มาตราการทางกฎหมาย Cryptocurrency ในประเทศไทย

มาตราการทางกฎหมาย Cryptocurrency ในประเทศไทย

สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเป็นลำดับ ในปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมาย

ที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล ดังนี้

(1) พระราชกําหนด(พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ปี 2561 กล่าวถึง Crypto, ICO, Exchange, Regulations, Punishment และ

(2)  พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 กล่าวถึงประเด็นทางภาษี

โดยกฎหมายกำหนดว่า อะไรที่เข้าข่ายหลักทรัพย์ เช่น ตั๋วเงินคลัง,พันธบัตร, หุ้น, หน่วยลงทุน ไม่นับว่าเป็น Cryptocurrency หรือ Digital Token ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและ ICO Portal ก็ถือว่าเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

โดยคำนิยามของ Cryptocurrency ตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 กำหนดว่าหมายถึง “หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลและให้หมายความ รวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกําหนด

ในส่วนของการประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิทัลนั้น มีหลักเกณฑ์ที่สำคัญ กล่าวคือ ถ้าบุคคลเหล่านี้จะทำธุรกรรมหรือรับค่าตอบแทนเป็นสกุลเงินดิจิทัล ก็ต้องเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ได้มาจากผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ซึ่งจุดประสงค์หลักของกฎหมายในส่วนนี้คือ การป้องกันการฟอกเงินและการเลี่ยงภาษีของบุคคลใดๆ ที่เอาเงินเข้าระบบ โดยไม่ได้ผ่านผู้จำหน่าย Crypto ที่ได้รับอนุญาต “ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอสําหรับการประกอบธุรกิจและรองรับความเสี่ยงในด้านต่างๆ ต้องมีมาตราการการรักษาความปลอดภัยจากการโจรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และต้องมีระบบบัญชีที่เหมาะสมกับกิจการและจัดให้มีการสอบบัญชีโดยผู้สอบบัญชีที่สํานักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบ”

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งบทกฎหมายที่ป้องกันผู้ให้บริการ “ธุรกิจดิจิทัล” ที่ปิดกิจการหนีไปพร้อมกับทุนทรัพย์ของลูกค้าที่อยู่ในระบบของเจ้าของธุรกิจดิจิทัลนั้น ๆ ซึ่งเปิดเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่ออกมาเอาผิดกับบุคคลเหล่านี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีกฎหมายในเรื่องสัญญาที่ยังสามารถเอาผิดบุคคลเหล่านี้ได้อยู่ จุดประสงค์หลักของกฎหมายในเรื่องนี้ก็เพื่อป้องกันการฟอกเงินที่ทำได้ง่าย โดยระบบ Blockchain ที่ไม่ต้องมีการทำธุรกรรมการเงินผ่านธนาคารใดๆ และมีกฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจมีการเก็บรักษาทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ ให้มีการทำบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าแยกออกจากบัญชีทรัพย์สินของธนาคาร ซึ่งทั้งหมดนี้ หากไม่ทำตาม คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจสั่งระงับการดําเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นการชั่วคราว ไปจนถึงเพิกถอนการอนุญาตเลยก็ได้

ในส่วนของการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายทรัพย์สินดิจิทัล มีหลักเกณฑ์สำคัญ ดังนี้

1) ห้ามให้ข้อมูลเท็จหรือข้อมูลที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน ผลการดําเนินงาน หรือราคา

2) ห้ามเอาข้อมูลเท็จหรือข้อมูลไม่ครบถ้วนมาใช้วิเคราะห์หรือคาดการณ์ฐานะทางการเงิน ผลการดําเนินงาน ข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวกับผู้ออก ICO

3) ห้ามมิให้บุคคลที่รู้ข้อมูลภายในที่เกี่ยวกับผู้ออก ICO ทำการซื้อ, ขาย หรือทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น และห้ามเปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น

4) ถ้าผู้ถือ token เกินกว่า 5%, ผู้บริหาร, พ่อแม่ลูกญาติพี่น้องภรรยาสามี, บริษัทแม่บริษัทลูก มีพฤติกรรมการซื้อขายที่ผิดไปจากปกติวิสัย ให้เชื่อไว้ก่อนเลยว่าเป็นผู้รู้ข้อมูลภายใน

5) ห้ามผู้บริหารและพนักงานของนายหน้าซื้อขาย หรือ exchange แอบส่ง หรือแก้ไข หรือยกเลิก หรือเปิดเผยข้อมูลการซื้อขายของลูกค้าฃ 

6) ห้ามส่งคำสั่งซื้อขายที่จะทำให้คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขาย และห้ามส่งคําสั่งซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องกันโดยมุ่งหมายให้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลหรือปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นผิดไปจากสภาพปกติ ของตลาด

7) ถ้าเปิดบัญชีร่วมกัน ยอมให้คนอื่นใช้บัญชี จ่ายเงินแทนกัน นำเงินหรือสินทรัพย์มาค้ำประกันแทนกัน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นตัวการในการกระทําความผิด

ในส่วนโทษทางอาญากำหนดไว้ว่า ผู้ใดออก ICO โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือขายโดยไม่ผ่าน ICO Portal มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 2 เท่าของมูลค่า ICO หรือทั้งจําทั้งปรับ ผู้ใดออก ICO โดยไม่ยื่นแบบแสดงข้อมูล และหนังสือชี้ชวนให้ถูกต้อง โทษปรับไม่เกิน 500,000 แสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง เป็นต้น

ส่วนประเด็นเรื่องการคำนวณภาษีจากเงินส่วนแบ่งผลประโยชน์นั้น เนื่องจากการจัดเก็บภาษีถือหลักดินแดนของทรัพย์สินที่ได้มาในปีภาษี ซึ่งสำหรับการลงทุนใน Crypto มักนิยมเปิดบัญชีในบริษัทดิจิทัลของต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีในส่วนนี้ได้ เนื่องจากหลักการเก็บภาษีจากรายได้ที่เกิดในต่างประเทศมีองค์ประกอบสำคัญคือ ต้องมีการนำเงินเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรไม่น้อยกว่า 180 วัน ซึ่งในต่างประเทศหลายประเทศไม่มีการคิดภาษีจากการทำธุรกรรม จึงทำให้เกิดการเปิดบัญชีในบริษัทดิจิทัลของต่างประเทศอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน

โดย... 

ดร.ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน​

สุธรรม เปี่ยมธรรมโรจน์

อิทธิพล กลิ่นดี

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์