ไทยลงทุนด้านสุขภาพต้นทุนต่ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง?(1)

ไทยลงทุนด้านสุขภาพต้นทุนต่ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง?(1)

อ่านข่าว “ไทยลงทุนด้านสุขภาพ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” พร้อมรูปภาพท่านประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(ปธ.สปสช.)

และเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(เลขาฯ สปสช.) ออกมาให้ข่าวว่าครัวเรือนที่ประสบวิกฤติทางการเงินจากการที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้สมาชิกในครอบครัวนั้นลดลงอย่างมากมายมหาศาลในช่วงระยะเวลา 15 ปี หลังรัฐบาลจัดสรรงบประมาณ เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และครัวเรือนที่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อรักษาตนเองหรือคนในครอบครัวที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือโรคค่าใช้จ่ายสูง จนประสบภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว (ล้มละลาย) เหมือนในอดีต ก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ไม่ปรากฎว่ามีอยู่แล้ว โดยอ้างจากงานสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ซึ่งเรื่องนี้ ไม่ต้องไปอ้างสถิติที่ไหน ผลลัพท์ทางการลดความยากจนหรือล้มละลายจากการเจ็บป่วย มันก็ต้องลดลงอยู่แล้ว เพราะไม่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาแม้เพียงบาทเดียว เนื่องจากผู้ป่วยทุกคน ที่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถไปรับการรักษาพยาบาลได้ ทุกโรค โดยไม่ต้องควักเงินเลยแม้แต่บาทเดียว (ถึงแม้จะยังเรียกกันอยู่ว่าระบบ 30 บาท)

ทั้งนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) ได้รับงบประมาณจากภาษี ที่รัฐบาลจัดสรรให้แก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจำปี แล้ว บอร์ด สปสช.จ่ายเงิน ค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ของประชาชนประมาณ 48 ล้านคน ที่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยประธานกรรมการมีหน้าที่กำกับให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) (เป็นหน่วยงานธุรการ)ทำหน้าที่ “จ่ายเงินจากงบประมาณกองทุนฯ(ที่ได้รับมาจากรัฐบาล)” ให้แก่โรงพยาบาล (ที่รักษาผู้ป่วย)แทนประชาชนผู้เจ็บป่วยที่ไปรับการรักษาจากสถานพยาบาล (โรงพยาบาลและหน่วยบริการ)

การที่ประชาชนได้รับการรักษาสุขภาพกันอย่างทั่วถึง ลดอัตราการเจ็บป่วยและลดอัตราการเสียชีวิต เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ นั้น ไม่ใช่บอร์ด สปสช. หรือสปสช. เป็นผู้ให้บริการแก่ประชาชน และก็ไม่ใช่ผลงานด้านการบริการสุขภาพของ บอร์ด สปสช. หรือเลขาธิการ สปสช. 

และเราต้องพูดกันให้ชัดเจนว่า ผลงานการลดอัตราป่วยและอัตราตายนั้น เป็นผลงานของบุคลากรสาธารณสุข และกระทรวงสาธารณสุข ที่สามารถพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพประชาชนไทยมาอย่างยาวนานถึง 100 ปีในปีนี้

บรรพบุรุษของไทยเรา ได้พัฒนาวิธีการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง ครอบครัว หมู่บ้าน ตำบลฯลฯ มาอย่างยาวนาน และพัฒนากันขึ้นเป็นระบบการดูแลรักษาสุขภาพอย่างครบวงจร ตั้งแต่การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจคัดกรองก่อนเกิดโรค การปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยตนเอง การไปพบบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อรับการ ตรวจร่างกายและรับการรักษา ตลอดจน การฟื้นฟูสุขภาพ และการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเป็นคุณสมบัติอันสำคัญ ที่จะทำให้ดำรงชีวิตได้อย่างสุขสบายและทำงานให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจและสังคมในชีวิตประจำวัน

ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของไทย พัฒนาก้าวไกล จนมีระบบผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) มีอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ แต่ได้รับการสอน ฝึกอบรม จนมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพอนามัยเบื้องต้น ซึ่งสามารถช่วยเพื่อนบ้านของตนในการดูแลรักษาสุขอนามัย ความเจ็บป่วยได้เอง และเป็นผู้มีความสำคัญในการทำความเข้าใจระหว่างเพื่อนประชาชนกับบุคลากรทางสาธารณสุข เพื่อช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจและความสามารถในการดูแลสุขภาพของประชาชนในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอได้

บริการทางการแพทย์ที่ดีพร้อม ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ เริ่มจากสถานีอนามัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) รพ.ชุมชน มีการบริการทางการแพทย์ทุติยภูมิ ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในรพ. ทั้งในระดับชุมชน จังหวัด และเรายังมีการบริการทางการแพทย์ตติยภูมิ ซึ่งรับรักษาผู้ป่วยได้ถึงระดับที่ป่วยจากอาการหนัก จากโรคที่มีความยุ่งยากซับซ้อนในการรักษา ได้แก่ รพ.เขต ที่เรียกว่า โรงพยาบาลศูนย์ (ซึ่งน่าจะเรียกชื่อให้เต็มว่า โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ -Hospital and Medical Center) และกระทรวงสาธารณสุข ยังได้รับความร่วมมือจาก รพ.ระดับตติยภูมิขั้นสูง คือ รพ.ของมหาวิทยาลัยที่ให้การสอน ฝึกอบรมเยาวชนให้มีวิชาชีพทางการแพทย์ สาธารณสุข

บุคลากรระดับต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เอง คือผู้ที่ทำงานในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน ให้มีอัตราป่วยและอัตราตายลดลง ไม่ใช่ผลงานของ บอร์ด สปสช.หรือสปสช.

(โปรดติดตาม ตอนจบ)

โดย... 

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง