สูตรตั้งรับสงครามการค้า

สูตรตั้งรับสงครามการค้า

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา Professor Mark Wu ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศจาก Harvard Law School ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก

ได้ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษในหัวข้อ “U.S.-China Trade War” ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ วันนั้นคนฟังล้นห้อง สาระอัดแน่นตลอดสองชั่วโมงครับ

ท่านบรรยายไล่เรียงให้เห็นรากฐานของความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย นั่นคือ จีนใช้กลไกของรัฐและกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นทางการเข้ากำกับและชี้นำเศรษฐกิจจนได้เปรียบในเวทีการค้าโลก และบรรลุยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว โดยที่กฎเกณฑ์ขององค์การค้าโลก (WTO) ไม่สามารถจัดการกับการใช้กลไกเหล่านี้ของจีนได้ ดังนั้น สหรัฐฯ ภายใต้การนำแบบลูกทุ่งของประธานาธิบดีทรัมป์ จึงต้องออกโรงทำสงครามการค้าเพื่อหวังสกัดกั้นการผงาดขึ้นมาของจีน

ท่านเสนอมุมมองว่า สงครามการค้าครั้งนี้จะกินเวลายาวนาน อาจมีสงบพักรบกันบ้างนิดหน่อย แต่สุดท้ายก็จะกลับมาตบตีใหม่อยู่ดี เพราะปัจจัยความขัดแย้งพื้นฐาน ก็คือ การต่อสู้ในเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสองมหาอำนาจ ต่างฝ่ายต่างคิดว่าอีกฝ่ายน่าจะเจ็บตัวมากกว่า และต่างคิดว่าตนน่าจะทนได้นานกว่าอีกฝ่าย

สำหรับผม ไฮไลท์ของการบรรยายคือ ช่วงถามตอบครับ เพราะมีผู้เข้าร่วมเสวนายกมือถามหลายคำถามเด็ด ผมขอเลือกมาเล่า 3 คำถามนะครับ มีท่านหนึ่งยกมือถามว่า ถ้าตัว Professor Mark Wu ได้เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลจีน จะให้คำแนะนำรัฐบาลจีนอย่างไร อีกท่านถามว่า ถ้าต้องให้คำแนะนำรัฐบาลสหรัฐฯ ตัว Professor จะแนะนำให้ใช้ลูกบ้าลูกชนแบบทรัมป์หรือไม่ และยังมีอีกท่านยิงหมัดเด็ดถามว่าตัว Professor มีคำแนะนำสำหรับไทยอย่างไรในการตั้งรับความผันผวนจากสงครามการค้า

คำถามแรกที่ว่า ถ้าท่านได้เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลจีน จะให้คำแนะนำรัฐบาลจีนอย่างไร ท่านตอบว่า รัฐบาลจีนตอนนี้ดูเหมือนจะมั่นใจมากว่า ถ้าตนอดทนสักหน่อย สุดท้ายโลกก็จะเป็นของจีน แต่ท่านบอกว่า ท่านไม่แน่ใจนัก แน่นอนว่าจีนมีความได้เปรียบเรื่องขนาด เรื่องภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง เรื่องทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ แต่จีนเองก็เผชิญความท้าทายหลายอย่างเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้ ปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งปัญหาขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมระดับสูง

สูตรตั้งรับสงครามการค้า

ถ้าท่านแนะนำรัฐบาลจีนได้ ท่านคงแนะนำว่า รัฐบาลจีนเคยสำเร็จมาเพราะการปฏิรูป เช่น ปฏิรูปกลไกตลาด ส่งเสริมการแข่งขัน ลงทุนในเรื่องระยะยาวเช่นการศึกษา ตอนนี้ถึงเวลาที่รัฐบาลจีนต้องเดินหน้าปฏิรูปอีกครั้ง ตอนนี้นักวิจารณ์หลายคนทั้งในจีนและต่างประเทศมองว่า รัฐบาลจีนปฏิรูปได้ช้าและยังไม่เพียงพอกับความท้าทายที่รุกคืบเข้ามา ในขณะเดียวกัน ท่านเองเห็นว่ายุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของรัฐบาลจีนทำได้มีประสิทธิผลและต้องเดินหน้าต่อไป

ส่วนในด้านการค้าระหว่างประเทศ ท่านมองว่า รัฐบาลจีนต้องรีบหาและสร้างสายสัมพันธ์กับตลาดใหม่ เพราะตลาดเดิมๆ เช่น สหรัฐฯ และยุโรป จะค่อยๆ ปิดตัวลง เพราะตะวันตกเห็นจีนเป็นภัยคุกคาม จีนจึงต้องรีบถีบตัวพัฒนาให้เร็วและใช้ประโยชน์จากตลาดที่ยังเปิดอยู่ในตอนนี้ให้มากที่สุด

ส่วนคำแนะนำรัฐบาลสหรัฐฯ นั้น ท่านเห็นด้วยกับสไตล์การเจรจาที่พร้อมลุกจากโต๊ะ หากจีนไม่ยอมถอยหรืออ่อนข้อในเรื่องสำคัญ แต่ท่านคิดว่าสไตล์ลูกทุ่งแบบทรัมป์ที่โจมตีว่าจีนเป็นศัตรูสุดขั้วไม่น่าจะได้ผล และไม่เหมาะกับวัฒนธรรมตะวันออก เพราะกลับจะยิ่งสุมไฟคนจีนรักชาติ ทำให้หันมาเผชิญหน้ากันมากกว่าจะตกลงอะไรกันได้ ดังนั้น แทนที่จะโจมตีจีนแบบเหมารวม หรือโจมตีรัฐบาลจีน ควรเน้นไปที่บริษัทหรือส่วนที่เป็นปัญหาอย่างเฉพาะเจาะจงมากกว่า เช่น เจาะไปที่บริษัทหัวเว่ย โดยมองว่าเป็นพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมของบริษัทเดียว มากกว่าเหมารวมทั้งชาติจีน หรือย้ำว่ารัฐบาลจีนอยู่เบื้องหลัง

