การปฎิรูปตำรวจ “สร้างบ้านเสร็จ แต่ไม่เดินน้ำไฟ”

การปฎิรูปตำรวจ “สร้างบ้านเสร็จ แต่ไม่เดินน้ำไฟ”

น่าเสียดายมาก ที่คณะปฎิรูปตำรวจโดย พล.อ. บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ และคณะได้ทุ่มเทสรรพกำลังสามารถบูรณาการความแตกต่างระหว่างกรรมการฝ่ายตำรวจ

และพลเรือน หรือฝ่ายที่ไม่ใช่ตำรวจเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียว กระทั่งสามารถเสนอแผนการปฎิรูปตำรวจให้กับรัฐบาลได้สำเร็จ จากนั้นมีการส่งมอบต่อให้กับคณะของท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ุ ดำเนินการต่อในส่วนของกฎหมายที่จะออกมามีผลบังคับใช้เพื่อให้แผนการปฎิรูปตำรวจที่นำเสนอไปนั้น เกิดผลในทางปฎิบัติได้จริง ซึ่งคณะของท่านอาจารย์มีชัย ก็ได้บรรลุเป้าหมายเช่นเดียวกัน คือ ยกร่างกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ตำรวจ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ สำเร็จ แต่เมื่อตรวจสอบกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ทราบว่าในระยะเวลาก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้นในไม่ช้านี้ จะยังไม่มีเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฎิรูปตำรวจเข้าสู่การพิจารณาของสภา

นั่นหมายความว่า งบประมาณแผ่นดินที่ใช้ไปในการนี้หลายสิบล้านบาท เรามาได้ไกลถึงการเสนอแผนการปฎิรูปและได้ยกร่างกฎหมายเสร็จสมบูรณ์เท่านั้น แต่การจะผลักดันขับเคลื่อนในหลายเรื่องที่น่าจะช่วยให้เกิดการปฎิรูปจริง ยังไม่สามารถผลักดันไปได้ เพราะเรื่องเหล่านั้น ต้องมีกฎหมายเป็นเครื่องมือกำกับบทบาทดูแลให้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแบ่งส่วนงานใหม่ขององค์กรตำรวจ ด้วยการตัด ยุบเลิก ย้ายหน่วยงานที่มีภารกิจไม่ตรงกับงานของตำรวจ รวมทั้งอาจเป็นภาระที่ไม่จำเป็นไปให้กับหน่วยงานองค์กรที่เหมาะสม ก็จะไม่มีขึ้นในเร็ววันนี้

การบูรณาการอำนาจการสืบสวนสอบสวนระหว่างตำรวจกับพนักงานอัยการ ก็จะยังคงอยู่ในแผนงาน และร่างกฎหมายที่มีการเตรียมการไว้ การล้วงลูกทางการเมืองที่มีการเสนอให้บุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ในเชิงนโยบายก็จะยังอยู่ในแผนงานร่างกฎหมายเช่นเดียวกัน การเลื่อนไหลของพนักงานสอบสวนที่ได้มีการผลักดันกระทังได้โครงสร้างใหม่ให้พนักงานสอบสวนเลื่อนไหลไปได้ถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) ก็จะยังคงเป็นเรื่องที่พูดคุยกันในวงวิชาการต่อไป

ต้องเรียนว่า เรื่องเหล่านี้ส่วนตัวในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะคณะกรรมการปฎิรูปตำรวจชุดยกร่างแผน และไปมีส่วนในอนุกรรมการเกี่ยวกับการปฎิรูปงานสอบสวนของตำรวจ จะมีคนบอกให้ไม่ต้องสนใจใยดีหรือ ให้ถือคติ “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” เพราะอีกไม่นานรัฐบาลผู้แทนปวงชนก็กำลังจะเข้ามาแล้ว ถ้าเขาเห็นดีเห็นชอบด้วยเขาก็คงเอาไปทำเอง ตอบว่า ทำแบบนั้นก็ไม่มีใครว่า ไม่เปลืองตัว แต่มั่นใจอย่างยิ่งเหมือนที่หลายคนพูดตรงกันว่า ให้ตีเหล็กเมื่อร้อน และหากยุคนี้สมัยนี้ยังทำได้ยาก ก็คงไม่ควรคาดหวังรัฐบาลที่มาจากกลุ่มก้อนพรรคการเมืองที่ต้องคอยระแวดระวังคะแนนนิยมซึ่งมาจากกลุ่มชนที่มีความหลากหลาย

จึงจำเป็นต้องนำเรียนพี่น้องประชาชนให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่า “การปฎิรูปตำรวจนั้นใช่ว่าจะไม่สำเร็จ” แต่ติดขัดอยู่ตรงที่ การแปรรูปแผนโครงการต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมต้นทางนี้ให้เกิดผลได้จริง จะต้องอาศัยการบังคับใช้ทางกฎหมาย ซึ่งทางฝ่ายกฎหมายเขาก็ได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้ว เหลืออยู่แต่ตรงฝ่ายการเมือง เสมือนการ “ก่อร่างสร้างบ้านเป็นรูปเป็นร่างเข้าอยู่อาศัยได้ แต่ยังขาดน้ำไฟ” ซึ่งหากเสียงเรียกร้องของผมนี้จะทำให้ทาง สนช. เกิดตื่นรู้หรือเป็นการเสมือนไปเตือนใจให้ได้ครุ่นคิดกระทั่งนำเอากฎหมายต่างๆ ที่มีการนำเสนอเข้าไปมาพิจารณาก่อนจะพ้นวาระกันไป ก็จะเป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชน

สิ่งที่กล่าวมานี้ เชื่อมั่นว่า หากประชาชนได้รู้ได้รับทราบเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ อีกทั้งบุคลากรทางกระบวนการยุติธรรมอาญาได้รู้ได้เห็นจะยินดีอย่างยิ่ง หากการปฎิรูปตำรวจเกิดขึ้นได้จริงสมเจตนาที่สู้อุตส่าห์ลงมือลงแรงร่วมกันสร้างสรรมาร่วม 2 ปี เพราะข้อกล่าวหา ทั้งความไม่ถูกต้องผิดเพี้ยนในวิธีการ ยุทธวิธี การแก้ปัญหาในกระบวนการสืบสวนสอบสวนผู้กระทำผิดที่มีทั้งการคานอำนาจและเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างอัยการ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ จะทำให้กระบวนการยุติธรรมขั้นกลาง เช่น ศาลสถิตยุติธรรม ตลอดทั้งผู้เสียหายและประชาชนทั่วไป เกิดความสบายใจได้ว่า 

กระบวนการต่อจากนี้ไปจะมีความสุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม การตัดสินอรรถคดีของผู้พิพากษาตุลาการ จะผ่านการกลั่นกรองตรวจสอบอย่างมีธรรมาภิบาล ก่อนจะถึงมือองค์คณะผู้ตัดสิน ปรากฎการณ์ “ยิ่งร้องยิ่งทุกข์” หรือ “การตัดสินด้วยศาลเตี้ยกันเองของผู้ที่มองไม่เห็นที่พึ่งทางกระบวนการยุติธรรม” จะลดน้อยลง ทุกองคาพยพจะเป็นที่พึ่งที่หวังของสังคมได้แท้จริง