เก่งขึ้นบนตัวตนที่แท้จริง

เก่งขึ้นบนตัวตนที่แท้จริง

ใครๆ ก็อยากเก่งมากขึ้น แต่ถ้าพยายามเก่งตามกระแส จะเป็นความเก่งที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง เมื่อวานบอกว่าเก่งคอมพิวเตอร์ แต่ใช้สเปรดชีท

แต่ใช้สเปรดชีทเหมือนเครื่องคิดเลข วันนี้บอกว่าเก่งใช้สมาร์ทโฟน แต่ใช้แอปแบบพื้นๆ พรุ่งนี้บอกว่าเก่งเอไอ แต่ทำได้แค่ใช้แอปแต่งรูปภาพเซลฟี เป็นเพียงความรู้สึกว่าฉันเก่ง เพราะเป็นความเก่งที่ไม่ได้อยู่บนตัวตนที่แท้จริงของตนเอง

ความเก่งหลายเรื่องที่เกี่ยวกับไฮเทค เป็นความเก่งที่ขึ้นต้นจากตัวตนที่เป็นคนละเอียดละออ เป็นคนที่แม่นยำ เป็นคนที่อุตสาหะต่อสู้กับความยากลำบาก บวกกับตัวตนที่ชื่นชมการผจญภัยนานาประการ เช่น จะทำให้รถไฟวิ่งเร็วมากๆ บนรางได้นั้น คนทำต้องมีตัวตนที่เคร่งครัดในความละเอียด ความแม่นยำ ไม่งั้นรางไม่ราบเรียบเพียงพอที่จะทำให้ไม่สะดุดเล็ก สะดุดน้อย เวลาที่รถไฟวิ่งเร็วมากๆ ถ้าตัวตนเป็นคนไม่แม่นยำ ไม่ละเอียด และไม่บากบั่น จะได้รางรถไฟที่มองไกลๆ เหมือนของเขา แต่ส่องดูในรายละเอียดแล้วจะเห็นร่องรอยความไม่ราบลื่น ไม่สม่ำเสมอเต็มไปหมด มหภาคเราจะทำเป็นเก่งอะไรก็ได้ แต่พอลงไปถึงจุลภาค จะเห็นว่าอะไรคือเก่งจริง อะไรคือรู้สึกว่าเก่ง อยากเก่งอะไรให้หาดูตัวตนของตนเอง ให้ลึกลงไปถึงระดับจุลภาค หาให้เจอว่าเสาเข็มของความเป็นตัวตนของเรา จะรองรับความเก่งในเรื่องใดได้บ้าง

บ้านเรากับญี่ปุ่นใช้ตำราการเดินสายโทรคมนาคมเกือบจะเป็นตำราเดียวกัน ตอนเริ่มต้นกิจการโทรศัพท์พื้นฐานเมื่อหลายสิบปีก่อน ญี่ปุ่นก็มาถ่ายทอดความรู้ให้กับคนทำงานขององค์กรแห่งหนึ่งที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน แต่พอเดินดูตามเสาไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น สายโทรศัพท์ สายไฟเบอร์ออปติก ไม่รุงรัง ในขณะที่บ้านเราเดินไปทางไหนก็มีทัศนะอุจาดของสายสื่อสารให้เห็นกันจนรู้สึกว่าเป็นปกติ ฝึกมาจากตำราเดียวกัน แต่ผลงานต่างกันสิ้นเชิง ใช้งานได้เหมือนบ้านเขา แต่ภาพสายสื่อสารที่เห็นน่าเกลียดกว่าบ้านเขาเยอะ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำงานเดียวกัน บนตัวตนที่แตกต่างกัน บ้านเขาตัวตนคือละเอียดปราณีต บ้านเราคือเรียบง่าย ใช้ได้ก็พอแล้ว ดังนั้น การเลือกความเก่งที่อยากสร้างใหม่ให้ตนเองนั้น อย่าพยายามเลือกอะไรที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนเสาเข็มของตัวเราเอง ถ้าเป็นแค่เรียบง่าย อย่าตะกายไปไฮเทค เพราะตะกายแค่ไหน ก็ได้แค่เรียบ และง่าย ไม่ได้ละเอียด และปราณีต

ถ้าอยากเก่งใหม่อะไรสักอย่าง คงต้องเริ่มด้วยการค้นหาให้เจอก่อนว่าความเก่งใหม่ที่อยากมีอยากเป็นนั้นอยู่บนพื้นฐานอะไรแน่ๆ ต้องดูลึกลงไปถึงจุลภาค ถึงระดับไมโคร อย่าดูแค่มหภาคเห็นแค่ว่าเป็นอย่างไร ค้นหาจากอินเทอร์เน็ต ถามผู้รู้ ดูคำวิจารณ์ให้เห็นจริงๆ ให้ได้ว่าความเก่งนั้นต้องมีพื้นฐานอะไรบ้าง อยากเก่งเขียนโปรแกรม รากฐานคือการคิด การทำเป็นขั้นเป็นตอน อดทนกับความจำเจได้ อยากเก่งไฮเทค รากฐานคือความละเอียด แม่นยำ และการท้าทาย อยากเก่งออกแบบ รากฐานคือใส่ใจในความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น ดูอะไรลึกกว่าคนอื่น รากฐานของความเก่งใหม่ ๆ หาได้จากวงการบริหารงานบุคคล ที่มีการประเมินความถนัดในอาชีพต่างๆ คล้ายๆ กับที่ลูกหลานอยากเรียนหมอ เรียนวิศวะ ต้องมีการทดสอบความถนัดในอาชีพดังกล่าว เพียงแต่การทดสอบเข้าเรียนต่อ มักเป็นการใช้ข้อสอบเป็นหลัก เลยมีการกวดวิชาความถนัดกันให้เห็น กวดวิชากันไปทดสอบความถนัดในอาชีพ สอบได้จากการกวดวิชา เรียนจบมาได้ก็ไม่ทำอาชีพนั้น เพราะไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของตนเอง เป็นตัวตนจากการกวดวิชา

เมื่อหาเจอแล้วว่าความเก่งนั้นมีพื้่นฐานคืออะไร ก็ย้อนมาดูตนเอง โดยการประเมินความถนัดของตัวเราเอง ซึ่งพอหาได้บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งได้ผลที่ไม่แม่นยำเท่ากับเครื่องมือประเมินที่ใช้กันในวงการบริหารงานบุคคล ซึ่งแพงมากๆ วิธีง่าย กว่านั้น คือนึกดูว่าคนรอบตัวเขาชมเราในเรื่องอะไรบ้าง ที่เป็นพื้นฐานจริงๆ ชมว่าเราละเอียด ชมว่าเราสร้างสรรค์ ชมว่าวิเคราะห์เก่ง เป็นต้น

ถ้าเขาชมว่าแต่งเพลงเก่ง ก็ให้สร้างความเก่งไปในทางอื่นที่ไม่ใช่การบริหารงานใหญ่งานโต