เหตุเกิดจาก “กำแพง”

เหตุเกิดจาก “กำแพง”

การงัดข้อกันระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯกับแกนนำพรรคเดโมแครตในสภาคองเกรส ในการบรรจุงบประมาณก่อสร้างกำแพงสหรัฐฯ-เม็กซิโกไว้ในงบประมาณ

จนส่งผลให้หน่วยงานรัฐบาลกลางบางส่วนต้องปิดทำการลงเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำให้หลายคนเริ่มสงสัยกันว่า “กำแพง” ที่ว่ามีดีเพียงใดกัน จึงทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯดึงดันที่จะสร้างขึ้นให้ได้

อันที่จริงในประวัติศาสตร์ มีกำแพงที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกที่เรารู้จักกันดี นั่นคือ กำแพงเมืองจีน และกำแพงเบอร์ลิน เราลองมาดูกันว่ากำแพงทั้ง 2 แห่งที่ว่านี้มีประโยชน์ และคุ้มค่าเพียงใดเมื่อเทียบกับกำแพงของทรัมป์

กำแพงเมืองจีนมีระยะทางรวมกันทั้งสิ้น 21,196 กม. หรือเท่ากับขับรถไปกลับแม่สาย – เบตง ประมาณ 5 รอบ มีความสูงอยู่ในช่วง 5 – 8 ม. ถูกสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการรุกรานของชนเผ่าซยงหนู ซึ่งตั้งรกรากอยู่ด้านเหนือของประเทศจีน และทำให้การเก็บภาษีสินค้าจากการเดินทางค้าขายตามเส้นทางสายไหมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยควบคุมการอพยพของผู้คนด้วย แม้ว่ากำแพงเมืองจีน (ซึ่งสร้างด้วยเลือดเนื้อและน้ำตา ของคนหลายยุคหลายสมัย) จะช่วยให้จีนรอดพ้นจากการรุกรานมาได้เป็นเวลานาน แต่ในที่สุดแล้ว ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการเข้ายึดครองของชนเผ่าแมนจูไปได้ เพราะแม้จะมีกำแพง แต่หากขาดการบริหารจัดการประเทศที่ดี และความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน กำแพงที่แข็งแกร่ง ก็ถูกเปิดออกได้โดยขุนพลผู้แปรพักตร์นั่นเอง

สำหรับกำแพงเบอร์ลิน เป็นกำแพงที่สร้างขึ้นในยุคสงครามเย็น เพื่อป้องกันการข้ามเขตแดนของคนเยอรมันตะวันออก ไปยังเยอรมันตะวันตก โดยมีความยาวทั้งสิ้น 155 กม. และสูง 3.6 ม. แม้จะมีระยะทางไม่ยาวนัก แต่เนื่องจากมีวัตถุประสงค์เพื่อขวางกั้นความพยายามหนีไปยังโลกเสรีโดยตรง  จึงต้องมีหอคอยสำหรับตรวจตราอีก 302 แห่ง และมีการวางกับระเบิดไว้โดยรอบอีกถึง 55,000 ลูก ยังไม่รวมทหารซึ่งได้รับอนุญาตให้ยิงคนที่พยายามข้ามพรมแดนได้ทันที โดยตลอดระยะเวลา 28 ปี คาดว่ามีคนที่ประสบความสำเร็จในการหนีข้ามกำแพงกว่า 5 พันคน (ในจำนวนนี้ เป็นการ์ดที่เฝ้ากำแพงถึง 1,300 คน) และถูกฆ่าคากำแพงอีกประมาณ 192 – 239 คน โดยในที่สุดแล้ว กำแพงแห่งความอัปยศนี้ก็ถูกทำลายลงอย่างราบคาบภายหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น นับได้ว่าเป็นกำแพงที่ใช้ต้นทุนมหาศาลในการสร้าง และดูแลรักษา โดยไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้กับมนุษยชาติเลยก็ว่าได้

กลับมาที่กำแพงของประธานาธิบดีทรัมป์กันบ้าง จริงๆแล้วสหรัฐฯและเม็กซิโกมีรั้วกั้นอยู่แล้วเป็นระยะทาง 1,044.46 กม. ตาม พรบ. รั้วเพื่อความมั่นคงของสหรัฐฯ (Secure Fence Act of 2006) ออกในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้ลูก โดยมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันผู้อพยพชาวเม็กซิโกเข้าประเทศเช่นเดียวกัน มีต้นทุนในการสร้างประมาณ 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอีกประมาณ 1 พันล้านเหรียญฯตลอด 20 ปีข้างหน้า ไม่นับรวมต้นทุนการลาดตระเวน และการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตรวจจับ ซึ่งรั้วที่ว่านี้ก็มิได้ทำให้ผู้อพยพลดละความพยายามแต่อย่างใด โดยในระหว่างปี 2010 – 2015 มีรายงานการบุกรุกถึง 9,287 ครั้ง และมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรั้วเป็นจำนวนเงินเฉลี่ย 784 เหรียญฯต่อการบุกรุกแต่ละครั้ง

นอกจากนี้ งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ระบุว่าระหว่างปี 2006 – 2010 รั้วนี้สามารถลดจำนวนผู้อพยพลงเพียง 0.6% หรือ 83,000 คนเท่านั้น ทั้งยังส่งผลให้รายได้ของแรงงานอเมริกันที่จบมหาวิทยาลัยลดลง 4.35 เหรียญฯ/ปี ในขณะที่แรงงานอเมริกันที่มีการศึกษาต่ำกว่านั้น ได้ประโยชน์เฉลี่ยเพียง 36 เซนต์/คนเท่านั้น โดยการศึกษานี้พิจารณาทั้งผลกระทบโดยตรงจากการสร้างกำแพง ที่มีผลต่อต้นทุนการอพยพ และผลกระทบโดยอ้อมที่มีต่อแรงงาน ผ่านเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งสรุปได้ว่า “ต้นทุนการสร้างกำแพงนั้นสูงกว่าประโยชน์ที่ได้รับ แม้เมื่อพิจารณาถึงแรงงานอเมริกันที่ด้อยทักษะแล้วก็ตาม”

แค่รั้วยังไม่คุ้มขนาดนี้ แล้วกำแพงของประธานาธิบดีทรัมป์ที่มีระยะทางกว่า 3,200 กม. สร้างด้วยเหล็กกล้า และมีความสูงเกือบ 17 เมตร ยิ่งสร้างความสงกาให้กับผู้คนว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯมากกว่ากัน

คงต้องจับตาดูกันต่อไป ว่ากำแพงนี้จะเป็นอีกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ด้านใดต่อไปในอนาคต