มองจีน มองเรา

มองจีน มองเรา

ถ้าพูดถึงความยิ่งใหญ่ด้านพลเมือง ปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีน มีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก

ตามมาด้วยสาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งสองประเทศมีประชากรรวมกันถึง 36.35% ของประชากรโลก  การทำความเข้าใจเรื่องแนวทาง ความคิด และปรัชญาของรัฐ และของประชาชนในสองประเทศนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่นักธุรกิจและนักลงทุนไม่สามารถมองข้ามไปได้

ปัจจุบันประเทศจีนมีประชากรมากที่สุดในโลกที่ 1,417.89 ล้านคน (ข้อมูลจาก Worldmeters.info ณ วันที่ 23 มกราคม 2562) ตามประมาณการขององค์การสหประชาชาติ (UN) จีนมีประชากรคิดเป็น 18.41% ของประชากรโลก และมีอายุมัธยฐาน (จำนวนประชากรที่มีอายุอยู่ในช่วงนี้มากที่สุด) อยู่ที่ 37.3 ปี

ในอีก 8-9 ปีข้างหน้า ประชากรของจีน จะมีจำนวนที่คาดกันว่าสูงที่สุดที่ 1,440 ล้านคน จาก เดิมเมื่อ 10 ปีก่อนที่คาดการณ์กันว่าจะขึ้นสู่ระดับสูงสุดในปี 2588 หรืออีก 26 ปีข้างหน้าที่จำนวน 1,600 ล้านคน

อัตราการเกิดในจีน ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ลดลงปีละ 1-2 ล้านคน มาจากหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องของการที่มีประชากรเพศหญิงน้อยกว่าเพศชาย เรื่องของการที่ผู้หญิงมีการศึกษาสูงขึ้น ไม่อยากเป็นแม่บ้าน รับภาระเลี้ยงลูก และที่ฮือฮากันมาเมื่อเร็วๆนี้คือ ผู้หญิงไม่อยากทนความเจ็บปวดระหว่างการคลอดธรรมชาติ แม้จะมีการยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว  และสนับสนุนให้มีลูกสองคนเมื่อปี 2559 แต่ก็ทำให้การเกิดของประชากรในปีนั้นเพิ่มขึ้นมาจากช่วงก่อนหน้าอีก 1.31 ล้านคน แต่พอถึงปี 2560 การเพิ่มของประชากรก็น้อยลงไปจากช่วงปกติ ถึง 0.63 ล้านคน

มาดูอินเดียกันบ้าง Worldmeters.info มีการคาดคะเนว่าอินเดียจะมีจำนวนประชากร ขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง แซงหน้าจีน ในปี 2568 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า  ตอนนี้อินเดียมีประชากร 1,362.3 ล้านคน คิดเป็น 17.74% ของประชากรโลก ตามมาเป็นอันดับที่สองรองจากจีน แต่ประชากรอินเดียมีอายุมัธยฐานน้อยกว่าจีนถึง 10 ปี คืออยู่ที่ 27 ปี และจำนวนประชากรเติบโตปีละ 1.08% คาดว่าในปี 2025 ประชากรอินเดียจะมีจำนวน 1,451.8 ล้านคน

คนจีนอยู่ในเมืองมากกว่าชนบท โดยมีสัดส่วนของประชากร 60.4% ในขณะที่อินเดียมีสัดส่วนของประชากรที่อยู่ในเมืองเพียง 33.6% ค่ะ
ฝากข้อมูลเอาไว้ก่อน เพื่อให้ท่านเตรียมคิดว่า จะทำธุรกิจหรือลงทุนอะไรกับประเทศทั้งสองในอนาคต
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับจีน ดิฉันอยากแนะนำหนังสือชื่อ "CHINA 5.0 : เศรษฐกิจยุคใหม่และแผนการใหญ่ AI" ของ ดร. อาร์ม ตั้งนิรันดรค่ะ หนังสือหนา 200 หน้าเล่มนี้ ปูพื้นให้เราเข้าใจจีนในยุคนี้  โดยสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทั้งในด้านบวกและลบ ภายใต้ประธานาธิบดีสีเจิ้นผิง และสะท้อนภาพความท้าทายของจีนยุคไฮเทคในอนาคต
ส่วนแรกจะปูภาพการเมืองจีน ให้เราเห็นภาพกว้างๆ จากหลังยุคของประธานาธิบดีเหมาเจอตุง ผ่านยุคเปิดประเทศของประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งดิฉันประหลาดใจมากว่า สมัยนั้นมีแต่ทิศทางใหญ่ๆ และเขาค่อยๆทำไปปรับไป เหมือนกับแนวทางที่ที่ปรึกษาธุรกิจสมัยนี้บอกให้องค์กรทั่วไปทำ คือไม่ต้องรอ ทำไปแก้ไป เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น จ่อสำคัญคือเราต้องมีความยืดหยุ่นพอ ไวพอที่จะปรับตัว ปรับเปลี่ยน
มีการกล่าวถึงผลของการสำรวจทัศนคติด้านสังคมของคนจีนยุคใหม่ ที่ทำโดยกลุ่มนักศึกษานิรนามจองมหาวิทยาลัยปักกิ่ง พบว่า"ทัศนคติในจีนแผ่นดินใหญ่ปัจจุบัน ฝ่ายซ้ายนิยมพรรคคอมมิวนิสต์และขงจื๊อไปพร้อมๆกัน" โดยมีผู้เชียวชาญอธิบายว่า "อาจเป็นเพราะสิ่งที่หลอมขั้วฝ่ายซ้ายของจีนจริงๆ คือความคิดต่อต้านตะวันตก"
นอกจากจะทราบทัศนคติแล้ว ในส่วนที่สอง เป็นเรื่องแนวคิดของการปฏิรูปจีน การถอดรหัสความคิดของประธานาธิบดีสีเจิ้นผิงสำหรับจีนยุคใหม่ และยุทธศาสตร์ต่างๆที่จีนกำลังดำเนินการ รวมถึงยุทธศาสตร์ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ด้วย
ส่วนสุดท้ายเป็นแผนการเกี่ยวกับเทคโนโลยีของจีน และอนาคตจีน พูดถึง ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เศรษฐกิจ QR Code เศรษฐกิจการแชร์ เรื่องการค้าปลีกยุคใหม่ กลยุทธรากหญ้า และท้ายสุดเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบว่า ใครจะครองอนาคตระหว่าง จีนกับสหรัฐ 
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นความเห็นของดร. อาร์ม ท่านเดียว แต่เป็นงานที่รวบรวมความเห็นและการวิเคราะห์รวมถึงการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญจีนท่านอื่นๆด้วย ถือว่ารวบรวมไว้ให้หาอ่านได้ง่ายๆค่ะ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บุ้คสเคป ราคาเล่มละ 215 บาท
อ่านเพื่อปูพื้นฐาน เพื่อให้สามารถเห็นทิศทาง การต่อสู้ของสองมหาอำนาจในอนาคตอันใกล้ค่ะ