รถยนต์ไฟฟ้า ความหวังในการลดมลภาวะ

รถยนต์ไฟฟ้า ความหวังในการลดมลภาวะ

ในปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) ถูกพัฒนาในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก เนื่องจากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะ

ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นมลภาวะสู่ชั้นบรรยากาศเหมือนอย่างรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการสันดาบ ลดปริมาณการปล่อยมลพิษ ไอเสีย ช่วยลดภาวะโลกร้อนและไร้มลพิษทางเสียง ทั้งยังมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสูงกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง โดยข้อมูลจากองค์การพลังงานนานาชาติ (International Energy Agency: IEA) ระบุว่ารัฐบาลในหลายประเทศมีการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้มีการประมาณการว่าในปี ค.ศ. 2020 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกประมาณ 20 ล้านคัน

เมื่อพิเคราะห์ถึงนโยบายและกฎหมาย การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศมีการให้ความสำคัญและมีการสนับสนุน โดยการออกกฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อการวิจัยและพัฒนา การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งในระดับนานาชาติ นอร์เวย์เป็นประเทศที่มีสัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก ส่วนสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก สำหรับ 10 อันดับ ประเทศแนวหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ นอร์เวย์ จีน สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ออสเตรีย และเบลเยียม

ตัวอย่างกฎมายที่ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น สหรัฐซึ่งมีกฎหมายและนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจะมีสิทธิลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาเป็นเงินประมาณ 7,500 ดอลลาร์สหรัฐ ในอังกฤษมีการกำหนดพื้นที่เฉพาะ “Low Emission Zone” ซึ่งมีการจำกัดการใช้งานรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ญี่ปุ่นมีโครงการใน Toyota City ให้มีการทดลองใช้รถยนต์ไฟฟ้าหลายชนิดร่วมกันสำหรับการเดินทางและการขนส่งทั้งหมด จีนเน้นการให้ความรู้ประชาชน โดยในช่วงแรกมีการสร้างพื้นที่สาธิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV Demonstraion Zone) ในเมืองเซี่ยงไฮ้ เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้เข้ากับวิถีชีวิตของประชาชน และมีมาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และประเทศอินเดียมีแผนการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าระดับชาติถึงปี ค.ศ. 2020 เป็นต้น

ส่วนในกลุ่มประเทศอาเซียน อินโดนีเซียมีแผนวิจัยพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ โดยตั้งเป้าจำหน่ายในปี ค.ศ.2018 ประมาณ 10,000 คัน ฟิลิปปินส์รัฐบาลสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถโดยสารสาธารณะขนาดเล็กชนิดสามล้อ โดยให้การสนับสนุนทางการเงินและภาษี ส่วนมาเลเซียก็มีการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้หลักการ Green Automotive Lifecycle Concept สำหรับประเทศไทยได้วางมาตรการการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าไว้เป็นส่วนหนึ่งในแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 - 2579 (Energy Efficiency Plan: EEP 2015)โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2579 รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน

ในส่วนมาตรการทางกฎหมาย ประเทศไทยยังไม่ได้บัญญัติมาตรการทางกฎหมายใด ๆ เป็นการเฉพาะเพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า จะมีเพียงแต่การศึกษาวิจัยทดลองนำร่องของภาคเอกชน สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เท่านั้น รวมทั้งกฎระเบียบต่าง ๆ ของไทยที่ยังไม่เอื้อต่อการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้บนท้องถนน อีกทั้งยังขาดการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยและมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ มาตรฐานของระบบประจุไฟฟ้าและสถานีประจุไฟฟ้า และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการหรือกำจัดแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า หลังจากหมดอายุการใช้งาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งจะต่างจากมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายบริษัท ประเทศไทยจึงยังต้องอาศัยการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในต่างประเทศและมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตเข้ามาลงทุนในประเทศ

ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนหรือประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ก็มีนโยบายสนับสนุนที่น้อยมาก โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่านโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้านั้น ในขณะนี้มีเพียงการส่งเสริมการลงทุนในกิจการการผลิตอุปกรณ์สำหรับรถยนต์ไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอร์รี่เท่านั้น

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังขาดโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นที่จะรองรับการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น โรงไฟฟ้าที่จะผลิตไฟให้มากเพียงพอต่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้า สถานีให้บริการชาร์จไฟฟ้า และระบบชาร์จไฟเร่งด่วน ทั้งยังขาดนโยบายภาครัฐและมาตรการทางกฎหมายที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและลดอุปสรรคในการผลิตอันจะทำให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นที่นิยม เช่น นโยบายส่งเสริมการลงทุน การกำหนดมาตรฐาน การลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วน เครื่องยนต์ และแบตเตอรี่

ประกอบกับเรายังขาดการพัฒนาของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงการกำจัดแบตเตอรี่ซึ่งเป็นกากอุตสาหกรรมอันตราย มาตรฐาน Zero Emission Vehicle Standard หรือ Low carbon Fuel Standard มาตรการเงินสนับสนุน มาตราการในการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าอื่น ๆ เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมตรวจสถาพรถยนต์ การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ การยกเว้นค่าจอดรถและที่จอดพิเศษสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า สิทธิพิเศษในการทำประกันภัยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป หากภาครัฐไม่มีนโยบายส่งเสริมและการสนับสนุนที่จริงจัง ไม่มีการแก้ไขมาตรการทางกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ให้ประชาชนมีความมั่นใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ กล้านำรถยนต์ไฟฟ้ามาจำหน่ายและลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ภาพในอนาคตที่มีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งตามท้องถนนในประเทศไทยอย่างแพร่หลายเป็นไปได้ยาก

 โดย... 

สุรินรัตน์ แก้วทอง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์