PM2.5 เรื่องใหญ่ที่มากับอนุภาคขนาดเล็ก

PM2.5 เรื่องใหญ่ที่มากับอนุภาคขนาดเล็ก

หากกล่าวถึงเรื่อง Talk-of-the-town ในตอนนี้ คงไม่เกินเรื่อง PM2.5 (Particulate Matter หรือ ฝุ่นละอองสสาร

ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน) ที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผม 25 เท่าโดยประมาณ และผ่านเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ ส่งผลเสียต่อสุขภาพและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจและระบบที่เกี่ยวข้อง จนอาจทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ หากอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นเป็นเวลานานหรือได้รับสสารนั้นในปริมาณมาก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงวัย เด็กเล็ก และผู้มีโรคประจำตัว

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติออกประกาศฉบับที่ 23 ในปี พ.ศ. 2553 กำหนดมาตรฐานว่าค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ในเวลา 24 ชั่วโมงจะต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และในเวลา 1 ปี จะต้องมีค่าเฉลี่ยไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และถือเป็นค่าที่ใช้วัดมาตรฐานมาจนถึงปัจจุบัน ค่าเฉลี่ยดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) ในกรุงเทพมหานครในช่วงเดือนมกราคมนี้อยู่ที่ 160 (PM2.5 ประมาณ 51-90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร/วัน) ซึ่งเป็นระดับอันตรายต่อสุขภาพ

เรื่องเล็กที่ไม่เล็กนี้เกิดจากการเผาไหม้ทั้งเหตุตามธรรมชาติ เช่น ไฟป่า และเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิง กระบวนการอุตสาหกรรม และยานพาหนะ เป็นต้น หากเป็นช่วงอากาศเย็นและชื้นในช่วงเดือน ธ.ค.-ก.พ. ที่อากาศไม่เปิด จะส่งผลให้มีความเข้มข้นของ PM2.5 มากขึ้น นอกจากนั้นการเพิ่มขึ้นของการก่อสร้าง ทั้งระบบสาธารณูปโภค ระบบรถไฟฟ้า และอาคารต่างๆ ก็ส่งผลให้การจราจรคับคั่งขึ้น มีไอเสีย และฝุ่นควันมากยิ่งขึ้นไปด้วย

ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เครื่องจักรในการก่อสร้างที่สถานที่ก่อสร้าง และใช้รถยนต์ในการขนส่งและเดินทางของพนักงานและทีมงาน จึงควรร่วมป้องกันและดูแลผลกระทบจากการก่อสร้างในส่วนต่างๆ ที่ส่งผลกระทบกับผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ตามแนวทาง CSR In-Process ที่เน้นการเพิ่ม Value และสร้าง Impact เชิงบวก หรือ GREEN Construction เพิ่มเติมและต่อยอดจากแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนี้

มาตรการลดผลกระทบที่ทำได้แบบเร่งด่วน ณ ตอนนี้คือ ติดตั้งอุปกรณ์และตรวจวัดฝุ่นละออง เพื่อควบคุม และเตือนตนเองว่าต้องระวังไม่ให้ค่าเกินมาตรฐาน รดน้ำกันฝุ่นทั้งในสถานที่ก่อสร้าง และควรรดเพิ่มออกไปบริเวณถนนหน้าโครงการ และพื้นที่โดยรอบให้ถี่ขึ้น อาจจะต้องทุกชั่วโมง ส่งเสริมให้ใส่หน้ากากกันฝุ่น ที่มีค่ากันฝุ่น N95 หรือสวมหน้ากากอนามัยประเภททั่วไป 2 ชั้น สำหรับห้องตัดกระเบื้อง ห้องตัดลามิเนต ที่มีพัดลมดูดฝุ่น จะต้องติด filter ในช่องเป่าอากาศก่อน เพื่อไม่ให้ฝุ่นยิ่งฟุ้งกระจาย สำหรับบ้านค้างเคียงพื้นที่โครงการควรติดตามสอบถามด้านสุขภาพเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุและเด็กเล็กด้วย

มาตรการควบคุมการเกิดมลภาวะแบบยั่งยืนนั้น จะต้องดำเนินการรวม 4 เรื่อง คือ (1) ป้องกันมลภาวะจากแหล่งกำเนิด ได้แก่ การเลือกใช้วัสดุที่มีฝุ่นและเป็นพิษน้อย กระบวนการก่อสร้างที่ลดฝุ่นและของเสีย  (2) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ประกอบด้วย เทคโนโลยีที่ใช้เครื่องจักรน้อยหรือจากแหล่งพลังงานทดแทน และผลิตจากแหล่งควบคุมมลภาวะได้ (3) ควบคุมการขนส่ง ด้วยการกำหนดช่วงเวลาและจำนวน รวมถึงวางแผนเพื่อลดการขนส่งมาถึงและออกจากสถานที่ก่อสร้างให้น้อยที่สุด และ (4) ส่งเสริมเชิงมูลค่า ในการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ สมาคม และสถาบันการศึกษาในการให้เครดิตและมูลค่าเชิงเงินตรา หรือมูลค่าเพิ่มเชิงพื้นที่ ภาษี และอื่นๆ เพื่อให้สังคมได้รับรู้และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้ทำดีและเคารพต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการอย่างแท้จริง 

มาตรการที่แนะนำนั้นเป็นมาตรการที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าทำได้จริงและทำได้ไม่ยากหากตั้งใจ มีใจ และจริงใจ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อผู้มีส่วนได้เสีย สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยตรง มาร่วมมือร่วมใจรับเรื่องใหญ่ที่มากับอนุภาคขนาดเล็กด้วยมาตรการ GREEN Construction กันนะครับ!