เศรษฐกิจจีนชะลอเพราะอะไร? เหมือนญี่ปุ่นกับไทย?

เศรษฐกิจจีนชะลอเพราะอะไร?  เหมือนญี่ปุ่นกับไทย?

เมื่อปี 2 ปีที่ผ่านมา ได้ทำการค้นคว้าหาสาเหตุที่ค่าเงินหยวนลดลงมาก และพบว่าเงินหยวนได้ไหลออกจากประเทศมากพร้อมๆ กับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

เลยมีข้อสมมติฐานในใจว่า การไหลออกของเงินหยวน และ/หรือ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ชะลอตัวลงอาจทำให้เป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงได้ แต่เท่าที่ผ่านมาก็ยังหาข้อมูลที่จะสนับสนุนข้อสมมติฐานดังกล่าวไม่ได้ 

หลังจากนั้น เมื่อทำการค้นคว้าเกี่ยวกับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่การลงทุนภายในประเทศชะลอตัวลงเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับการลงทุนในต่างประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ซึ่งแม้แต่ในเมืองไทยก็เห็นได้ชัดเช่นนั้น เลยทำให้นึกถึงว่าทั้งจีนและญี่ปุ่นอาจประสบปัญหาเดียวกันและนำไปสู่ปรากฎการณ์เดียวกัน ซึ่งก็คือเศรษฐกิจชะลอตัว และ ยังทำให้นึกต่อไปว่า เศรษฐกิจไทยอาจประสบปัญหาเดียวกันได้ ถ้าหากแนวโน้มการลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจไทยยังคงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศกับจีดีพีมีมาประมาณ 20 ปีแล้ว สิ่งค้นพบที่สำคัญและอาจเป็นสามัญสำนึกของนักเศรษฐศาสตร์ก็คือ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศขาเข้าทำให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ ทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นในรอบแรก และ ทำให้ผลผลิตหรือจีดีพีเพิ่มขึ้นในระยะยาว อย่างไรก็ตาม หลังจากนโยบายของรัฐบาลจีนในปี 1999 ที่ส่งเสริมให้ธุรกิจจีนลงทุนในต่างประเทศแล้ว ปรากฎว่าเงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศไหลออกมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งอาจจะนำไปสู่การลงทุนในประเทศลดลงดังกล่าวข้างต้น 

แต่ว่า Ameer, Xu and Alotaish (2017) ในวารสาร Economic Research ได้ระบุว่า เงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศไหลออกควรจะส่งผลกระทบในทางบวกต่อจีดีพี แต่ว่าการศึกษาชิ้นนี้ใช้ข้อมูลระหว่างปี 2003-2013 ซึ่งเหตุการณ์ได้ผ่านไปนานแล้วและสิ่งต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว นอกจากนี้ การศึกษาชิ้นนี้ยังใช้เงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศไหลออกเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้พิจารณาเงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศไหลเข้าเลยซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง เนื่องจากเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้าและไหลออกคือเงินเหมือนกันที่ใช้ทดแทนกันได้ 

บทความนี้ทำการศึกษาโดยใช้เงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้าสุทธิ กล่าวคือ เงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศไหลเข้าลบด้วยส่วนที่ไหลออกของจีนช่วงปี 2008-2017 ข้อมูลเงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศทั้งหมดได้มาจากตารางดุลชำระเงินระหว่างประเทศของ IMF นอกจากนี้ได้แสดงจีดีพีไว้เพื่อคำนวณหาสัดส่วนเงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศสุทธิต่อจีดีพี (%FDI/GDP) และอัตราการขยายตัวของจีดีพี (%GDP Gr) และ แสดงเงินลงทุนในปัจจัยการผลิตที่เป็นสินทรัพย์คงที่ (GFCF หรือ GrossFix Capital Formation) ซึ่งก็เรียกง่ายๆว่าเงินลงทุนตามที่เข้าใจกันทั่วไปนั่นเอง เพื่อคำนวณหาอัตราการขยายตัวของการลงทุน (%GFCF Gr) นอกจากนี้ยังได้แสดงสัดส่วนเงินให้กู้ยืมต่อเงินฝากทั้งหมดของระบบธนาคารพาณิชย์ เพื่อเป็นตัวชี้คือสภาวะของตลาดเงินในประเทศว่ามีความตึงตัวเพียงใด ซึ่ง Ameer et al เห็นว่ามีความสำคัญ ทั้งหมดนี้แสดงในตารางที่ 1

เศรษฐกิจจีนชะลอเพราะอะไร?  เหมือนญี่ปุ่นกับไทย?

เงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศสุทธิของจีนลดลงในช่องวิกฤติการเงินสหรัฐ หลังจากนั้นได้เพิ่มขึ้นมาอีก 5 ปี แล้วลดลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นไป ขนาดของเงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศสุทธิเทียบกับจีดีพีแสดงในคอลัมน์ภายใต้ %FDI/GDP ซึ่งก็สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในรูปของอัตราการขยายตัวของจีดีพี (%GDP Gr) ที่ลดลงตั้งแต่ปี 2014 เช่นเดียวกัน อย่างที่กล่าวไว้แล้ว การลงทุนในระบบเศรษฐกิจเป็นการเพิ่มจีดีพีในปีที่ลงทุนและเป็นการเพิ่มผลผลิตอย่างถาวรหลังจาก นั้น นี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้น ผู้เขียนเชื่อว่านักเศรษฐศาสตร์จีนไม่ตระหนักในเรื่องนี้ หรือ ตระหนักแต่ไม่มีอำนาจ ตราบใดที่แนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ อัตราการขยายของจีดีพีจะไหลลงไปเรื่อย ๆ ดังที่ทราบแล้วจากตัวเลขของปี 2018 แนวโน้มของอัตราส่วนเงินให้กู้ยืมต่อเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ได้แสดงด้วยว่ามีความตึงตัวสูงขึ้นตลอดจนถึงระดับกว่า 70% และเข้าใจว่าน่าจะถึง 75% ในปี 2018 จนทำให้ทางการจีนต้องประกาศยกเลิกเพดานของอัตราส่วนนี้ในปีนี้ ยิ่งถ้าหากรัฐบาลจีนยังคงส่งเสริมให้ธุรกิจจีนทำการลงทุนในต่างประเทศเพื่อตอบสนองนโยบาย one-belt-one-road ด้วยแล้ว เหตุการณ์ก็คงจะเลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ

ในส่วนของญี่ปุ่น เงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศไหลออก (OFDI) และสัดส่วนเงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศไหลออกต่อจีดีพี (%FDI/GDP) มีแนวโน้มสูงขึ้นตลอด ยกเว้นช่วงวิกฤติการเงินสหรัฐอเมริกา 2009-2010 เพียงสองปี ส่วนผลกระทบของ OFDI กับ %FDI/GDP ต่ออัตราการขยายตัวของการลงทุนในประเทศและอัตราการขยายตัวของจีดีพีเองไม่ชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจากว่า สภาวะตลาดเงินในญี่ปุ่นมีความผ่อนคลายมากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่สะท้อนออกมาในสัดส่วนเงินให้กู้ยืมต่อเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทำให้จำนวนเงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศไหลออกไม่ได้ไปดึงสภาพคล่องออกจากตลาดจนส่งผลกระทบต่อการลงทุนและจีดีพีภายในประเทศให้ลดลงในที่สุด

ในส่วนของไทยนั้น สถานะเงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศเริ่มเปลี่ยนจากไหลเข้าสุทธิเป็นไหลออกสุทธิในปี 2011 และสัดส่วนเงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศต่อจีดีพีเปลี่ยนจากไหลเข้าสุทธิ 2.7% ของจีดีพีในปี 2017 เป็นไหลออกสุทธิหรือ -2.6% ในปี 2016 แม้ว่าแนวโน้มของเงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศจะไม่ชัดเจน มีมากขึ้น มีน้อยลง และ มีติดลบ แต่ก็เห็นได้ว่า เงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศไหลเข้าสุทธิในระดับต่ำ ทำให้จีดีพีมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำมากหรือติดลบ ซึ่งก็จะสะท้อนออกมาในรูปของอัตราการขยายตัวของการลงทุนที่ติดลบด้วย ยกเว้นปี 2011, 2016 และ 2017 อัตราการขยายตัวของการลงทุนอาจจะไม่ติดลบ แต่ผลกระทบก็ไปโผล่ที่สัดส่วนเงินให้กู้ยืมต่อเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ถูกกดดันให้มีค่าสูงขึ้นแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงว่าตลาดเงินมีความตึงตัว 

