ตลาดหุ้นในปีหมูทอง

ตลาดหุ้นในปีหมูทอง

สวัสดีปีใหม่ครับ ปีที่ผ่านมาถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าทายสำหรับนักลงทุนไทย

SET Index เคลื่อนไหวในลักษณะ Sideway down ตลาดทั้งปีจนมาปิดปีที่ 1563.88 จุด ถือเป็นระดับเกือบต่ำที่สุดของทั้งปี คิดเป็นการปรับตัวลดลง -10.8% รั้งอันดับรองสุดท้ายของผลตอบแทนตลาดหุ้นในภูมิภาค ASEAN และหากรวมผลตอบแทนเงินปันผล ตลาดไทยในปีที่ผ่านมาจะให้ผลตอบแทนรวมอยู่ที่ -8.09% เท่านั้น นอกจากนี้ปี 2018 ยังเป็นปีที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยมากที่สุดในรอบ 10 ปี โดยมียอดขายสุทธิสูงถึง 2.87 แสนล้าน ในขณะที่นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิรวม 1.84 แสนล้านบาท

ตลาดหุ้นต่างประเทศล้วนให้ผลตอบแทนติดลบเช่นกัน ตลาดหุ้นที่ทำผลงานได้ดีที่สุดคือตลาดสหรัฐอเมริกา (S&P Index) ให้ผลตอบแทน -4.39% รองลงมาคือไทย ให้ผลตอบแทน -8.09% และตลาดยุโรป (MSCI Europe Index) ให้ผลตอบแทน -10.08% ส่วนตลาดที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุดคือ ตลาดหุ้นจีน (Shanghai Composite Index) ให้ผลตอบแทน -22.74%

ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนของตลาดหุ้นทั่วโลก (MSCI World Index) อยู่ที่ -8.19% และหากนักลงทุนเลือกลงทุนในตลาดพันธบัตร ผลตอบแทนที่ได้ก็จะติดลบเช่นกัน โดย Global Bond Index ในปีที่ผ่านมา ให้ผลตอบแทนรวม -1.20% ทำให้ปี 2018 ที่ผ่านมานั้นเป็นปีแรกในรอบ 19 ปี ย้อนหลังที่ผลตอบแทนสินทรัพย์ทั้งหุ้นและพันธบัตรติดลบอย่างพร้อมเพรียงกัน

หากมองไปข้างหน้าในปีหมูทองนี้ เศรษฐกิจประเทศไทยโดยรวมยังขยายตัว คาดการณ์ในกรอบ 4% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ลดลงจากปี 2018 โดยส่วนใหญ่มาจากผลกระทบจากปัจจัยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยประเทศไทยเป็นประเทศคู่ค้ากับทั้งสองประเทศ จึงได้รับผลกระทบทางอ้อมไปด้วย ดังเห็นได้จากตัวเลขส่งออกของไทยที่เริ่มลดลงตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2018 กดดันให้จีดีพีชะลอตัวลงไปด้วย

อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังการเลือกตั้ง โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาทจะทยอยออกมาประมูลมากขึ้น ทำให้ยังมีการลงทุนของภาครัฐที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ และอาจเหนี่ยวนำให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น

ไทยยังมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากภาคอื่น เช่น ภาคบริการและการท่องเที่ยว ที่คาดจำนวนนักท่องเที่ยวจะค่อยๆฟื้นตัวรายไตรมาส โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ภาคการบริโภคในประเทศ ที่เริ่มกระเตื้องขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปลายปีให้แก่คนจน คนละ 500 บาท เป็นต้น

นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงก่อนเลือกตั้ง ยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกด้วย และในช่วงกลางปี ประเทศไทยยังมีงานใหญ่ คือ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ด้วย

แม้จะมีความท้าทายจากปัจจัยภายนอก ทว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยค่อนข้างมั่นคง ตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยสูงเกินระดับ 2.05 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2019 จากการเกินดุลการค้า การส่งออก และการท่องเที่ยว และมีแนวโน้มที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยจะแตะระดับ 2.30 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้ในปีนี้ จากมูลค่าการนำเข้าที่ลดลง หากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เงินบาทจึงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและเคลื่อนไหวในกรอบ 32.5-30 บาทในปีนี้

หากมองถึงกำไรของบริษัทจดทะเบียน ปี 2019 ก็ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ในระดับ 6-7% ซึ่ง SET Index น่าจะปรับตัวขึ้นได้มากกว่าการเติบโตของกำไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความมั่นคง เงินบาทค่อนข้างมีสเถียรภาพเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค อีกทั้งยังมีแนวโน้มแข็งค่า

การปรับฐานของตลาดหุ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ยังทำให้มูลค่าตลาดลดลงมาอยู่ในระดับค่าพีอีปี 2019 เพียง 14 เท่า นักลงทุนต่างชาติจึงมีแนวโน้มสูงที่จะกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง หลังจากที่เป็นผู้ขายสุทธิต่อเนื่อง จนปัจจุบันตลาดไทยมีสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติเหลือเพียง 29.5% (ข้อมูล ณ ตุลาคม 2018) ช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสดีที่นักลงทุนสามารถเข้าสะสมหุ้นพื้นฐานดีสำหรับการลงทุนระยะยาวครับ