เตรียมตีตั๋วท่องอวกาศ

เตรียมตีตั๋วท่องอวกาศ

กว่า 14 ปีที่เซอร์ ริชาร์ด แบรนด์สัน (Sir Richard Branson) ผู้ก่อตั้ง Virgin Group เริ่มบุกเบิกการท่องเที่ยวอวกาศในปี 2004

โดยการก่อตั้งบริษัทจนเริ่มเห็นความสำเร็จจากผลทดสอบการบินสู่อวกาศ ในขณะที่บริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซึ่งมีโครงการร่วมกับนาซ่า (NASA) ที่จะส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่ห้วงอวกาศอีกครั้งในปี 2019 หลังจากโครงการ Space Shuttle ถูกระงับลงในปี 2011

ส่วนบริษัทบลูออริจิน (Blue Origin) ของเจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) ซีอีโอของเว็บไซต์อเมซอนก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและการบินเพื่อเปิดโอกาสให้มนุษย์สามารถสำรวจอวกาศและดำรงชีวิตในอนาคต ซึ่งแม้จะเป็นเพียงก้าวเริ่มต้นของการเดินทางแต่ต่างก็ต้องการไปให้ถึงดวงดาวก่อนใคร

ก้าวเล็กที่มุ่งมั่น

บริษัทเวอร์จิน กาแลคติกสามารถออกแบบ ผลิต ทดสอบ และขับเคลื่อนยานอวกาศโดยสาร “สเปซชิพทู (SpaceShipTwo, SS2)” ที่ร่อนออกจากเครื่องบินส่งยาน “ไวท์ไนท์ทู (WhiteKnightTwo, WK2)” และเริ่มจำหน่ายตั๋วทัวร์อวกาศในราคาสูงถึง 250,000 ดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2009 แต่มีเหตุให้ขยายเวลาออกไปต่อเนื่องจนมีความหวังว่าจะเริ่มเปิดบินได้ในต้นปี 2015 แต่เมื่อยานอวกาศโดยสารสเปซชิพทู ที่ชื่อ “VSS Enterprise” ประสบเหตุตกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2014 จนนักบินเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย ทำให้ความฝันที่จะนำผู้โดยสารออกสู่อวกาศต้องเลื่อนออกไปอีก

จนกระทั่งเช้าวันที่ 13 ธันวาคม 2018 ยานอวกาศโดยสารสเปซชิพทูชื่อ “VSS Unity” สามารถสร้างสถิติทดสอบการบินด้วยความเร็วซุปเปอร์โซนิคที่ 2.9 มัค ที่ความสูง 82.7 กิโลเมตรหรือ 51.4 ไมล์ซึ่งเป็นความสูงที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานอเมริกาให้เป็นระดับการบินอวกาศได้สำเร็จ และนักบินได้รับการยอมรับให้เป็นนักบินอวกาศ ซึ่งหากการทดสอบยังเป็นไปตามแผนจะช่วยให้เวอร์จิน กาแลคติกเป็นบริษัทเอกชนที่สามารถส่งทัวร์อวกาศเป็นรายแรกของโลกจากฐานบิน “Spaceport America” ในมลรัฐนิวเม็กซิโก โดยปัจจุบันมีลูกค้าและคนดังสนใจต้องการร่วมท่องอวกาศถึง 700 ราย

เซอร์ ริชาร์ด แบรนด์สันมีความหวังว่าในอนาคตบริษัทเวอร์จิน กาแลคติกจะสามารถส่งดาวเทียมถึง 100 ดวงต่อวัน และทำให้ราคาตั๋วของทัวร์อวกาศลดลงมาที่ 40,000 ดอลลาร์ต่อที่นั่ง

 

เร่งเครื่องสู่อวกาศ

ความฝันและความพยายามของอีลอน มัสก์ที่ต้องการพามนุษย์ไปตั้งถิ่นฐานยังดาวอังคารได้เปิดตำนานหน้าใหม่ของการเดินทางของมนุษย์สู่ห้วงอวกาศ จากการพัฒนาจรวดฟาวด์คอน 9 (Falcon 9) จรวดฟาวด์คอนเฮวี่ (Falcon Heavy) โดยสามารถนำจรวดหรือชิ้นส่วนกลับมาใช้ใหม่ (Reusable) และการเร่งสร้างจรวดบิกฟาวด์คอนร๊อกเกตต์ (Big Falcon Rocket, BFR) ที่จะทำให้การเดินทางไปยังดาวอังคารของมนุษย์ใกล้ความจริงมากขึ้น ล่าสุดสเปซเอ็กซ์ดัดแปลงแคปซูลขนส่งสินค้า Dragon ที่ใช้ในการลำเลียงสัมภาระไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ให้สามารถจัดส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศในโครงการร่วมมือกับนาซ่า ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของสเปซเอ็กซ์ก้าวไปอีกขั้น 

ไม่เพียงแต่สเปซเอ็กซ์เท่านั้นที่มีแผนการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่อวกาศ บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการบินอย่างโบอิ้ง (Boeing) ก็ได้สร้างยานอวกาศที่ชื่อ “CST-100 Starliner” เพื่อขนส่งนักบินอวกาศจากพื้นโลกไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในโครงการร่วมมือกับนาซ่า ตามโครงการการส่งนักบินอวกาศ 9 นายโดยการร่วมมือกับบริษัทเอกชนเช่นกัน

ทางด้านบริษัทบลูออริจินของเจฟฟ์ เบซอสที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2000 เพื่อให้มนุษย์สามารถค้นหาทรัพยากรใหม่จากห้วงอวกาศ ได้พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศที่สามารถนำจรวดหรือชิ้นส่วนกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งบริษัทบลูออริจินได้ทดสอบการยิงจรวดชื่อ “New Shepard” ในปี 2015 โดยจรวดสามารถร่อนกลับมาลงจอดยังแท่นรับได้ในลักษณะเดียวกับจรวด Falcon 9 ของสเปซเอ็กซ์เช่นกัน และมีแผนการสร้างจรวด “New Glenn” ซึ่งเป็นจรวดแบบ 2 หรือ 3 ตอน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7 เมตรให้เสร็จก่อนปี 2020 โดยล่าสุดจรวด New Shepard ได้รับเลือกจากนาซ่าเพื่อนำงานวิจัยขึ้นทดสอบภายใต้สภาวะไร้น้ำหนักในอวกาศ ซึ่งบริษัทบลูออริจินเองก็มีแผนที่จะส่งนักบินอวกาศขึ้นไปกับจรวดในปี 2019 เช่นกัน

 

ก้าวแรกสู่ดวงดาว

ความพยายามที่จะให้โอกาสมนุษย์สามารถใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศหากโลกมีอันต้องเสื่อมสลาย ทำให้บริษัทเอกชนอย่างสเปซเอ็กซ์ เวอร์จินกาแลคติก และบลูออริจิน เผชิญกับความท้าทายในสิ่งที่ไม่เคยรู้และยิ่งใหญ่มากมาย การเร่งเครื่องเพื่อพิชิตอวกาศของผู้นำบริษัทที่มีวิสัยทัศน์เหล่านี้อาจสอดคล้องกับคำกล่าวของศาสตราจารย์ สตีเฟน ฮอว์กิ้งที่ว่า “ไม่มีอนาคตสำหรับมวลมนุษยชาติหากไม่มุ่งสู่อวกาศ” ความฝันและความมุ่งมั่นในการเดินทางสู่ดวงดาวกำลังเปลี่ยนตำนานการดำรงชีพของมนุษยชาติตลอดไป