ทำอย่างไรจึงจะแก้กับดัก “หนี้นอกระบบ” อย่างยั่งยืน

ทำอย่างไรจึงจะแก้กับดัก “หนี้นอกระบบ” อย่างยั่งยืน

“หนี้นอกระบบ" ถือเป็นปัญหาสำคัญทางเศรษฐกิจ และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความยากจน การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน

จึงเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลเลือกตั้งในปี 2562 นี้ ที่จะต้องส่งเสริมและขยายศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของประชาชน เพื่อให้สามารถสร้างรายได้มากพอที่จะหลุดพ้นจากภาระหนี้สิน ; ผลักดันโครงการสินเชื่อ “นาโนไฟแนนซ์” (สำหรับกำรประกอบอาชีพ) และ พิโกไฟแนนซ์” (สินเชื่อรายย่อยเอนกประสงค์) ให้ประสบความสำเร็จ เพื่อตัดวงจรปัญหาของการกู้เงินนอกระบบ ; ส่งเสริมช่องทางเข้าถึงสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เทคโนโลยีทางการเงิน และการส่งเสริมสถาบันการเงินชุมชน ; รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับ วินัยทางการเงิน, ยึดหลักควำมพอเพียง, ต้องออมก่อนใช้, เมื่อเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ เพื่อไม่ให้กลับไปเป็นหนี้อีกครั้ง”

ความหมาย “หนี้นอกระบบ” คือ การกู้หนี้ทั้งในรูปของตัวเงินและสิ่งของที่อยู่นอกระบบสถาบันการเงิน และไม่ได้จดทะเบียนหลักประกันสัญญา ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง โดยการกู้หนี้ยืมสินไม่ได้ให้ความสำคัญกับหลักฐานการกู้ยืมเงิน และมักจะเรียกอัตราดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น 20% ต่อเดือน หรือ 10% ต่อวัน ทำให้ผู้มีรายได้น้อย (รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน) ต้องตกอยู่ในกับดักหนี้สิน อย่างไม่มีทางเลือกเมื่อจำเป็นต้องใช้เงิน 

รูปแบบของหนี้นอกระบบ แบ่งตามระยะเวลาการชำระหนี้ได้ 2 แบบ คือ 1) หนี้ระยะสั้น (หนี้รายวัน) เป็นเงินกู้ที่มีการเก็บดอกเบี้ยรายวัน โดยบวกทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไว้ด้วยกัน ส่วนใหญ่คิดอัตราดอกเบี้ย 20% ต่อการให้กู้ยืม 1 ครั้ง โดยมีการจัดเก็บหนี้ที่แตกต่างกันไป 2) หนี้ระยะยาว (หนี้รายเดือน/รายปี) เป็นการปล่อยกู้ระยะยาวมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป และเก็บดอกเบี้ยรายเดือน จนกว่าจะมีเงินก้อนมาใช้คืน คิดดอกเบี้ยตั้งแต่ร้อยละ 5 บาท ถึง 20 บาท ต่อครั้ง

สาเหตุของการกู้ “หนี้นอกระบบ” จากการศึกษาของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2557 พบว่า ประชาชน 90% กู้หนี้นอกระบบ เพราะต้องการเงินเร่งด่วนหรือฉุกเฉิน 84% เห็นว่า การกู้หนี้นอกระบบสะดวก เนื่องจากไม่ได้ต้องการกู้เงินจานวนสูง 46% กู้เงินจากสถาบันการเงินไม่ได้ การกู้เงินในระบบสถาบันการเงินเป็นไปได้ยาก สำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้ทำอาชีพอิสระ และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม เนื่องจากไม่มีแหล่งรายได้แน่นอนชัดเจน ไม่มีสถานประกอบการ รวมถึงขาดแคลนหลักทรัพย์ที่จะไปเป็นหลักประกัน ตลอดจนขาดความรู้ในการเข้าไปขอเงินกู้กับสถาบันการเงิน จึงต้องไปพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบต่างๆ พบว่า ประเภทเจ้าหนี้ที่สำคัญได้แก่ เจ้าหนี้ที่อยู่ในเครือข่ายความสัมพันธ์ของลูกหนี้, เจ้าหนี้ที่เป็นนายทุนเงินกู้, แขกให้กู้ยืมเงิน, กลุ่มนายทุนปล่อยกู้ในตลาด และเจ้าหนี้ที่เป็นเจ้าของกิจการส่วนตัว โดยเฉพาะสินค้าทางเกษตร (ปุ๋ย, ยาฆ่าแมลง, เมล็ดพันธ์)

ตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ระบุสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ระดับ 78.0% แต่หนี้ข้างต้น คือ หนี้ในระบบของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) ไม่ได้รวมหนี้นอกระบบที่ประชาชนใช้เป็นที่พึ่งเมื่อมีปัญหาทางการเงิน คาดว่าหากนับรวมหนี้นอกระบบเข้าไปด้วย หนี้ครัวเรือนที่แท้จริงอาจจะพุ่งเกิน 100% ของ GDP ไทยที่มีมูลค่ากว่า 16 ล้านล้านบาท จากการสารวจของกระทรวงมหาดไทย และศูนย์วิจัยของธนาคารต่างๆ พอสรุปได้ว่า ในจำนวนผู้มีรายได้น้อย 7 ล้านคน พึ่งพาเงินกู้นอกระบบอยู่ประมาณ 1.3 ล้านคน วงเงินรวม 8.6 หมื่นล้านบาท และจากการสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 26.4% ในปี 2560 เป็น 35.3% ในปี 2561 โดยหนี้นอกระบบมากกว่าครึ่งอยู่ในภาคอีสาน สาเหตุหลักส่วนมากมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าเล่าเรียนบุตรหลาน และค่ารักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย

ปัญหาด้านรายได้และหนี้สินในปัจจุบัน 5 อันดับแรก คือ 1.)รายได้ไม่พอกับภาวะค่าครองชีพปัจจุบัน 2.)รายได้ไม่แน่นอน ราคาผลิตภัณฑ์การเกษตรไม่แน่นอน 3.)เงินที่หามาได้ส่วนใหญ่ต้องนำมาใช้หนี้ 4.)ไม่มีบุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้เงิน และ(5) ดอกเบี้ยแพง / หนี้นอกระบบ

การแก้ไขปัญหา หนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน

1.รัฐบาลจะต้องเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาหนี้นอกระบบคือ ปัญหาเศรษฐกิจที่ประชาชนรายได้ไม่เพียงพอ และโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคม ถือเป็นปัจจัยที่รักษาความเหลื่อมล้ำให้คงไว้ ดังนั้น จะต้องจัดให้มีสวัสดิการรัฐ ในเรื่องการศึกษาและสาธารณสุขให้ผู้มีรายได้น้อยอย่างพอเพียง

2.รัฐบาลปัจจุบันเสนอโครงการสินเชื่อแก้หนี้นอกระบบ กำหนดให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อรายย่อย หรือ Pico Finance โดยคิดอัตราดอกเบี้ยได้เกิน 15% ต่อปี แต่ไม่เกิน 36% ต่อปี ซึ่งมีข้อดี คือ1.) ทำให้ผู้กู้ และผู้ให้กู้ กลับเข้าสู่ “เงินกู้ในระบบ” 2.) กู้ไปใช้เพื่ออุปโภคบริโภค หรือฉุกเฉินได้ตามใจ และ 3.) ตัดปัญหาดอกเบี้ยโหดๆ จากหนี้นอกระบบ

ทำอย่างไรจึงจะแก้กับดัก “หนี้นอกระบบ” อย่างยั่งยืน

โครงการ สินเชื่อ พิโกไฟแนนซ์ มีเป้าหมายเดียวกันกับสินเชื่อ ไมโครไฟแนนซ์ และสินเชื่อ นาโนไฟแนนซ์ โดยเน้นขยายขอบเขตทางกฎหมายให้บุคคลธรรมดาที่ไม่มีฐานะทางการเงินมั่นคงในพื้นที่ต่างๆ ได้ปล่อยกู้ให้ประชาชนในพื้นที่ของตนเองได้ การเรียกให้ชาระหนี้และการติดตามทวงหนี้จากลูกหนี้ ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ ปี 2558 ปัจจุบันมีผู้มาขอยื่นเปิดกิจการ 350 รายทั่วประเทศ มีขั้นตอนและระเบียบที่ยุ่งยาก ต้องจัดตั้งนิติบุคคลและส่งรายงานการเงินให้กับกระทรวงการคลังทุกเดือน จึงยังไม่ประสบความสำเร็จในการลดหนี้นอกระบบของประชาชนเท่าใดนัก

3.การที่ภาครัฐจะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างยั่งยืนนั้น ยังต้องดำเนินการส่งเสริมช่องทาง การเข้าถึงสินเชื่อใน 2 ประเด็นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เทคโนโลยีทางการเงิน (Fin Tech) ซึ่งมีศักยภาพที่จะช่วยให้การเข้าถึงเงินกู้รวดเร็ว และต้นทุนการดำเนินการต่ำลง ประเด็นที่สองคือ ส่งเสริม “สถาบันการเงินชุมชน” ให้เกิดมากขึ้น เป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้การเงินครัวเรือนไทยเข้มแข็งขึ้น

4.เสริมสร้างวินัยทางการเงินเพื่อแก้ปัญหาจากลักษณะนิสัยของลูกหนี้ในการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยไม่เหมาะสมกับฐานะตน และส่งเสริมให้ลูกหนี้ที่ได้กู้ยืมเงินไปลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ และขยายศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง

 

โดย...

ธีรวิทย์ จารุวัฒน์

รองเลขาธิการพรรคเสรีรวมไทย