ฟุตบอลกับการเมืองมาเลเซียยุคปัจจุบัน

ฟุตบอลกับการเมืองมาเลเซียยุคปัจจุบัน

เมื่อ 31 ต.ค.2018 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย สมาคมฟุตบอลแห่งมาเลเซีย(Football Association of Malaysia: FAM) ได้จัดประชุมครั้งสำคัญ

โดยมีจุดประสงค์ เพื่อการประกาศแผนการที่เรียกว่า “F:30”  ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะทำให้ฟุตบอลทีมชาติมาเลเซียเข้าสู่ระดับโลกให้ได้ภายใน ค.ศ. 2030 โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานเป็น 3 ช่วงเวลาที่สำคัญ คือ ระยะแรก ค.ศ. 2018-2022 รัฐบาลส่งเสริมความเข้มแข็งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่เกี่ยวกับฟุตบอลในทุกด้านๆ ระยะที่สอง ค.ศ. 2023 -2026 ยกระดับความสามารถการแข่งขันของทีมชาติมาเลเซียไปสู่แถวหน้าของเอเชีย ระยะที่สาม ค.ศ. 2027 - 2030ทีมชาติมาเลเซียก้าวสู่ทีมชั้นนำ 5 ทีมแรกของเอเชียและก้าวเข้าสู่เวทีการแข่งขันระดับโลก

การประชุมครั้งนี้มีบุคคลสำคัญในวงการฟุตบอลนานาชาติเข้าร่วมเป็นสักขีพยานจำนวนมาก อาทิ จิอันนีอินฟันติโน (GianniInfantino) ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ(ฟีฟ่า) ชีคซัลมานฮิบรอฮิมอัลคาลิฟา(Shaikh SalmanEbrahimAlKhalifa) ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย โดยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติและสหพันธ์ฟุตบอลเอเชียต่างประกาศว่า พร้อมให้การสนับสนุนแผนการดังกล่าวของสมาคมฟุบอลแห่งมาเลเซียเป็นอย่างดี

ย่างก้าวที่สำคัญของสมาคมฟุตบอลมาเลเซียในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากความตกต่ำอย่างรุนแรงของวงการในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยทีมชาติมาเลเซียมีคะแนนสะสมตกลงไปถึงลำดับที่ 169 จากจำนวนทั้งหมด 211 ชาติสมาชิกของ ฟีฟ่า แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวมิใช่ภาพสะท้อนที่แท้จริงของศักยภาพด้านการแข่งขันของทีมชาติเสมอไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันวงการฟุตบอลของมาเลเซีย ซึ่งที่ผ่านมา เคยได้รับความนิยมอย่างสูงจนสามารถจัดการแข่งขันฟุตบอลกึ่งอาชีพได้เป็นชาติแรกๆ ในเอเชีย ขณะที่ทีมชาติของพวกเขาเคยทำผลงานได้ดี ในการแข่งขันระดับสากล กลับต้องร้างลาจากความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมมาอย่างยาวนานเกินไป

ที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์ความล้มเหลวจากเหตุผลหลายประการ อาทิ การแทรกแซงผลการแข่งขันจากผู้เกี่ยวข้องกับวงการพนัน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงการเลือกที่รัก ที่ชัง ทางเชื้อชาติ ซึ่งทำให้นักฟุตบอลทีมชาติมาเลเซีย ในแทบทุกระดับ เต็มไปด้วยชาวมลายู ขณะที่ชาวจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นอีก 2 กลุ่มชาติพันธุ์สำคัญในมาเลเซียกลับมีโอกาสน้อยมากในการเป็นนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งทำให้ทีมชาติมาเลเซียมิได้ใช้ศักยภาพของกลุ่มคนเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงถึงรัฐบาลที่ผ่านมาว่า ล้มเหลวในการบริหารและการสนับสนุนวงการฟุตบอลของประเทศ ขณะที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลหลายรายแทรกแซงและขัดแย้งกับเจ้าของทีมฟุตบอลยักษ์ใหญ่ในประเทศเป็นต้น

หลังความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของมาเลเซียในปี ค.ศ. 2018 ซึ่ง มหาเธร์โมฮัมหมัด หวนกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง คนใกล้ชิดของนายกรัฐมนตรี มหาเธร์หลายคนพยายามแสดงบทบาทในการแก้ไขปัญหาวงการฟุตบอลโดยเชื่อมโยงว่า ปัญหาเหล่านั้นเกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจทางการเมืองในช่วงก่อนหน้า อาทิ นายมุกริซมหาเธร์(MukrizMahathir) บุตรชายนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โดยมุกริซมหาเธร์ ซึ่งหวนกลับมาเป็นมุขมนตรีและประธานสมาคมฟุตบอลแห่งรัฐเคดาห์อีกครั้ง หลังชนะการเลือกตั้ง ค.ศ. 2018 ได้ประกาศว่าสโมสรฟุตบอลเคดาห์ จะไม่แจกตั๋วฟรีเพื่อเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลให้แก่นักการเมืองและหัวคะแนนอีกต่อไป เพราะทำให้แฟนบอลซึ่งเป็นเจ้าของและผู้สนับสนุนที่แท้จริงของวงการฟุตบอลขาดโอกาสเข้าชมการแข่งขันรายการต่างๆ 

ขณะที่นายไซยิดซาดดิกไซยิดอับดุลเราะห์มาน(SyedSaddiqSyed Abdul Rahman) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและกีฬาแห่งมาเลเซีย คนหนุ่มที่มีอายุเพียง 25 ปี วิจารณ์ว่าโครงการพัฒนากีฬาฟุตบอลมาเลเซียที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของนายไครี จามาลุดดิน (KhairyJamaluddin) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและกีฬาแห่งมาเลเซีย ดาวรุ่งทางการเมืองของพรรคอัมโนว่า การสร้างศูนย์ฝึกกีฬาฟุตบอลแห่งชาติของรัฐบาลที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถจัดการฝึกซ้อมและดูแลนักกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง การตั้งอัตราเงินเดือนบุคลากรที่สูงเกินจริง ล้วนแล้วแต่เป็นความล้มเหลวและเผาผลาญงบประมาณของรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง โดยนายไซยิดซาดดิกไซยิดอับดุลเราะห์มาน ได้เสนอให้พิจารณาลดเงินเดือนผู้ฝึกสอนฟุตบอลซึ่งไม่สามารถพาทีมฟุตบอลเยาวชนอายุไม่เกิน 17 ปีของมาเลเซียผ่านรอบคัดเลือก เพื่อหาตัวแทนจากชาติเอเชียเข้าแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์โลกได้

ถึงแม้ที่ผ่านมา ฟีฟ่าเคยประกาศต่อต้านการที่ภาคการเมืองขยายอิทธิพลเข้ามาแทรกแซงวงการฟุตบอลและที่ผ่านมา ฟีฟ่าเคยตัดสิทธิ์มิให้ทีมชาติของบางประเทศเข้าร่วมการแข่งขันในรายการที่ฟีฟ่าจัดขึ้นหากพบว่า มีการแทรกแซงจากภาคการเมืองต่อทีมชาตินั้นๆ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการแข่งขันและการต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดในมาเลเซียในปัจจุบัน ซึ่งฝ่ายรัฐบาลกำลังดำเนินงานล้างบางฝ่ายอำนาจเก่าในแทบทุกมิติ ทำให้วงการกีฬาในมาเลเซียโดยเฉพาะวงการฟุตบอลกลายมาเป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งอิทธิพลของฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความน่าสนใจเกี่ยวกับวงการฟุตบอลมาเลเซียในวันนี้ จึงไม่ได้มีเพียงว่านโยบาย F:30 ของสมาคมฟุตบอลแห่งมาเลเซีย จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายทางกีฬาที่วางไว้หรือไม่ อย่างไร แต่ควรรวมถึงกรณีที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลมาเลเซียชุดปัจจุบันช่วงชิงเอาประเด็นด้านกีฬาฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬามหาชนในมาเลเซียมาใช้ประโยชน์ทางการเมืองว่าการกระทำเช่นนี้จะมีส่วนสนับสนุนรัฐบาลมาเลเซียในชุดปัจจุบันและลดทอนความน่าเชื่อถือของนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามลงไปได้อีกมากน้อยเพียงใด

 [ อภิเชษฐ กาญจนดิฐ : นักวิจัยฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ (ฝ่าย 1) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ]