ไม่อยากให้สงครามการค้า กลายเป็นสงครามค่าเงิน

ไม่อยากให้สงครามการค้า กลายเป็นสงครามค่าเงิน

ตัวเลขเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐ จีน และยุโรปล่าสุด ชี้ชัดเจนว่า เศรษฐกิจโลกตอนนี้อยู่ในช่วงขาลง เป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ของธนาคารกลางสหรัฐ ที่กระทบเศรษฐกิจ ผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ลดปริมาณการค้าโลก และการปรับลดลงของตลาดหุ้นทั่วโลกที่กระทบความมั่งคั่งและอำนาจซื้อ นำมาสู่การชะลอตัวของการใช้จ่ายและการลงทุน การวิเคราะห์ในตลาดการเงินขณะนี้มองว่า แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกคงจะมีต่อไป และอาจรุนแรงขึ้น ทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยจากนี้ไป จึงเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ เพราะประเทศหลักในเศรษฐกิจโลก คือ ทั้งสหรัฐ จีน และยุโรป กำลังอยู่ภาวะชะลอตัวพร้อมกัน ไม่มีประเทศไหนเหลืออยู่ที่จะเป็นหัวรถจักรให้เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว

ประเทศที่ถูกกระทบมากขณะนี้ คือ จีน ที่ตลาดหุ้นได้ปรับลดลงไปแล้วมากกว่า 20 - 30 เปอร์เซนต์ จากระดับช่วงต้นปี 2018 ขณะที่เครื่องชี้วัดด้านการผลิตล่าสุดก็อ่อนตัวลงมาก เช่น ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงไปที่ระดับ 49.7 ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว จากระดับ 50.2 เดือนก่อนหน้า ภาวะดังกล่าวทำให้ทางการจีนต้องเร่งใช้นโยบายการเงินและการคลังกระตุ้นการขยายตัวเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดทางการจีนก็ได้ปรับลดอัตราเงินสดสำรองในระบบธนาคารพาณิชย์ลงอีก เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องให้กับระบบการเงินของตน สหรัฐก็เช่นกันที่คงต้องชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น จากนี้ไปเราจะเห็นทั้งสหรัฐและจีน ต่างจะให้ความสำคัญกับการผ่อนคลายนโยบายการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เท่าที่จะทำได้ตามพื้นที่นโยบายที่แต่ละประเทศมี ตามเงื่อนไขการดำเนินนโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนมาก

แต่ที่ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะจะเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ก็คือ การใช้การลดค่าเงินเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการส่งออกและการผลิตในประเทศ ในประเด็นนี้จุดที่ต้องเฝ้าระวังก็คือ จีนที่เงินหยวนของจีนสามารถรักษาค่าไว้ได้อย่างค่อนข้างมีเสถียรภาพ ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา แม้ตลาดหุ้นในประเทศจีนจะปรับลดลงกว่า 20 – 30 เปอร์เซนต์จากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ คือ เงินหยวนอ่อนค่าลงเพียง 4.5 เปอร์เซนต์เทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐ ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ เทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ที่ค่าเงินอ่อนค่าลงมาก ความมีเสถียรภาพนี้คงเกิดจากความตั้งใจของทางการจีนที่ไม่ต้องการให้เงินหยวนอ่อนค่าลงมาก เพราะไม่ต้องการใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จากที่การอ่อนค่าของเงินหยวน ถ้ามากจะมีผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียและตลาดการเงินโลก

ที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนห่วงกันขณะนี้ คือ ถ้าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนไม่มีข้อยุติในช่วง 2 เดือนข้างหน้า คือ ไม่สามารถตกลงกันได้ และสหรัฐตัดสินใจที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนร้อยละ 25 เป็นการทั่วไปอย่างที่ได้พูดไว้ จีนก็คงตอบโต้แน่นอน และการตอบโต้ของจีนคราวนี้อาจรวมถึงการไม่เข้าไปพยุงค่าเงินหยวนช่วงเกิดเงินทุนไหลออก แต่ปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลง ซึ่งหมายถึงยอมให้เงินหยวนปรับตัวในทางอ่อนค่าตามกลไกตลาด เพื่อใช้ประโยชน์ของค่าเงินที่อ่อนกระตุ้นการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากมาตรการภาษีของสหรัฐ และที่วิตกกันก็คือ การอ่อนค่าของเงินหยวนถ้ามากจะส่งผลกระทบแรงต่อเศรษฐกิจโลก อย่างน้อยสามด้าน

