เร่งปรับตัว เร่งสร้างอนาคตอาเซียน

เร่งปรับตัว เร่งสร้างอนาคตอาเซียน

ปีนี้เป็นที่ 52 ของอาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปีที่ประเทศไทยจะรับหน้าที่ประธานกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศอีกครั้ง

เป็นโอกาสดีและสำคัญที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนจะสามารถผลักดันเรื่องต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจภูมิภาค ดังนั้น เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศการเป็นประธานอาเซียนของไทย ปีนี้เลยตั้งใจจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับอาเซียนมากหน่อย

52 ปี ถ้าจะเทียบกับชีวิตคน ต้องถือว่ากำลังเข้าสู่วัยคนรุ่นใหญ่ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอควร ของอาเซียนก็เช่นกัน ผ่านทั้งยุคสงครามเวียดนาม สงครามเย็น วิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย วิกฤติเศรษฐกิจโลก ที่กระทบภูมิภาคอาเซียนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แต่อาเซียนก็สามารถก้าวข้ามความท้าทายและผลกระทบเหล่านี้ได้ด้วยดี โดยการดำเนินนโยบายที่เน็นความเป็นกลางด้านการเมือง การเปิดเสรีของระบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานการทำงานของกลไกตลาด และการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย ปี 1997 ที่ทำให้เศรษฐกิจอาเซียนสามารถฟื้นตัวและมีความเข้มแข็งทัดทานผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ในปี 2008 – 2009 ได้อย่างน่าพอใจ

ปัจจุบัน ภูมิภาคอาเซียนเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่เติบโตเร็ว มีพลวัตสูง และกลไกสำคัญอันหนึ่งที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียน ก็คือ การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่รวมอาเซียนสิบประเทศ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนและภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวหลังวิกฤติ ปี 2008 การค้าขายและการลงทุนระหว่างประเทศในเอเชียปัจจุบันเป็นความเข้มแข็งสำคัญของภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคเอเชีย เป็นความเข้มแข็งที่ต้องรักษาไว้ ต้องขยายผล และต้องนำมาต่อยอดเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของอาเซียนและเศรษฐกิจเอเชียในอนาคต

อาทิตย์ที่แล้ว ผมไปร่วมงานเกี่ยวกับอาเซียนสองงานติดกัน งานแรก วันจันทร์ที่ 21 ม.ค. คือ งานรับมอบหน้าที่การเป็นประธานสภาคณะที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน หรือ ASEAN Business Advisory Council ของภาคธุรกิจไทย เป็นการรับมอบภาระหน้าที่การเป็นประธานสภาคณะที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนจากประธานที่กำลังหมดวาระหน้าที่จากประเทศสิงคโปร์ให้กับไทย ตามที่ประเทศไทยจะเข้ามารับหน้าที่เป็นประธานกลุ่มอาเซียนต่อจากประเทศสิงคโปร์ ผู้รับมอบงานของฝ่ายไทยที่จะเข้าทำหน้าที่ประธานสภาคณะที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนคือ คุณอรินทร์ จิรา โดยมี ดร.วีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน

งานที่สอง วันอังคารที่ 22 ม.ค.เป็นงานสัมมนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน +3 คือ อาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจมหภาคของกลุ่มประเทศอาเซียน + 3(AMRO) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) โดยผมได้รับเชิญเป็นวิทยากรให้ความเห็นในประเด็น การสร้างสมรรถนะ(Capacity) และการเชื่อมต่อ(Connectivity) สำหรับเศรษฐกิจยุคใหม่ หรือNew Economy ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะการเติบโตของภูมิภาคเอเชียนจากนี้ไปจะขึ้นอยู่กับสมรรถนะของปัจจัยด้านอุปทาน คือโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยการผลิตเป็นสำคัญ ซึ่งรวมถึง ทุน แรงงาน ทักษะความรู้ การใช้เทคโนโลยี และความสามารถในการบริหารจัดการ ที่จะเป็นตัวสร้างความสามารถในการผลิตให้กับระบบเศรษฐกิจ และถ้าความสามารถเหล่านี้สามารถนำมาต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้โดยเศรษฐกิจในภูมิภาคในวงกว้าง ผ่านการเชื่อมต่อและการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตข้ามพรมแดน(Mobility) สมรรถนะด้านการผลิตของภูมิภาคเอเชียในภาพรวมก็จะสูงขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้กับการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจของภูมิภาค เป็นแนวคิดที่ง่ายต่อความเข้าใจ ตรงไปตรงมา และตรงประเด็น

