ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน

ปัจจุบันมีการคาดการณ์กันอย่างแพร่หลายว่า การเจรจาการค้าระหว่าง สหรัฐกับจีน จะประสบความสำเร็จ และนำไปสู่

การมีข้อตกลงเพื่อสงบศึกการค้าได้ในเร็ววันนี้ เพราะประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นห่วงเรื่องราคาหุ้นปรับตัวลดลง และอยากให้จีนซื้อสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ก็คงจะยอมหาข้อสรุปกับจีนให้ได้ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า ประเด็น คือ เมื่อทั้งสองประเทศยักษ์ใหญ่เริ่ม เจ็บตัวก็จะสงบศึกได้ในที่สุด เพราะการร่วมมือกันเป็นเรื่อง win-win หรือ positive sum game 

ผมขอมองต่างมุม โดยดูจากตารางข้างต้นเปรียบเทียบตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐกับจีน ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา การเริ่มต้นที่ ปี 2000 ก็เพราะว่า ในปีต่อมา สหรัฐโดยประธานาธิบดีคลินตัน (พรรคเดโมแครท) เป็นแกนนำในการสนับสนุนให้จีน สามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (WTO) โดยเชื่อมั่นว่า จีนจะพัฒนาเศรษฐกิจให้ประชาชนมีความมั่งคั่งมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการขยายตลาดและธุรกิจสหรัฐ 

นอกจากนั้น จีนก็น่าจะพัฒนาเป็นประชาธิปไตยเหมือนประเทศตะวันตกมากขึ้น และเป็นพันธมิตรที่ดีของสหรัฐ อย่าลืมว่า เมื่อปี 2000 นั้นเป็นเวลาเพียง 10 ปี หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นคู่ปรปักษ์ (adversary) สำคัญของสหรัฐและก็ต้องยอมรับว่า ยุทธศาสตร์หนึ่งของสหรัฐที่ใช้กดดันสหภาพโซเวียตในช่วงก่อนหน้าคือ การที่สหรัฐปรับความสัมพันธ์กับจีน ตั้งแต่ปี 1979 สมัยประธานาธิบดีนิกสัน (พรรครีพับลิกัน) ซึ่งนำไปสู่พัฒนาการของความสัมพันธ์อันดี ระหว่างสหรัฐกับจีนเรื่อยมา จนกระทั่งสหรัฐสนับสนุนให้จีนเข้าเป็นภาคีของ WTO ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าการมองจีนในเชิงบวกและเป็นพันธมิตรนั้น เป็นความเห็นที่ตรงกัน ทั้งจากมุมมองของพรรคเดโมแครทและพรรครีพับลิกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน

จากปี 2000-2017 (ตัวเลขล่าสุด) จีดีพีของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว ในขณะที่จีดีพีสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว จีดีพีของจีนคิดเป็นสัดส่วนของจีดีพีโลกเพิ่มขึ้นจาก 3.6% มาเป็น 15% ในขณะที่สัดส่วนของจีดีพีสหรัฐลดลงจาก 24.1% เป็น 15.0% จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เชื่อว่า เศรษฐกิจจีนจะใหญ่เท่ากับเศรษฐกิจสหรัฐ ภายใน 10 ปีข้างหน้าและจะแซงหน้าเศรษฐกิจสหรัฐไปหลังจากนั้น จีนจะใช้เวลาไม่ถึง 30 ปีจากการที่เป็นเศรษฐกิจขนาดเพียง 1/9 ของสหรัฐมาเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เท่ากับสหรัฐในเชิงจีดีพี แต่ในด้านอื่นๆ มีศักยภาพสูงกว่าสหรัฐไปแล้ว เช่น

1.มีประชากรมากกว่าสหรัฐ (จีน 1,400 ล้านคน สหรัฐ 320 ล้านคน)

2.สามารถส่งออกสินค้าได้มากกว่าสหรัฐ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (สหรัฐส่งออก 1.5 ล้านล้านเหรียญ จีนส่งออก 2.4 ล้านล้านเหรียญ)

