ต้องมีเงินเท่าไร ถึงจะซื้ออากาศหายใจได้?

ต้องมีเงินเท่าไร ถึงจะซื้ออากาศหายใจได้?

สวัสดีปีใหม่ครับ เปิดปีใหม่มา ตอนแรกผมก็เข้าใจผิดว่าอากาศช่วงนี้หนาวจนหมอกลง

แต่อย่างที่ทุกท่านทราบกันแล้วก็คือ สิ่งที่คนกรุงเห็นกันทุกวันนี้มันไม่ใช่หมอกที่งดงามและทำให้เยือกเย็น แต่มันคืออากาศเปื้อนฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีค่ามาตรฐานที่ 50 หน่วย (มคก./ลบ.ม.) แต่อากาศกทม.เราพุ่งขึ้นสูงแตะหลักร้อยหน่วยแล้ว และทำให้วันนี้กทม.เราติด TOP 10 ของเมืองที่คุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก

ค่า PM 2.5 ที่สูงระดับนี้เป็นอันตรายร้ายแรงกับร่างกายมนุษย์ หากสูดดมเข้าไปในระยะแรกนั้น จะทำให้มีอาการ ระคายเคือง แสบจมูก มีเสมหะ และในระยะยาวอาจส่งผลให้ป่วยเป็นโรคอ้วน จนกระทั่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่ปอด และโรคหลอดเลือดหัวใจในที่สุด

อากาศกรุงเทพในนาทีนี้ถือว่านำมาใช้หายใจไม่ได้แล้วครับ ซึ่งผมมองว่าปัญหาอากาศเปื้อนฝุ่นแรงสูงนี้สำคัญที่สุดในการดำรงชีพแล้ว เพราะเป็นปัญหาที่กระทบเข้าจมูกจนถึงในปอดโดยตรง และเดือดร้อนกับทุกคนที่ยังมีลมหายใจอยู่ไม่ว่าท่านจะรวยหรือจน ก็ต้องหายใจด้วยอากาศเดียวกันนี้

 แหล่งที่มาของฝุ่น PM 2.5 มาจาก ไอเสียของรถยนต์ดีเซล เช่นรถปิกอัพ รถเมล์ รถบรรทุก โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การเผาสิ่งต่างๆ, และฝุนทุติยภูมิซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของก๊าซในอากาศ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ตามหลักการแล้ว ต้องได้รับการดูแลและควบคุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลักๆ ไม่ว่าจะเป็น กรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งงบประมาณต่อปีรวมกันตกประมาณ 4,600 ล้านบาท ยังไม่รวมกรุงเทพมหานครที่รับผิดชอบภาพรวมของคนกรุง

 แล้วเราต้องรวมเงินภาษีจ่ายกันเพิ่มคนละเท่าไรถึงจะซื้ออากาศบริสุทธิ์ได้?

 แน่นอนว่าแต่ละหน่วยงานก็มีภาระกิจที่หลากหลาย งบประมาณจำนวนดังกล่าวต้องถูกแบ่งไปแก้ไขปัญหาตามลำดับความสำคัญ แต่ธรรมชาติของคนเรา ถ้าปัญหาไม่เกิดผลกระทบวงกว้างจนมีคนช่วยกันส่งเสียง หรือออกมาเตือนความจำกันเป็นระยะๆ บางทีคนทำงานอาจจัดลำดับความสำคัญพลาดไปจนปัญหาลุกลามเหมือนในกรณีนี้ และสุดท้ายมันก็ย้อนกลับไปสร้างปัญหาให้คนทำงานเอง

 หัวใจสำคัญหนึ่งที่จะคอยแก้ไขปัญหาตามลำดับความสำคัญได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระดับธุรกิจและระดับประเทศได้ คือการที่ต้องคอย (1) Monitor-ควบคุมดูแล เพื่อทราบสถานการณ์และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอดีต และ (2) Forecast-พยากรณ์เพื่อคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ให้เตรียมแนวทางแก้ไขได้ทันท่วงที ด้วยข้อมูลลงลึกไปถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง และมีความเชื่อมโยงกัน

...ถ้าระบบข้อมูลแจ้งเตือนปริมาณรถยนต์ดีเซล​ที่ผลิตไอเสียจำนวนมากจนเกินไปทำงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ทำงานรัดกุมขึ้น วันนี้รถยนต์ดีเซลที่ผลิตไอเสียก็จะมีไม่มากขนาดนี้

...ถ้าระบบข้อมูลแจ้งเตือนโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตฝุ่นจำนวนมากจนเกินไปทำงาน วันนี้โรงงานอุตสาหกรรมก็สามารถหาทางจัดการฝุ่นของตนได้ดีกว่านี้

 ...ถ้าระบบข้อมูลแจ้งเตือนปริมาณไซต์งานก่อสร้างไม่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันจนกระจุกตัวมากเกินไปทำงาน วันนี้ประชาชนก็ไม่ต้องเจอกับการเดินไปทางไหนก็เจอแต่สิ่งก่อสร้างและฝุ่นติดต่อกันอย่างไม่รู้จักจบ

 ...ถ้าระบบข้อมูลการจัดลำดับความสำคัญของการใช้เงินภาษีของประชาชนว่าได้รับการจัดสรรลำดับก่อนหลังอย่างไรทำงาน วันนี้ประชาชนเองก็สามารถร่วมเสนอจัดลำดับความสำคัญได้ว่าเราอยากให้นำเงินของเรามาใช้พัฒนาอะไรให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้นก่อน

...และถ้าทุกระบบข้อมูลทำงานประสานกัน วันนี้เราคงไม่ต้องเฝ้าดูกราฟ AQI เป็นสีแดง แต่ทำอะไรไม่ได้นอกจากทำใจใส่หน้ากากทุกครั้งที่เดินออกจากบ้านหรือออฟฟิส

ปีที่ผ่านมา ผมเคยเขียนถึงเรื่อง Data Economy อยู่ 2 บท ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากท่านผู้อ่าน และปีนี้เป็นปีที่แทบจะทุกหน่วยงานให้ความสนใจและตื่นตัวเรื่องของการนำข้อมูลมาบูรณาการให้เกิดประโยชน์ และกำลังจะเดินหน้าเต็มสูบในการทำเรื่อง Big Data ผมจึงอยากมาแชร์ประสบการณ์แบบเต็มๆ ทั้งเทคนิค กรณีศึกษา มุมมองการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลายท่านเคยเก็บไว้มานานแล้ว แต่อาจนึกไม่ถึงว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มหาศาล ให้เป็นประโยชน์ทั้งด้านการเงิน การจัดการ การตลาด และกลยุทธ์เพื่อให้เกิดกำไรสูงสุดต่อธุรกิจของท่าน ในซีรีส์ “เศรษฐกิจข้อมูล กับ ดร.เรือบิน” นี้นะครับ