สิทธิประโยชน์ของลูกจ้างตามร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่

สิทธิประโยชน์ของลูกจ้างตามร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติเห็นชอบประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ...)

เป็นกฎหมาย และจะมีผลใช้บังคับในเดือน ก.พ.2562 กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่นี้ มีเจตนารมณ์ในการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันและเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่ลูกจ้าง โดยกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่มีสาระสำคัญบางประการดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 มีการปรับอัตราค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามมาตรา 118 จาก 5 อัตรา เป็น 6 อัตราตามระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง โดยเพิ่มอัตราที่ 6 คือ หากทำงานติดต่อกันครบ 20 ปี จะได้รับค่าชดเชย 400 วัน ส่วนอัตราค่าชดเชยในช่วงอายุงานอื่นๆ ยังคงเดิม เห็นได้ว่ากฎหมายใหม่คำนึงถึงลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างมาเป็นเวลายาวนาน ให้ได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างที่สมควรและเพื่อสร้างหลักประกันรายได้เมื่อต้องออกจากงานขณะเป็นผู้สูงอายุ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองลูกจ้างให้เพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้างที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยมิได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 เช่น ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญา หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันควร เป็นต้น

ประการที่ 2 กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ มาตรา 34 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และมาตรา 57/1 แก้ไขให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นตามมาตรา 34 เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 3 วันทำงาน ส่วนกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับปัจจุบันบัญญัติแต่เพียงว่าการลาเพื่อกิจธุระให้เป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งหมายความว่านายจ้างมีสิทธิกำหนดจำนวนวันและเงื่อนไขในการลาได้ด้วยตนเองเพียงฝ่ายเดียว และถ้าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานมิได้กำหนดไว้ ลูกจ้างก็จะไม่มีสิทธิลาเพื่อกิจธุระ ดังนี้ เห็นได้ว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ได้สร้างความชัดเจนและความเป็นธรรมแก่ลูกจ้างมากขึ้นในแง่ของจำนวนวันลาและการจ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น

ประการที่ 3 มาตรา 41 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่บัญญัติเพิ่มสิทธิให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ มีสิทธิลาคลอดบุตรครรภ์ละไม่เกิน 98 วัน โดยให้นับรวมการลาเพื่อตรวจครรภ์และลาเพื่อคลอดบุตรใน 98 วัน และมาตรา 59 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อคลอดบุตรตามมาตรา 41 เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน ส่วนกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับปัจจุบันกำหนดให้สิทธิลาคลอดบุตรครรภ์ละไม่เกิน 90 วัน โดยกฎหมายใหม่มีวัตถุประสงค์ในการขยายระยะเวลาลาคลอดเป็น 98 วันเพื่อให้สอดคล้องกับ มาตรา 4 อนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดา (Maternity Protection Convention 2000 (No.183)) ที่กำหนดให้ภาครัฐต้องดูแลหญิงตั้งครรภ์ ระหว่างคลอดและหลังคลอด และต้องให้วันหยุดมารดาหลังคลอดเป็นเวลา 14 สัปดาห์

ประการที่ 4 กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่มีการกำหนดให้สิทธิระหว่างชายหญิงเท่าเทียมกันในมาตรา 53 มีสาระสำคัญคือให้นายจ้างกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานอันมีลักษณะ คุณภาพ และปริมาณเท่ากัน หรืองานที่มีค่าเท่าเทียมกันในอัตราเท่ากันไม่ว่าลูกจ้างนั้นจะเป็นชายหรือหญิง บทบัญญัตินี้ถูกแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 100 ว่าด้วยค่าตอบแทนที่เท่ากัน (Equal Remuneration Convention 1951 (No.100)) ที่ให้นิยามของคำว่า “ค่าตอบแทนเท่ากันสำหรับลูกจ้างชายและหญิงซึ่งทำงานที่มีค่าเท่ากัน” หมายถึง อัตราค่าตอบแทนที่กำหนดขึ้น โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติอันเนื่องจากความแตกต่างทางเพศ

ประการที่ มาตรา 13 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่มีการบัญญัติถึงกรณีเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง หรือกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล และมีการเปลี่ยนแปลง โอน หรือควบกับนิติบุคคลใด และมีผลให้ลูกจ้างต้องไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ การเปลี่ยนแปลงเจ้าของใหม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน และให้นายจ้างใหม่ต้องรับทั้งสิทธิและหน้าที่ที่ลูกจ้างมีอยู่เดิมนั้นตามไปด้วยทุกประการ ขณะที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับปัจจุบันไม่มีการกำหนดให้ต้องขอความยินยอมจากลูกจ้างแต่อย่างใดในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างเนื่องจากการโอนรับมรดกหรือในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลและมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โอน หรือควบกับนิติบุคคลใด ดังนี้เห็นได้ว่าตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ หากลูกจ้างไม่ยินยอมก็สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ และมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย

เมื่อพิจารณาถึงบทบัญญัติข้างต้นพบว่าวัตถุประสงค์ของการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน คือ ต้องการขยายการคุ้มครองลูกจ้างเพื่อได้รับความคุ้มครองตามสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิการลาคลอดของหญิงตั้งครรภ์ การกำหนดจำนวนวันลาเพื่อกิจธุระ และยังเป็นการเพิ่มมาตรฐานการคุ้มครองลูกจ้างให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การคุ้มครองแรงงานสากล อันจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตและความมั่นคงของลูกจ้าง อีกทั้งยังถือเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

โดย... 

ชญานี ศรีกระจ่าง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์