นักวิชาการ จาก AMRO ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คือ การเพิ่มสมรรถนะด้านการผลิต และการหาประโยชน์จากการเชื่อมต่อระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะแรงกดดันที่กำลังมาจากการเปลี่ยนผ่านของระบบเศรษฐกิจรูปแบบปัจจุบันไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่บทบาทของเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันจะมีสูงขึ้น สัดส่วนคนสูงอายุในสังคมจะมีมากขึ้น และแรงงานส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาวที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของชนชั้นกลางและเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการใช้จ่ายในสังคม ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างสมรรถนะด้านการผลิตเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ รวมถึงสร้างการใช้การเชื่อมต่อให้สมรรถนะเหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้างทั้งภูมิภาค ซึ่งต้องมาจากการทำนโยบายที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้

ผมเห็นด้วยกับแนวคิด และให้ความเห็นไปว่า การเปลี่ยนแปลงคงเกิดขึ้นแน่นอน และอาจเร็วกว่าที่เรากำลังคิดหรือประเมินกันขณะนี้ด้วย 3 เหตุผล 

1.การเปลี่ยนของเทคโนโลยีกำลังเกิดขึ้นเร็วมาก และมีการปรับใช้แล้วในหลายภาคธุรกิจ ทำให้ธุรกิจอื่นๆ และผู้บริโภค ต้องปรับตัวตามเพื่อให้สามารถทำธุรกิจและแข่งขันได้ เช่น การไม่ใช้เงินสดในการชำระเงินในธุรกิจภาคบริการในจีน ที่ทำให้ทั้งผู้บริโภคและบริษัทคู่ค้าทั่วโลกต้องปรับตัว

2.ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในอดีตที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ สร้างภาวะมลพิษ และทำลายคุณภาพอากาศที่เป็นภัยต่อสุขภาพอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงไทย สิ่งเหล่านี้ทำให้การเปลี่ยนวิถีการผลิตและพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นสิ่งที่จำเป็นและจะเกิดขึ้นเร็ว เพื่อลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน

 3.การกีดกันทางการค้าที่กำลังมีมากขึ้นในเศรษฐกิจโลกที่จะทำให้ประเทศที่เป็นกลางอย่างอาเซียนจะต้องปรับตัวและต้องพึ่งพากันเองมากขึ้น พร้อมลดการพึ่งพาประเทศใหญ่ที่ในอนาคตอาจจะไม่ค้าขายกับเรา เพราะต้องการให้ประเทศอย่างเราเลือกข้างว่า จะอยู่กับใครกลุ่มไหน ซึ่งจะกระทบทั้งเรื่องการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม แรงงานที่มีคุณภาพ และการระดมเงินทุนเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนของภาคธุรกิจ

ด้วย 3 ปรากฎการณ์นี้ ทำให้มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่ประเทศในอาเซียนต้องรีบปรับตัว ต้องเร่งสร้างสมรรถนะด้านการผลิตและใช้การเชื่อมต่อระหว่างประเทศในภูมิภาคให้เป็นประโยชน์ ทั้งการเชื่อมต่อด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน เพื่อสร้างความสามารถในการเติบโตให้กับภูมิภาคอาเซียนในอนาคต เป็นวาระที่สำคัญ ท้าทายและน่าสนุก ที่แต่ละประเทศต้องตั้งใจทำอย่างจริงจัง เพื่ออนาคตของประเทศตน