สัมประสิทธิ์จีนีกับความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

สัมประสิทธิ์จีนีกับความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ในช่วงวันหยุดยาว ผมหยิบหนังสือ ”แนวทางสันติวิธีทางเลือกคนไทยหลัง 6 ตุลา” มาอ่าน ซึ่งตีพิมพ์งานเขียนของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์

หนึ่งในบทความที่ผมอ่านชื่อ เหลียวหลัง แลหน้า สะท้อนถึงความเป็นห่วงของอาจารย์ป๋วยที่มีต่อสังคมและเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างยิ่ง อาจารย์ป๋วยพูดถึงสังคมที่พึงปรารถนานั้นต้องประกอบด้วย 4 ปัจจัย คือ 1. สมรรถภาพ คือขีดความสามารถในการแข่งขัน 2. เสรีภาพ คือความเป็นประชาธิปไตยในสังคม 3. ยุติธรรม คือ การลงโทษโดยเสมอภาคกันปราศจากสองมาตรฐาน และ 4. ความเมตตากรุณา คือการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม

นอกจากนั้น สิ่งหนึ่งที่อาจารย์ป๋วยเป็นห่วงและกังวัลต่อสังคมเศรษฐกิจไทยก็คือความเหลื่อมล้ำ หนึ่งในเครื่องมือที่ใช้วัดความเหลื่อมล้ำที่นิยมใช้กันก็คือ สัมประสิทธิ์จีนี ซึ่งโดยทั่วไปจะมีค่าระหว่าง 0 – 1 ในขณะที่ 0 หมายถึง ทุกคนในระบบเศรษฐกิจมีรายได้เท่าเทียมกัน และ 1 หมายถึง มีเพียงคนคนเดียวครอบครองรายได้ทั้งหมด สำหรับประเทศไทยนั้นค่าสัมประสิทธิ์จีนี จากรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำโดยสภาพัฒน์ เท่ากับ 0.453 และมีแนวโน้มลดลงตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ?

แต่ทว่าสัมประสิทธิ์จีนี ก็มีปัญหาถกเถียงกันอยู่ว่า เส้น Lorenz Curve หรือเส้นที่แสดงการกระจายรายได้ของสังคมในปัจจุบัน มีได้หลายรูปร่าง แต่ให้ค่าสัมประสิทธิ์จีนีออกมาเท่ากัน ทั้งที่การกระจายรายได้นั้นไม่เท่ากัน จากบทความของ Jorge Charles ระบุว่า สมมติว่ามี 2 ประเทศ ประเทศ A ประชากร 50% แรกไม่มีรายได้เลย ในขณะที่อีก 50% หลังมีการกระจายรายได้ที่เท่ากัน ในขณะที่ประเทศ B มีคน 1 คนครอบครองรายได้กว่า 50% ของทั้งหมด และประชากรที่เหลือมีการกระจายรายได้ที่เท่ากัน พบว่า ทั้งประเทศ A และ ประเทศ B จะมีค่าสัมประสิทธิ์จีนีเท่ากัน คือ 0.5 ซึ่งจะสรุปว่าทั้ง 2 ประเทศมีการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมกันนั้น คงจะผิดถนัด ดังนั้นการใช้สัมประสิทธิ์จีนีในการประเมินความเหลื่อมล้ำแต่เพียงโสดเดียวดูจะไม่เพียงพอนัก สอดคล้องกับรายงานของสภาพัฒน์ที่ระบุว่า แม้ว่าจำนวนคนยากจนจะลดลง แต่กลุ่มคนที่รวยที่สุด 20% มีรายได้สูงกว่ากลุ่มคนที่จนที่สุด 20% ถึง 10 เท่า นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้ว่ารายได้ประชากรจะเพิ่มขึ้น จนทำให้จำนวนคนจนลดลงก็จริง แต่ไม่ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมลดลง ปัญหานี้จึงยังเป็นที่น่ากังวลยิ่ง

ความจริงแล้วรัฐบาลก็หาได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ มีความพยายามมากมายในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า นโยบายบางอย่างที่ดูเหมือนจะแก้ปัญหาแต่กับยิ่งซ้ำเติมปัญหา อย่างนโยบายลดแลกแจกแถมทั้งหลาย นโยบายดังกล่าวไม่ได้แก้ที่ตัวต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง เพราะไม่ได้ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้น หรือเพิ่มศักยภาพในการทำมาหากินให้สูงขึ้น หรือแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา สุดท้ายแล้วเงินที่ประชาชนได้รับก็เอาไปบริโภค เงินก็หมุนเวียนกลับไปหานายทุนอยู่ดี รวมทั้งโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC นั้น ผมยังมองไม่ออกว่าจะสามารถสร้างผลเชื่อมโยงถอยหลัง (Backward-Linkage) ไปยังประชาชนที่อาศัยอยู่ในชนบทได้อย่างไร

ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณพิชัยยุทธ แพนพา รุ่นพี่ที่เรียนเมืองนอกด้วยกันกับผม เป็นการพูดคุยกันครั้งแรกหลังจากที่ผมกลับมาเมืองไทย คุณพิชัยยุทธเสนอทางออกให้กับประเทศว่าต้องใช้อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเป็นตัวขับเคลื่อนจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ เพราะรากฐานของประเทศคือเกษตรกรรมและเกษตรกรส่วนใหญ่ก็อาศัยอยู่ในชนบท หากสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรได้ ย่อมจะสร้างผลเชื่อมโยงถอยหลังไปยังประชาชนในชนบทได้อย่างทั่วถึง ผมฟังแล้วก็รู้สึกสนใจขึ้นในทันที

การสร้างอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปนั้นประกอบด้วยบันได 3 ขั้น

  1. พัฒนาด้านเกษตรกรรมด้วยการพัฒนาระบบชลประทานให้ทั่วถึงแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับเกษตรกร ส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการผลิตปุ๋ยให้กับโรงงานผลิตปุ๋ยรายย่อย เพื่อลดอำนาจผูกขาดของรายใหญ่ พัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อขยายโอกาสสู่ตลาดต่างประเทศ
  2. พัฒนาด้านอุตสาหกรรมส่งเสริมและพัฒนาโรงงานให้มีมาตรฐานสากลเพื่อให้สินค้าเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับอาชีวะโดยเพิ่มชั่วโมงการฝึกงานระหว่างเรียน เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะในการทำงานให้กับนักศึกษาและยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้อีกทางหนึ่งด้วย
  3. พัฒนาด้านตลาดส่งออกรัฐบาลควรต้องสนับสนุนงบประมาณให้ผู้ประกอบการออกบูธทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นการขยายช่องทางในการส่งออกและขยายตลาดให้กับสินค้าเกษตรของไทย

ซึ่งแนวทางดังกล่าวก็สอดคล้องกับข้อเสนอของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ที่ทิ้งท้ายไว้ในบทความเหลียวหลัง แลหน้าไว้ว่า รัฐบาลต้องลงทุนด้านการเกษตรและพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง และจัดทำอุตสาหกรรมที่คาบเกี่ยวกับการเกษตรและนำผลผลิตทางการเกษตรไปเป็นวัตถุดิบ รวมทั้งการพัฒนาด้านการศึกษา สาธารณสุข และอบรมทักษะในการทำงานควบคู่กันไปด้วย หากเป็นไปดังนั้นจริงอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาประเทศและยังสร้างผลเชื่อมโยงถอยหลังไปยังภาคชนบท ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อีกด้วย

ไม่น่าเชื่อว่ากาลเวลาผ่านไปเกือบ 50 ปีแล้วนับจากวันที่อาจารย์ป๋วยเขียนบทความ สังคมเศรษฐกิจไทยยังห่างไกลจากสังคมที่พึงปรารถนาของอาจารย์ป๋วยมากนัก

 โดย... วิญญู วีระนันทาเวทย์