3.จีนพึ่งพาต่างประเทศ (นำเข้าสินค้า) น้อยกว่าสหรัฐคือจีนนำเข้า 1.8 ล้านล้านเหรียญ ในขณะที่สหรัฐนำเข้า 2.3 ล้านล้านเหรียญ

4.หากวัดจีดีพีแบบ PPP (purchasing power parity) หรือประเมินกำลังซื้อที่แท้จริงก็จะพบว่า จีดีพีของจีนสูงกว่าสหรัฐไปนานแล้วตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นไป

สิ่งที่จีนยังด้อยกว่าสหรัฐ คือ รายได้ต่อคนของประชากรยังต่ำกว่าสหรัฐมาก และศักยภาพของด้านเทคโนโลยี และการทหารนั้น จีนยังคงเป็นรองสหรัฐอยู่มาก

แต่ประเด็นหลักคือ ผู้นำจีน จึงน่าจะมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะคงสถานะปัจจุบันและแนวโน้มของความสัมพันธ์ไปอย่างนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย 10 ปี เพื่อให้จีนสามารถเทียบเคียงสหรัฐได้ในที่สุด ดังนั้น ผมจึงไม่แปลกใจว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจึงส่งสารถึงประธานาธิบดีทรัมป์ ในโอกาสครบรอบ 40 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐกับจีน ใจความว่า “History has proved that cooperation is the best choice for both sides”

ผมมั่นใจว่า การร่วมมือกันระหว่างสหรัฐกับจีนนั้น เป็นประโยชน์กับจีนอย่างแน่นอน แต่ผมไม่มั่นใจว่าสหรัฐจะเชื่อว่า ความสัมพันธ์เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้สหรัฐจะยอมรับได้หรือไม่ เพราะหากสหรัฐยอมให้เป็นไป เช่น ต่อไปอีก 10 ปีเศรษฐกิจจีนก็จะมีขนาดใหญ่เท่ากับสหรัฐ หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ ก็จะเห็นว่าสหรัฐไม่ได้เคยยอมให้ประเทศอื่นพัฒนาขึ้นมาเป็นหนึ่งมาเทียบเคียงกับสหรัฐได้ เช่น กรณีของสหภาพโวเวียตที่ต้องล่มสลายลงไปในปี 1990 และอีกกรณีหนึ่งคือประเทศญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจเริ่มขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 1980 มาเป็น 5 ล้านล้านเหรียญในปี 1990-1992 ก็ถูกสหรัฐใช้นโยบายการค้ากดดันให้ลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐและการประชุมจี 5 ในปี 1985 (Plaza Accord) กดดันให้ญี่ปุ่นทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นจากประมาณ 240 เยนต่อ 1 ดอลลาร์ มาเป็น 85 เยน เยนต่อ 1 ดอลลาร์ ในปี 1995 ซึ่งสกัดการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น (ประกอบกับการที่ประชากรญี่ปุ่นแก่ตัวอย่างรวดเร็ว) 3 ปัจจัยดังกล่าว (การถูกกีดกันทางการค้า การแข็งค่าของเงินเยน และการแก่ตัวของประชากร) เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้จีดีพีของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นสูงสุดประมาณ 5.4 ล้านล้านเหรียญในปี 1995 ซึ่งสูงกว่าปัจจุบันที่ประมาณ 4.8 ล้านล้านเหรียญ กล่าวคือในช่วงเกือบ 25 ปีที่ผ่านมาจีดีพีญี่ปุ่นไม่สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องเช่นประเทศอื่นๆ ได้เลย

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ จะต้องการแก้ปัญหาระยะสั้นและหาข้อตกลงกับจีนเพื่อสงบศึกทางการค้า แต่ผมเองไม่แน่ใจว่า กลุ่มผู้นำ (thought leaders) ในสหรัฐจะยอมรับสภาวะปัจจุบัน (status quo) และแนวโน้มของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนต่อไปได้ กล่าวคือ ผมเชื่อว่าสหรัฐน่าจะต้องการปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ (structural overhaul) ระหว่างสหรัฐกับจีน ดังเช่นที่เคยทำไปแล้วกับสหภาพโซเวียตและญี่ปุ่นครับ