ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด

ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด

ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดเป็นตัวละครที่สำคัญมากของการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเนื่องจากกฎหมายพิจารณาเห็นว่า

ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดสามารถสร้างหรือทำลายการแข่งขันได้อย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุนี้ ระบบกฎหมายการแข่งขันทางการค้าในประเทศต่าง ๆ จึงให้ความสำคัญและกำหนดเกณฑ์การกำกับดูแลที่เข้มงวดต่อพฤติกรรมทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว

โดยมาตรา 50 พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดกระทำการในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) กำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือขายสินค้าหรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม

(2) กำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นคู่ค้าของตนต้องจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ หรือการจำหน่ายสินค้า หรือต้องจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้าการได้รับหรือให้บริการ หรือในการจัดหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจอื่น

(3) ระงับ ลด หรือจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ การจำหน่าย การส่งมอบ การนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ทำลายหรือทำให้เสียหายซึ่งสินค้า ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด

(4) แทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

การกระทำความผิดตามมาตรานี้เป็นการกระทำในลักษณะที่เรียกว่า Unilateral conduct กล่าวคือ เป็นการกระทำความผิดที่ผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวก็อาจกระทำความผิดได้ โดยจะเป็นความผิดตามมาตรานี้จะต้องมีสององค์ประกอบดังนี้

องค์ประกอบที่ 1 ต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด

องค์ประกอบที่ 2 มีการกระทำที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 50(1)-(4) กรณีใดกรณีหนึ่ง

องค์ประกอบที่ 1 ใครบ้างเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด

(1) ผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง หรือบริการใดบริการหนึ่ง ที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ร้อยละห้าสิบขึ้นไป และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาท ขึ้นไป หรือ

(2) ผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรก (concentration ratio, CR) ในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง หรือบริการใดบริการหนึ่งที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกันตั้งแต่ 75% ขึ้นไป และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาแต่ละรายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่ให้ใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาต่ำกว่าร้อยละสิบ

โดยการนับส่วนแบ่งตลาดและยอดเงินขายของผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด ให้นับรวมส่วนแบ่งตลาดและยอดเงินขายในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่งหรือบริการใดบริการหนึ่งของบรรดาผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนดด้วย และให้ถือว่าบรรดาผู้ประกอบธุรกิจที่มีส่วนแบ่งตลาดดังกล่าวเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด กล่าวคือ ส่วนแบ่งตลาดให้นับรวมของบริษัทแม่-บริษัทลูกหรือบริษัทในเครืออีกด้วย หากโครงสร้างดังกล่าวทำให้สามารถควบคุมทางนโนบายได้ เป็นต้น ซึ่งถ้าพิจารณาตามแผนภาพ A, B และ C ทุกรายเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด

องค์ประกอบที่ 2 กระทำการที่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายซึ่งมีหลาย ๆ ลักษณะตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 50(1)-(4) กรณีใดกรณีหนึ่ง โดยในส่วนที่เป็นมาตรการด้านราคาตามมาตรา 50(1) มีพฤติกรรมทางการค้าที่น่าสนใจและกฎหมายสันนิษฐานว่าเป็นความผิด ดังนี้

(1) การตั้งราคาเพื่อกำจัดคู่แข่งขัน (Predatory Pricing) ได้แก่ การตั้งราคาสินค้าหรือบริการ ในระดับต่ำมากโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่งขันต้องออกจากตลาดไป ทั้งนี้ให้สันนิษฐานว่าการตั้งราคาสินค้าหรือบริการต่ำกว่าต้นทุนแปรผันเฉลี่ย (Average Variable Cost : AVC) เป็นการตั้งราคาเพื่อกำจัดคู่แข่งขัน

(2) การตั้งราคาสินค้าหรือบริการที่ต่ำกว่าต้นทุน (Price Below Cost) ที่เป็นการตั้งราคา สินค้าหรือบริการสูงกว่าต้นทุนแปรผันเฉลี่ย (AVC) แต่ต่ำกว่าต้นทุนรวมเฉลี่ย (Average Total Cost : ATC)

(3) การกำหนดหรือรักษาราคาซื้อหรือราคาขายสินค้าหรือบริการให้คู่ค้าโดยเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม (Price Discrimination) ซึ่งอาจจะกระทำโดยกำหนดราคาซื้อหรือราคาขายสินค้าหรือบริการชนิดเดียวกันให้คู่ค้าต่างรายในราคาที่แตกต่างกันหรือในราคาเดียวกันก็ได้

(4) การกำหนดหรือรักษาระดับราคาสูงอย่างไม่เป็นธรรม (Excessive Pricing) อันได้แก่ การกำหนดราคาขายที่มีผลทำให้ได้รับกำไรสูงกว่าปกติหรือสูงกว่ากำไรที่เคยได้รับ โดยพิจารณาการกำหนดราคาขายหรืออัตรากำไรของผู้ประกอบธุรกิจอื่นเทียบเคียงกันในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

พฤติกรรมทางการค้าทั้งสี่ประเภทเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของมาตรการด้านราคาที่อาจเป็นการกระทำความผิดเท่านั้น ซึ่งหลาย ๆ อย่างก็เป็นพฤติกรรมที่อาจเห็นได้บ่อย ๆ ในทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้มาตรา 50 นั้น อยู่ภายใต้หลักการให้เหตุผล (rule of reason) นั่นหมายความว่าหากผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดมีพฤติกรรมทางการค้าดังกล่าวก็อาจจะไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดเสมอไปหากมีเหตุผลในทางธุรกิจ ทางเศรษฐศาสตร์ หรืออื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

การฝ่าฝืนมาตรา 50 กฎหมายกำหนดโทษทางอาญาไว้ว่าอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดในปีแรกของการประกอบธุรกิจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรรมการหรือผู้แทนของนิติบุคคลก็อาจต้องร่วมรับผิดด้วยเช่นกัน

บทลงโทษถือว่าหนักพอสมควร.

โดย... 

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์