หนึ่ง สหรัฐคงกล่าวหาจีนว่าใช้การบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และคงจะตอบโต้โดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในระดับที่สูงขึ้นอีก รวมถึงกีดกันการนำเข้าสินค้าจากจีนบางประเภท คือห้ามนำเข้าสินค้าจากจีนบางรายการ อีกด้านหนึ่งสหรัฐอาจผ่อนคลายนโยบายการเงินของตนมากขึ้น คือจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เป็นแนวโน้มขณะนี้ เป็นการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้เงินดอลล่าร์สหรัฐอ่อนค่าลง กลายเป็นการทำสงครามค่าเงินอย่างเปิดเผย การตอบโต้ในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะกลไกพหุภาคีขององค์การการค้าโลกที่ดูแลระเบียบการค้าโลกปัจจุบันไม่ทำงาน ทำให้ไม่สามารถควบคุมประเทศใหญ่อย่างสหรัฐได้ กลายเป็นสงครามค่าเงินเต็มรูปแบบ

สอง การอ่อนค่าของเงินหยวนจะส่งผลให้ตลาดการเงินโลกปรับตัวลดลง โดยเฉพาะตลาดหุ้นจากภาวะความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นตามมาทั้งในแง่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและทิศทางของเศรษฐกิจโลก การลดค่าเงินหยวนเคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 และการลดค่าเงินก็ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตกอย่างรุนแรง ทำลายมูลค่าของบริษัทจดทะเบียนและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท สำหรับจีนเอง การอ่อนค่าของเงินหยวนก็จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นจีนเช่นกันจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ ทำให้ทางการจีนคงต้องใช้มาตราการควบคุมสกัดการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศอย่างที่จีนเคยทำ ซี่งจะกระทบความเชื่อมั่นและการทำงานของกลไกตลาดในตลาดหุ้นจีนที่นักลงทุนจะไม่สามารถเคลื่อนย้ายเงินลงทุนได้

สาม การอ่อนค่าของเงินหยวนจะทำให้ค่าเงินของประเทศในภูมิภาคเอเชียอ่อนค่าลงตาม ทั้งจากประเด็นความสามารถในการแข่งขัน และจากความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลกที่มีมากขึ้น สร้างแรงกดดันให้เกิดเงินทุนไหลออกจากภูมิภาค อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้น ทำให้ธนาคารกลางจะพยายามประคับประคองการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยน โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจ สร้างปัญหาหนี้เสียและบั่นทอนความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ นำมาสู่ความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้และวิกฤติเศรษฐกิจ ที่จะสร้างความเสียหายอย่างมากต่อเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย

ทั้งหมด คือ ขั้นตอนความเป็นไปได้ของสถานการณ์เศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นที่จะเปลี่ยนภาวะปัจจุบันจากความไม่แน่นอนเป็นความเสียหายที่รุนแรง ถ้าสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐแปรสภาพเป็นสงครามค่าเงิน

ดังนั้น จะเห็นว่า เศรษฐกิจโลกขณะนี้อยู่ในภาวะที่อ่อนไหวมาก ที่ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกมีอยู่อาจนำไปสู่การเกิดปัญหารุนแรงได้ ถ้าผู้ทำนโนบายเลือกดำเนินนโยบายที่ไม่ถูกต้อง ผิดพลาด นำไปสู่การเกิดสงครามค่าเงินที่จะสร้างผลเสียหายอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งในอดีตก็เคยเกิดขึ้นและก็จบลงด้วยการเกิดสงครามโลก ซึ่งทั้งสหรัฐและจีนทราบดี

ดังนั้น ที่ทุกคนหวังขณะนี้ ก็คือ อดีตจะเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการทำนโยบาย และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนจะสามารถหาข้อยุติได้ ไม่นำไปสู่สงครามค่าเงินที่จะสร้างความเสียหาย ความหวังนี้มีอยู่แม้จะรู้ดีว่า ลึกๆ แล้ว เรื่องทั้งหมดไม่ได้มาจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน แต่มาจากการแข่งกันเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกระหว่างสหรัฐและจีน นำโดยฝ่ายการเมืองของทั้งสองประเทศ