5 ทักษะที่จำเป็นไม่น้อยกว่าทักษะทางเทคนิค

5 ทักษะที่จำเป็นไม่น้อยกว่าทักษะทางเทคนิค

คนใหญ่คนโตอยากได้บัณฑิตพันธ์ุใหม่ที่ว่ากันว่า เก่งกาจทางเทคนิค เทียมระดับโลก แต่ล่าสุดเครือข่ายสังคมที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในวงการอาชีพ

ที่ชื่อ Linkedln ไปสำรวจข้อมูลจากผู้บริหารในวงการอาชีพต่าง ๆ แล้วสรุปแบบฟันธงว่า ความสำเร็จของการประกอบอาชีพการงานมาจากทักษะ 5 เรื่อง ที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าทักษะทางเทคนิค เหตุผลคือ ความรู้เทคนิคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเล่าเรียนกันใหม่อยู่อย่างต่อเนื่อง ความเก่งเทคนิคเรื่องนี้ในวันนี้ อาจไม่มีประโยชน์ใด ๆ ในวันหน้า ใครที่เคยเก่งชุมสายโทรศัพท์ วันนี้ความเก่งนั้นมีคุณค่าน้อยลงมาก เพราะกลายเป็นอินเทอร์เน็ตไปหมด ต้องเก่งเราท์เตอร์แทน แต่ในอีกแค่สามสี่ปี คนเก่งเราท์เตอร์ในวันนี้ ก็จะหมดความสำคัญไปอีก เพราะมีเทคโนโลยีเครือข่ายที่กำหนดรูปแบบการทำงานด้วยซอฟท์แวร์ ใครเก่งเทคนิคในวันนี้ จะเก่งแค่ไหน วันหน้าก็ต้องเล่าเรียนกันใหม่ทั้งนั้น

ความเก่งทางเทคนิคจึงไม่ใช่ความเก่งที่ยั่งยืน ผู้บริหารระดับสูงเลยไปให้ความสำคัญกับทักษะที่อยู่ติดตังอย่างยั่งยืนมากกว่า คือทักษะเกี่ยวกับผู้คน มากกว่าทักษะเทคนิค เพราะคนเป็นกำหนดว่าจะยอมใช้ หรือไม่ยอมใช้เทคนิคใหม่ๆ ที่นำเสนอกันมา ทักษะที่ฝรั่งเรียกว่า Soft Skill ที่ให้ความสำคัญกันเป็นพิเศษในปีใหม่นี้ มี 5 ทักษะด้วยกัน เริ่มจากทักษะการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการแปลงโฉมหน้าการงานต่างๆ ทุกวันนี้ ใครๆ ก็ว่าเอไอจะมาแทนคน แต่ต้องมีคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ดีพอ มาบอกว่าเอไอจะไปแทนคนในเรื่องใด ถ้าเจอใครที่สนุกปากกับการบอกผู้คนว่าระวังตกงาน เพราะเอไอจะมาแย่งงาน ให้ถามไปว่าเอไอจะมาแทนคนในงานแบบไหนบ้าง แทนได้อย่างไร ถ้าตอบแล้วฟังเข้าใจ แปลว่าเจอคนที่มีทักษะสร้างสรรค์เพียงพอที่จะใช้เอไอมาแทนคนได้จริง ถ้าตอบแล้วยิ่งฟังยิ่งงง ก็แปลว่าเจอคนที่มีทักษะในการพูดให้คนอื่นตื่นเต้น แต่ไม่รู้อะไรจริง ๆจัง ๆ

ทักษะที่สองเป็นทักษะในการเชื้อเชิญ ชักชวนให้ผู้คนเชื่อในเทคนิคที่ตนเองนำเสนอ ทำเทคนิคได้เก่ง แต่คนไม่เชื่อว่าใช้ได้ ต่อให้เก่งขนาดสร้างยานอวกาศได้ แต่คนไม่เชื่อ ยานอวกาศนั้นเทคนิคจะดีเด่นแค่ไหน ก็ไม่มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์ ผู้บริหารจึงอยากได้คนที่เก่งในการชักชวนผู้คนให้ยอมรับใช้งานเทคนิค ที่ตนเอง และพรรคพวกสร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งเกี่ยวโยงใกล้ชิดกับทักษะทางเทคนิค คือถ้าเก่งเทคนิคถึงระดับหนึ่ง จนได้ใบเซอร์จากเจ้าของเทคโนโลยี และถ้ามีทักษะการชักชวนที่ดีพอ โอกาสที่ผู้คนจะยอมเชื่อยอมใช้เทคนิคนั้นย่อมมีมากขึ้น เพราะชักชวนโดยคนที่เชื่อได้ว่ามีเครดิตดีในเรื่องนั้น แต่ถ้าเจอปัญหาเทคนิค แล้วท่านเอาแต่สวดมนต์ โดยหวังให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ช่วยปัดเป่าปัญหาเทคนิคนั้นให้ยุติลงไป คงไม่ใช่วิธีการชักชวนที่มีเครดิตดีแน่ ๆ เพราะน้อยคนนักที่จะเชื่อวิธีชักชวนแบบนี้

ทักษะที่สาม เป็นทักษะการร่วมการงานกับคนอื่น ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นเจ้านาย เป็นลูกน้อง แต่หมายถึงการช่วยกันทำ แต่ก่อนนั้น คนอาจทำงานดี ๆให้บริษัท เพราะบริษัทให้ค่าตอบแทนที่ดี บริษัทให้การงานที่มั่นคง แต่วันนี้ คนทำงานให้คนที่ตนเองมีความผูกพัน ไม่ใช่การบังคับบัญชา แต่เป็นการเกลี้ยกล่อมให้ช่วยกันทุ่มเททำงานให้ประสบความสำเร็จ ชักชวนผู้คนให้ใช้เทคนิคของตนเองได้

ทักษะที่สี่ ได้แก่การปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงได้ดี โดยยังคงสามารถรักษาแก่นความเก่งของตนไว้ได้ ถ้าต้องปรับเปลี่ยนตรงไหนก็ขยับตัวได้เร็ว ตั้งแต่เปลี่ยนวิธีทำงานใดงานหนึ่ง เปลี่ยนรูปแบบองค์กร จัดทัพจัดทีมกันใหม่ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น ทักษะนี้จำเป็นมากสำหรับการทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับเทคนิคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อเทคนิคเปลี่ยน ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีทำงาน เปลี่ยนรูปแบบองค์กร รวมไปถึงเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ที่มองไปข้างหน้า ที่น่าจะสอดคล้องเทคนิคใหม่ที่เกิดขึ้น

ทักษะที่ห้า คือทักษะการบริหารเวลา บอกใครต่อใครว่าจะทำอะไรแล้วเสร็จในวันไหน ก็ต้องบริหารเวลาให้ได้ตามนั้น บอกว่าจะทำอะไรในเดือนกุมภา ก็ควรจะบริหารเวลาให้ได้ตามที่บอกไว้ ไม่งั้นจะกลายเป็นคนที่ไม่มีทักษะการบริหารเวลา แม้ว่าจะมีเพื่อนฝูงที่มีนาฬิกาเยอะแยะก็ตาม