ฉวยโอกาส

ฉวยโอกาส

ความเคลื่อนไหวของ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)” ในสัปดาห์นี้ ยังคงนัดประชุม 2วันส่งท้ายสัปดาห์เหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติม คือ

การเร่งรัดพิจารณาร่างกฎหมายที่คั่งค้าง

 กับ “สิ่งที่เร่งรัด” นั้น การประชุม สนช. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเป็นข้อคำถามว่า “สนช.” ทั้ง 240 คนนั้นทำหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่ สะท้อนจากการลงลายมือชื่อเข้าร่วมประชุม จำนวน 204 จากสมาชิกที่มีทั้งหมด ขณะที่ผลการนับองค์ประชุม ที่ต้องใช้เกณฑ์เกินครึ่ง กับ การลงมติวาระสอง หรือ วาระสาม พบว่า “เสียง” นั้นเฉียดฉิว และ บางกรณี องค์ประชุมเกือบล่ม เพราะ จำนวนสมาชิกที่อยู่ห้องประชุมมีไม่เต็ม จนประธานในที่ประชุม ต้องเอ่ยปากร้องขออยู่หลายครั้ง กับการให้ “อยู่ทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย”

 สิ่งที่เป็น คำถาม ต่อการทำหน้าที่ของ “สนช.” คำตอบในเชิงประจักษ์ คือ “ปัญหาทางกฎหมาย” ฉบับที่ สนช. ไม่มีเวลาแม้จะฟังการอภิปราย หรือ ดูรายละเอียด

 และ ร่างกฎหมายช่วงโค้งสุดท้าย ที่ “สนช.” ต่างพร้อมใจกันโดดการประชุม จะกลายเป็นภาระให้ประชาชนและเป็นโทษให้กับการปฏิบัติหน้าที่ของ “ราชการ-เอกชน” หรือเป็น “การฉวยโอกาส” ใช้กฎหมายเป็นใบเบิกทางสู่ผลประโยชน์ของบางฝ่าย

 หรือแม้แต่ ร่างกฎหมายที่เกิดมาโดยความตั้งใจ และปรารถนาดี อย่าง “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ” ว่าด้วยการ “คลายล็อคกัญชา” ให้ใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์-รักษาโรค โดยล่าสุดกระบวนการตรากฎหมาย ผ่าน วาระสาม ของ “สนช.” ไปแล้ว และอยู่ระหว่างรอขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์

 แต่เมื่อดูรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือจาก “เนื้อหาของกฎหมาย” คือ การโต้เถียง ระหว่าง “สิทธิบัตร” วิจัย-ใช้ “กัญชา” ให้เป็นยารักษาโรค ที่มีกระบวนการจากองค์กรต่างชาติ พยายามขอ “สิทธิบัตร” ในประเทศไทย และหาก “หน่วยงานราชการอนุมัติ” ไปพร้อมกับร่าง พ.ร.บ.คลายล็อคกัญชา มีผลใช้บังคับ ไม่แน่ว่า นักวิจัยไทยอาจจะหมดสิทธิ วิจัยกัญชาให้เป็นยารักษาโรคเพื่อคนป่วย

 อย่างไรก็ดี ในประเด็นนี้ วงสังคมนักวิชาการ และ สังคม “นิติบัญญัติ” กำลังโต้เถียงกันว่า สิ่งที่ “สนช.” พยายามทำโดยย้ำว่า “ปรารถนาดี” สุดท้าย คือ “ปรารถดีต่อใครกันแน่” ระหว่าง “คนไทย” หรือ “ทุนต่างชาติ”

 กับอีกประเด็น คือ การสรรหา “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)” ในกระบวนการที่เหลือ ต้อง คัดสรรจำนวน 5 ใน 7 คน หลังจากที่ก่อนหน้านั้น “สนช.” ลงมติไม่เห็นชอบบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้รับตำแหน่ง

 หลังจากที่ “พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.” ฐานะกรรมการสรรหากสม. ระบุว่า เตรียมส่งไม้ต่อให้ “สภาของนักการเมือง” เป็นผู้ลงมติเห็นชอบเลือก “กสม.” เพราะด้วยเงื่อนไขด้านเวลา ทำให้ “สนช.” อาจต้องหมดวาระไปก่อน

 ล่าสุด มี “บุคคล” ยื่นใบสมัครและเสนอชื่อให้รับคัดเลือกแล้ว ทั้งสิ้น 7 คน (ข้อมูลวันที่ 27มกราคม) ได้แก่ 1.ไพศาล สุวรรณรักษา อดีต ผบ.เรือนจำกลางบางขวาง,2.โสพล จริงจิตร เลขาธิการ กสม. ถูกเสนอชื่อเครือข่ายคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย จ.พัทลุง, 3. บุญเลิศ คชายุทธเดช สื่อมวลชนอิสระ,4.สมนึก ตุ้มสุภาพ ทนายความอิสระ, 5. สมศักดิ์ ศิริสุนทร นักกฎหมายอิสระ, 6.ศราวุฒิ ประทุมราช เจ้าหน้าที่สอบสวน ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ 7. ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สำหรับการสมัคร กสม. นั้นจะมีไปถึงวันที่ 31 ม.ค. นี้.

โดย... เทพจร