ใครก็บอกให้ออกจาก 'Comfort Zone'

ใครก็บอกให้ออกจาก 'Comfort Zone'

ถ้าใครไม่ปรับ ไม่เปลี่ยน ไม่ยอมละทิ้งสิ่งเดิม ไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ และไม่กล้าเสี่ยงทำอะไรที่ไม่คุ้นชิน คงอยู่ได้ยากในปัจจุบัน

นอกจากคำว่า Disruption ที่ฮิตติดปาก และพบได้ทั่วไปทั้งในข่าวเศรษฐกิจและธุรกิจ ควบคู่มากับคำว่า Technology ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม บางอุตสาหกรรมถึงกับล่มสลายหายไป ในเชิงนวัตกรรมเรียกว่าเป็น Breakthrough innovation ล้มล้างสิ่งเดิมแล้วเริ่มต้นด้วยสิ่งใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับเด็กยุคใหม่ ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เพียงแต่ระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงในอดีตจะใช้เวลาค่อนข้างนานหลายสิบปีจึงจะมีสักครั้ง

 

ยกตัวอย่างพัฒนาการของแสงสว่าง ในอดีตมนุษย์ใช้การเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อให้เกิดความร้อนสำหรับปรุงอาหาร ในขณะที่เราจุดคบเพลิงในเวลากลางคืนเพื่อให้ได้แสงสว่างส่องทาง ซึ่งนั่นเป็นการใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต แต่ก็มีการใช้เพื่อการทำลายล้าง เช่น การล่าสัตว์และการต่อสู้ในศึกสงครามแย่งดินแดน จนกระทั่งเรานำน้ำมันมาใช้แทนฟืน นำไปสู่การมีตะเกียง เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานมากขึ้น การเพิ่มสมรรถนะให้สูงขึ้นบนฐานของเทคโนโลยีหรือหลักการเดิมนี้ เรียกว่า Incremental innovation

 

เมื่อถึงวันหนึ่งซึ่งนักวิทยาศาสตร์ค้นพบไฟฟ้าจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เทคโนโลยีจากไฟฟ้าจึงเข้ามาแทนที่และทำให้เกิดหลอดไฟที่มีใส้หลอดทังสเตน แสงสว่างมากขึ้นแต่ยังคงมีความร้อนอยู่ ใช้งานได้ตราบเท่าที่ไส้หลอดยังไม่ขาด ตะเกียงและคบเพลิงก็เสื่อมความนิยมลงตราบลำดับ แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้งเมื่อหลอดฟลูออเรสเซนต์เกิดขึ้น หลอดไส้ทังสเตนที่มีอายุงานสั้นและให้ความร้อน ถูกแทนที่ด้วยหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ให้แสงนวลตากว่า และร้อนน้อยกว่า ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ LED กินไฟต่ำ และมีความร้อนน้อยกว่าฟลูออเรสเซนต์มาก ที่สำคัญมีขนาดเล็ก จึงสามารถนำไปออกแบบให้มีรูปร่างหน้าตาได้หลากหลาย ผลิตภัณฑ์ต่างๆมากมายในปัจจุบันหันมาใช้ LED เป็นแหล่งกำเนิดแสงแทน ไม่ว่าจะเป็น หลอดไฟในบ้าน ยานยนต์ หรือแม้แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

 

ทุกวันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสูงสุดที่สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดให้กับทุกวงการ แทรกตัวอยู่ในทุกสิ่งทุกสถานที่และทุกกิจกรรม ต่างจากเทคโนโลยีอื่นซึ่งส่งผลเฉพาะด้าน อาทิ เทคโนโลยีทางการแพทย์ เทคโนโลยีวัสดุนาโน เทคโนโลยีการสื่อสาร การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิตัลอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกคนไม่สามารถจะคงสถานะหรือสภาพการทำงานในแบบเดิมได้อีก แม้ว่าการใช้ชีวิตของใครหลายคนจะพยายาม slow life เข้าหาธรรมชาติและความเรียบง่ายให้มากที่สุดก็ตาม แต่ในการทำงานและการทำธุรกิจซึ่งเป็นโลกแห่งการแข่งขัน จำเป็นต้องใช้มันเพื่อแย่งชิงโอกาสทางการตลาด(เพิ่มรายได้) ลดการใช้ทรัพยากร(ลดรายจ่าย) และขจัดมลพิษที่สร้างผลเสียให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ย้ายข้อมูลทางกายภาพทั้งหมดในโลกจริง ไปสู่โลกเสมือนผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สาย โดยไมโครคอนโทรลเลอร์และเซ็นเซอร์ (Internet of Thing) ทำหน้าที่แปลงสัญญาณทุกอย่างเชื่อมต่อเข้าสู่โลกไซเบอร์ แม้แต่กระบวนการทำงานเดิมที่อยู่บนกระดาษของเรา เมื่อคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารไร้สาย short cut ลัดขั้นตอนและทำงานได้เองแบบอัตโนมัติ ความต้องการใช้คนและกระดาษก็หายไป ทักษะความสามารถของคนที่เคยสำคัญก็ไม่มีคุณค่าในที่สุด ถึงวันนี้ใครๆก็บอกว่า “ให้ออกจาก Comfort zone หรือพื้นที่สุขสบายจากความเคยชินเดิมๆได้แล้ว” ใครๆที่ว่ามีทั้งที่เป็น “คน” และ “สภาพแวดล้อม” ถึงแม้ไม่มีคนมาบอก แต่ทุกคนก็รับรู้ได้ถึงการเข้ามาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิตัล ระบบอัตโนมมัติ การเชื่อมต่อแบบไร้สาย อินเทอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ การทำธุรกรรมและชำระเงินทุกอย่างผ่านสมาร์ทโฟน

 

ทางออกจาก Comfort zone ของแต่ละคน แต่ละธุรกิจ ก็แตกต่างหลากหลาย แนวทางที่หนึ่ง คิดค้นสิ่งใหม่ให้กับตลาดเดิม ใช้จุดแข็งเดิม เพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีใหม่ อาทิ จากบริษัทที่ผลิต LCD projector ที่เมื่อก่อนต้องต่อสายสัญญาณกับคอมพิวเตอร์เพื่อฉายภาพขึ้นจอ ซึ่งแต่เดิมมีความยุ่งยากในการใช้งาน กรณีที่ต้องนำเสนอหลายคน ก็ต้องถอดสลับสายไปมา แต่เมื่อผู้ผลิตนำเอาเทคโนโลยีไร้สาย (Wireless technology) เข้ามาใช้ ทำให้ LCD projector ในปัจจุบันสามารถจะส่งข้อมูลจากเครื่องใดก็ได้ขึ้นจอ แนวทางดังกล่าวมีให้เห็นมากมาย อาทิ ไมค์ไร้สาย ลำโพงไร้สาย หูฟังไร้สาย จนถึงการควบคุมสั่งการทางไกลที่ใดก็ได้ในโลกนี้ที่เรียกว่า IoT

 

แนวทางที่สอง นำสิ่งเดิมซึ่งอาจล้าสมัยแล้วไปสู่ตลาดใหม่ ที่โครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนายังไม่สูง การกล้าที่จะออกไปทำตลาดที่เราไม่คุ้นชิน และไม่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก้าวล้ำนำหน้ามากนัก ถ้ารุกเข้าไปได้ก่อนหรือจับมือกับคู่ค้าที่รู้จักพื้นที่นั้นดี มีสิทธิที่จะขยายตลาดและสร้างรายได้มาทดแทนตลาดเดิมที่หดหายไปได้ ตัวอย่างประเทศในกลุ่ม CLMV ที่มีความนิยมในสินค้าและบริการหลายอย่างของไทย ในราคาที่ไม่สูงนัก

 

แนวทางที่สาม ยากที่สุดคือการสร้างสิ่งใหม่ให้กับตลาดใหม่ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน การรุกเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมของ Apple จากผู้ผลิตคอมพิวเตอร์มาเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟน และธุรกิจคอนเทนต์ (ดาวน์โหลดเพลง App ผ่านไอทูน) หรือการเปลี่ยนจากเจ้าตลาดฮาร์ดแวร์ของ IBM มาสู่ธุรกิจซอฟท์แวร์และโซลูชั่น

 

การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเองของธุรกิจ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของคนทำงานในองค์กรนั้นๆ ถ้าใครไม่ปรับ ไม่เปลี่ยน ไม่ยอมละทิ้งสิ่งเดิม ไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ และไม่กล้าเสี่ยงทำอะไรที่ไม่คุ้นชิน คงอยู่ได้ยากในปัจจุบัน เพราะความกล้าคิด กล้าทำ และกล้านำเสนอสิ่งที่แปลกแตกต่างไปจากเดิม แต่สอดรับกับความต้องการของตลาดและลูกค้าเท่านั้น จะทำให้เรารอดพ้นจากกับดักความสบายใน Comfort zone ไปได้