โกลาหลทุกครั้งที่มีปัญหา

โกลาหลทุกครั้งที่มีปัญหา

ว่ากันว่าการบริหารที่ยำ่แย่ที่สุด คือ การบริหารที่ตามแก้ปัญหาหลังจากที่เกิดขึ้น ฝรั่งเรียกว่าบริหารแบบตามดับไฟ

คือมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ก็โกลาหลกันแก้ปัญหาเรื่องนั้น ปัญหาเล็ก ปัญหาใหญ่ ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบเดียวกัน คือไม่เกิด ไม่แก้ ถ้าเชื่อตำราการจัดการที่บอกว่าทุกอย่างเกิดขึ้นจากการจัดการ มีน้อยมากที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ โกลาหลในการแก้ปัญหาก็จะทุเลาลงไปได้ เราจัดการสรรพสิ่งได้ เพราะเราสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนั้นได้ คือเรามีวิธีวัดสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง และอย่างน่าเชื่อถือ ถ้าเราไม่มีวิธีการติดตามการเปลี่ยนแปลงในเรื่องใดๆ หรือเราวัดการเปลี่ยนแปลงนั้น แบบตามมีตามเกิด เราก็ต้องเตรียมตัวไว้ให้เก่งพอที่จะรับมือกับโกลาหลที่เกิดขึ้น ทุกครั้งที่มีปัญหา และที่สำคัญคือ เรื่องเล็กเรื่องใหญ่สามารถสร้างโกลาหลขึ้นได้แทบไม่แตกต่างกัน สำหรับผู้บริหารที่ถ้าไม่เห็นปัญหา ก็ไม่ทำอะไร

มีหลายหนทางที่จะหลีกเลี่ยงจากโกลาหลที่มาพร้อมปัญหาได้ ตั้งแต่แก้ปัญหาตามต้นเหตุ แทนการแก้ปัญหาตามอาการที่ปรากฎให้เห็น แก้ปัญหาด้วยกระบวนการที่ใช้หลักวิชาการ แทนการแก้ปัญหาตามความนึกคิด และประสบการณ์ที่ตนมีอยู่ แต่วิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันได้อย่างจริงจัง คือบริหารงานอย่างมีสติรับรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีสติคือรู้ตัวตนว่าคน สิ่งของ และสถานที่รอบตัวเรานั้นเป็นอย่างไร มีอะไรเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้าง คำว่าสถานที่หมายถึงสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ปลอดภัยน้อยลงหรือไม่ ยังดีเท่าเดิมหรือไม่ เดิมเศรษฐกิจดีๆ โจรไม่มาก สถานที่อยู่ปลายซอย ก็ไม่มีปัญหาอะไร พอทำมาหากินลำบาก โจรเยอะขึ้น ก็ต้องดูแล้วว่า วันนี้สถานที่ท้ายซอยเริ่มไม่ปลอดภัย คำว่าอุปกรณ์ รวมตั้งแต่เครื่องมือที่ใช้ทำงาน ไปจนกระทั่งกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เครื่องมือที่ใช้วันนี้พอเพียงกับการงานใหม่ๆ มากน้อยแค่ไหน รู้ได้อย่างไรว่าพอหรือไม่พอ มีกฎกติกาใหม่ ๆใดบ้างที่ทำให้การงานสดวกขึ้น หรือยากเย็นมากขึ้นบ้างหรือไม่

คำค่าคนนั้น รวมไปตั้งแต่ผู้ที่ทำงานร่วมกับเรา ไปจนถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมกับการงานของเรา เป็นคนใหญ่คนโตในบ้านเมือง ก็ต้องรู้ว่าประชาชนเป็นอย่างไรกันบ้าง เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเป็นอย่างไรกันบ้าง รู้ทุกข์รู้ร้อนของคน แต่ต้องมีสติพอที่จะรับรู้ทุกข์ร้อนเหล่านั้นก่อนที่จะถึงระดับที่กลายเป็นปัญหา ดังนั้น ถ้าไม่อยากโกลาหลในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับคน ให้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของความพอใจ และความไม่พอใจที่เกิดขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการงานของเราไว้เสมอ เพียงแต่ระวังไว้ว่าอย่าหลงตนเองมากไปจนกระทั่งไปปิดความจริงเกี่ยวกับความไม่พอใจของผู้คนไปหมด อย่าลืมว่าทุกวงการมีคนสอพรอ นายใหญ่ทำอะไร มีนายนางสอพรอได้ทั้งนั้น 

ผู้บริหารรู้ทั้งรู้ว่ามีการก่อสร้างใหญ่อยู่ติดกับตึกที่ทำงานอยู่ เดินไปตรงไหนในตึกก็เจอฝุ่นก่อสร้าง อุปกรณ์ต่างๆ ก็มีปัญหาจากฝุ่นให้เห็นเป็นระยะๆ พนักงานก็นั่งทำงานกลางฝุ่นกันไป โดยทำไปบ่นไป นายใหญ่ก็คิดว่าเป็นตนเป็นคนที่พนักงานถูกอกถูกใจ อะไรก็ทำงานได้หมด จนวันดีคืนดีมีคนไปวัดจำนวนฝุ่นในตึกแล้วพบว่า ในตึกกับนอกตึกไม่ได้ต่างกัน ก็กุลีกุจอหาเครื่องกรองอากาศ หาหน้ากากมาแจก ซึ่งพอดีตอนนั้นคนทั้งบ้านทั้งเมืองกำลังเจอปัญหาเรื่องฝุ่นเหมือนกัน กว่าจะหาได้ก็ยากเย็นเต็มที นายนางสอพลอก็เขียนไลน์ยกย่องสรรเสริญนายใหญ่กันสารพัด นายใหญ่เลยลืมไปว่าตนเองละเลยไม่ได้ติดตามความไม่พอใจของพนักงานในเรื่องสภาพแวดล้อม ไม่ติดตามการเปลี่ยนแปลงของสถานที่ จนกระทั่งเกิดปัญหาขึ้น การละเลยที่จะติดตามการเปลี่ยนแปลงของคน ของอุปกรณ์ ของสถานที่ หายไปจากความทรงจำของนายใหญ่ มีแต่ความทรงจำเกี่ยวกับการแก้ปัญหาปลายเหตุ แก้ตามอาการที่ตนเองได้รับการสรรเสริญเยินยอจากนายนางสอพลอเท่านั้น โกลาหลก็กลับมาเป็นประจำ เพราะท่านตามแก้ปัญหา ไม่ได้ติดตามป้องกันไมให้เกิดปัญหา

การรับรู้การเปลี่ยนแปลงไม่เพียงพอจะช่วยป้องกันโกลาหลได้ ถ้ารู้แล้วอยู่เฉยๆ รับรู้แล้วก็ต้องคิดวิเคราะห์ต่อไปว่ากำลังเกิดอะไร ทำไมจึงเกิดขึ้น และถ้าปล่อยไว้เช่นนั้น อะไรกำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งผู้บริหารที่จะทำอย่างนี้ได้ต้องเป็นคนที่อดทนรับความจริงเกี่ยวกับตนเองได้เท่านั้น คนหลงตนเองรับรู้แล้วก็เอาแต่ประชดประชัน ด้วยความเกลียดชังคนที่ทำให้ความจริงปรากฎ