ทำความรู้จักกับหุ้นกู้ Crowdfunding

ทำความรู้จักกับหุ้นกู้ Crowdfunding

การลงทุนในหุ้นกู้ Crowdfunding จะช่วยสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม เมื่อเปรียบเทียบกับการฝากเงินกับธนาคาร

ถือเป็นข่าวดีสำหรับเจ้าของธุรกิจ SME เมื่อล่าสุดสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ออกเอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการระดมทุนรูปแบบใหม่ ซึ่งผมขอเรียกสั้น ๆ ว่า 'หุ้นกู้ Crowdfunding' เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ SME สามารถขอกู้เงินได้จากประชาชนทั่วไปได้ โดยมีลักษณะคล้ายกับหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทขนาดใหญ่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และที่สำคัญคือการออกหุ้นกู้ Crowdfunding ต้องทำผ่าน Funding Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. เท่านั้น

สำหรับ SME แล้ว การขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ SME ที่เพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจ เนื่องจากธนาคารต้องการหลักประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงเมื่อผิดนัดชำระหนี้ และต้องการข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขทางการเงินซึ่งยาวพอที่จะประเมินความเสี่ยงของ SME ได้ นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารคิดกับ SME นั้น โดยมากมักจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง และมีวงเงินสินเชื่อที่ค่อนข้างจำกัด ดังนั้น การระดมทุนด้วยหุ้นกู้ Crowdfunding จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจาก SME หรือบริษัททั่วไปสามารถระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อยได้ถึง 20,000,000 บาทในรอบ 12 เดือนแรก และทั้งหมดไม่เกิน 40,000,000 บาท โดยที่ Funding Portal จะเป็นผู้ทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงและจัดระดับความเสี่ยงของ SME เพื่อเสนออัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของ SME แต่ละราย จากนั้น นักลงทุนจะเป็นผู้เลือกเองว่าจะลงทุนในหุ้นกู้ Crowdfunding ของ SME นั้น ๆ หรือไม่ โดยพิจารณาจากข้อมูลที่ Funding Portal เปิดเผย ร่วมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้สำหรับนักลงทุนแต่ละราย ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่ SME ต้องจ่ายนั้น สามารถสะท้อน Demand & Supply ของตลาดได้ ซึ่งน่าจะช่วยให้การระดมทุนมีประสิทธิภาพสูงขึ้นพอสมควร

ในมุมมองของนักลงทุนแล้ว การลงทุนในหุ้นกู้ Crowdfunding จะช่วยสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม เมื่อเปรียบเทียบกับการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ หรือการลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทขนาดใหญ่ แต่ผลตอบแทนที่ได้เพิ่มขึ้นนั้นต้องแลกมากับความเสี่ยงที่สูงขึ้น เพราะ SME ที่ออกหุ้นกู้ Crowdfunding มีความน่าจะเป็นด้านการผิดนัดชำระหนี้สูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่โดยทั่วไปอย่างแน่นอน ดังนั้น นักลงทุนควรกระจายความเสี่ยงโดยการลงทุนในหุ้นกู้ Crowdfunding ของ SME หลายราย ซึ่งประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน โดยที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กำหนดวงเงินสำหรับนักลงทุนรายย่อยแต่ละราย ให้ลงทุนได้ไม่เกิน 100,000 บาท ต่อ 1 บริษัท และรวมทุกบริษัทไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยนับรวมทั้งการลงทุนในหุ้นกู้ Crowdfunding และ หุ้น Crowdfunding ซึ่งแสดงถึงความเป็นเจ้าของกิจการ

การเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพผ่านกลไกตลาด จะช่วยเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันให้กับ SME และ Start-up ได้เป็นอย่างดีโดยผมมีความเห็นส่วนตัวว่า SME เหมาะกับการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ Crowdfunding และ Start-up เหมาะกับการใช้หุ้น Crowdfunding เนื่องจาก โดยทั่วไปแล้ว SME จะมีกระแสเงินสดจากรายได้ที่สม่ำเสมอกว่า Start-up จึงมีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่ดีกว่า ในขณะที่ Start-up มีความเสี่ยงสูงกว่า แต่ก็มีโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มหลายเท่าตัวให้กับผู้ถือหุ้นหากกิจการประสบความสำเร็จ

หากท่านใดสนใจอยากหาข้อมูลเพิ่มเติม ผมแนะนำให้อ่านเอกสารรับฟังความคิดเห็นต้นฉบับจาก www.sec.or.th/hearing เรื่อง 'หลักการและร่างประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์การเสนอขายหลักทรัพย์แบบ crowdfunding และการซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดรอง' ได้เลยครับ โดยคาดว่าประกาศจริงน่าจะออกมามีผลบังคับใช้ภายในครึ่งแรกของปี 2019 ซึ่งถึงตอนนั้น ผมจะเอามาเล่าให้ทุกท่านทราบอีกครั้งครับ