต้องเกี่ยวพันกับลูกค้าไม่ทางตรงก็ทางอ้อม หน้าที่ของท่านคือต้องบริหารทีมของท่าน ให้ส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุด ตรงหรือเหนือความคาดหวังได้ยิ่งดีให้กับลูกค้าของท่าน

ส่วนคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้าภายนอก ที่หน่วยงานของท่านต้องติดต่อ ประสานงาน หรือคู่ค้าภายใน ที่หมายถึงทุกหน่วยงานที่ต้องเกี่ยวข้อง ประสานกับหน่วยงานของท่าน ท่านในฐานะ ผู้จัดการ(รับจ้าง)มืออาชีพ จะไม่รู้ไม่ได้ จะอ้างว่าหน่วยงานใครหน่วยงานมันไม่ได้ จะอ้างว่า ชอบ“ประสานงา” คือรบกับหน่วยงานอื่นเป็นงานอดิเรก ท่านก็ไปไม่รอดแน่

สรุปแล้ว... ท่านคงจะสรุปได้นะครับว่า เรื่องที่ ผู้จัดการ(รับจ้าง) ต้องทำ เพื่อให้ทีมงาน /หน่วยงาน/องค์กร บรรลุเป้าหมาย มีอะไรบ้าง!?

ถ้าสามารถรู้“ความคาดหวัง” ของแต่ละส่วนที่ท่านต้องเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับบน /ระดับกลาง/ระดับล่าง/

รู้ทั้งภายในและภายนอก และสามารถ ทำให้“เหนือกว่าความคาดหมาย”ได้..

นั่นแหละ ท่านคือ ผู้จัดการ(รับจ้าง)มืออาชีพ ที่ใครๆก็ต้องการตัว และค่าตัวมีแต่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา!

ลองพิจารณา แล้วนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของท่านนะครับ.