ถ้าจะถามว่า เงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศไหลเข้าของจีนควรจะมีขนาดเท่าไหร่ ก็ต้องดูว่า %FDI/GDP ที่ทำให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีอยู่ในราว 9-10% เช่นในช่วงปี 2008-2011 อยู่ในระดับราว 3% ของจีดีพี ในปี 2017 จีดีพีของจีนอยู่ในราว 81 ล้านล้านหยวน 3% ก็คือ 2.4 ล้านล้านหยวน แต่ว่า FDI สุทธิ ในปี 2017 อยู่ที่ประมาณ 0.4 ล้านล้านหยวนหรือหายไป 2 ล้านล้านหยวน นี่คือจำนวนเงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศไหลเข้าที่ต้องหามาเพิ่ม ถ้าทำไม่ได้ จีนก็ต้องหาเงินภายในประเทศเองมาทำการลงทุนอย่างน้อยอีกเท่าตัวของการลงทุนในปี 2017 หรืออย่างน้อยจะต้องใช้ส่วนผสมของ IFDI กับการลงทุนจากแหล่งเงินภายในประเทศ เพื่อให้อัตราการขยายตัวจีดีพีอยู่ในระดับ 9-10% ดังเดิม แต่จะต้องรวมกันไม่น้อยกว่า 3 ล้านล้านหยวน (IFDI ส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมดเป็น GFCF) ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากตลาดเงินในประเทศตึงตัว ดังที่สะท้อนออกมาในสัดส่วนเงินให้กู้ยืมต่อเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ จีนเองก็พยายามผ่อนปรนให้นักลงทุนต่างประเทศสามารถถือหุ้นได้ 100% ในบริษัทที่ลงทุนในจีนได้ตั้งแต่ปี 2017 แล้ว แต่ผลที่ได้ยังไม่ชัดเจนนัก อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพิ่มโดยภาครัฐบาลในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศที่ด้อยโอกาสก็เป็นทางเลือกทดแทนได้อีกทางหนึ่ง 

กล่าวโดยสรุปแล้ว บทความนี้ชี้ให้เห็นว่า เงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศไหลเข้ามีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ในทางตรงกันข้าม เงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศไหลออกจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลง ทั้งสองกรณีส่งผ่านผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปที่การลงทุนในประเทศที่จะเพิ่มขึ้นในกรณีแรกและลดลงในกรณีหลัง ในกรณีของไทย เงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศไหลออกอาจไม่กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในบางปีได้ด้วยการรองรับของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยเงินให้กู้ยืมมากขึ้นจนทำให้ตลาดเงินตึงตัวมากขึ้น ในกรณีของญี่ปุ่น เงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศไหลออกไม่กระทบต่อการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เนื่องจากระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีสภาพคล่องสูงและเพิ่มขึ้นตลอดที่สะท้อนผ่านสัดส่วนเงินให้กู้ยืมต่อเงินฝาก ในกรณีนี้ เงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศไหลออกไม่ไปแย่งแหล่งเงินทุนจากการลงทุนในประเทศ อย่างไรก็ตาม คำถามที่ควรจะตั้งต่อภาคธุรกิจของญี่ปุ่นคือ การลงทุนที่กระทำในต่างประเทศเป็นไปไม่ได้ภายในประเทศจริงหรือ 

สำหรับประเทศไทย ควรระมัดระวังเงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศไหลเข้าที่ลดลงและไหลออกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็มีโอกาสที่จะทำให้การลงทุนภายในประเทศและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในช่วงปี 2011-2014 เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ใช่ชั่วคราวอีกแล้ว รัฐบาลควรจะดูแลเรื่องนี้ให้ดีก่อนที่จะสายเกินไป