สำหรับคำถามเด็ดสุดท้ายว่า ท่านมีคำแนะนำอะไรให้ไทย ท่านได้ออกตัวก่อนในการตอบว่า ท่านไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจไทยและไม่มีความรู้ที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย แต่ถ้าให้ท่านให้คำแนะนำแก่ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอาเซียนเป็นการทั่วไป ท่านก็จะให้คำแนะนำ 3 ข้อ

ข้อแรก ต้องพยายามทำสัญญาหรือข้อตกลงซื้อขายระยะยาวกับคู่ค้า เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปนี้ก็คือ จะมีสงครามการค้าสลับกับการพักรบเป็นช่วงๆ ในช่วงที่มีสงครามการค้าที่จีนและสหรัฐฯ ต่างตั้งกำแพงภาษีใส่กัน ย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจไทยที่ส่งออกแข่งกับธุรกิจจีนไปสหรัฐฯ หรือต่อธุรกิจไทยที่ส่งออกแข่งกับธุรกิจสหรัฐฯ ไปเมืองจีน แต่สุดท้ายก็อาจจะกลับมาเหมือนเดิมเมื่อสงครามการค้าพักรบ (คือคู่ค้าอาจเลือกกลับไปซื้อจากคู่ค้าจีนหรือสหรัฐฯ)

ดังนั้น ในช่วงที่มีสงครามการค้าและไทยเรากำลังได้เปรียบเพราะไม่โดนกำแพงภาษี ไทยควรพยายามทำสัญญาหรือข้อตกลงซื้อขายระยะยาวกับคู่ค้า โดยพยายามชี้ให้คู่ค้าเห็นว่า ถ้าทำสัญญาระยะยาวกับเรา จะลดความผันผวนได้ ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถช่วยแนะนำได้ว่า ผู้ประกอบการไทยในภาคธุรกิจใด น่าจะได้รับประโยชน์จากสงครามการค้า (เพราะสินค้าคู่แข่งจากจีนและสหรัฐฯ โดนกำแพงภาษี) รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านทรัพยากรทางการเงินและเทคนิคการเจรจาทำสัญญาระยะยาวแก่ผู้ประกอบการ

ข้อสอง ด้วยความผันผวนจากสงครามการค้า จะทำให้มีบริษัทข้ามชาติสนใจมาต่อยอดและขยายฐานการลงทุนในไทยมากขึ้น ท่านตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทข้ามชาติจำนวนมากจะไม่ย้ายออกจากจีน เพราะกลัวจะเสียความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลและผู้บริโภคชาวจีน แต่ในขณะเดียวกันก็จะไม่ขยายฐานการผลิตที่จีนเพิ่มอีก แต่จะมองหาทางเลือกที่จะต่อยอดและขยายฐานในประเทศอื่นที่ตนมีฐานการผลิตอยู่แล้วให้ใหญ่โตขึ้น

ดังนั้น ไทยเราต้องพยายามคว้าโอกาสนี้ ชักชวนให้บริษัทข้ามชาติที่มีฐานอยู่แล้วในไทยให้เข้ามาต่อยอดและขยายฐานการลงทุนเพิ่มเติมอีก โดยชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ต้นทุนการผลิตของไทยอาจสูงกว่าจีน แต่การขยายฐานการลงทุนในไทย จะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของสงครามการค้าในระยะยาว นอกจากนั้น เราต้องพยายามดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติมาขยายการลงทุนในไทย แทนที่จะเลือกประเทศคู่แข่งของเราในภูมิภาค ซึ่งเราต้องตอบให้ได้ว่า เรามีจุดแข็งหรือให้สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าอย่างไร

ข้อสาม เราต้องพยายามวิเคราะห์อุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดใหม่ รวมทั้งภาคบริการใหม่ๆ ในโลกยุคดิจิทัล โดยพยายามวิเคราะห์ว่าเราจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมใหม่ๆ รวมทั้งภาคบริการใหม่ๆ เหล่านี้ได้อย่างไร แล้วจึงพยายามดึงดูดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ตั้งแต่เริ่มต้น โดยชี้ให้เห็นว่าการมาลงทุนที่เราจะให้เสถียรภาพในระยะยาวได้ดีกว่าการลงทุนในจีน 

ท่านตั้งข้อสังเกตว่า ในภาคอุตสาหกรรมเก่าๆ นั้น เราทำได้อย่างมากเพียงชวนให้บริษัทข้ามชาติมาขยายฐานการลงทุนในไทยเพิ่มเติมจากเดิม แต่ฐานการลงทุนหลักของบริษัทข้ามชาติสุดท้ายก็ยังจะเป็นจีนอยู่ดี เพราะจีนมีความได้เปรียบเรื่องขนาดและกำลังการผลิต (เพียงแต่บริษัทข้ามชาติจะไม่เพิ่มการลงทุนในจีนอีก) แต่สำหรับภาคอุตสาหกรรมใหม่ ถ้าเราวางแผนและมองอนาคตได้ดี เราสามารถวางยุทธศาสตร์ให้เราเป็นฐานหลักตั้งแต่เริ่มต้นได้ โดยเฉพาะในยุคสงครามการค้าสหรัฐฯ - จีนที่ร้อนระอุเช่นนี้