ธีมเศรษฐกิจไทยในปี 2019: “ซึม ทรง ทรุด และเสี่ยง”

ธีมเศรษฐกิจไทยในปี 2019: “ซึม ทรง ทรุด และเสี่ยง”

ในช่วงส่งท้ายปีเก่า 2017 ผู้เขียนเคยมองว่า 4 ธีมเศรษฐกิจไทยในปี 2018 คือ (1) เศรษฐกิจไทยที่เริ่มขยายตัวจากภาคต่างประเทศ จะยังไม่กระจายตัวสู่

ภาคการบริโภคในประเทศนัก (2) 2018 จะไม่ใช่ปีทองของการลงทุนอย่างที่ทางการมอง (3) สภาพคล่องภาคการเงินเหมือนจะสูง แต่สินเชื่อกลับไม่ขยายตัว และ (4) จะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2018 แต่เสถียรภาพการเมืองอยู่ในระดับต่ำ

เมื่อลองย้อนดูภาพธีมทั้ง 4 พบว่าพอยอมรับได้ใน 3 ธีมแรก คือ (1) การขยายตัวเศรษฐกิจไทยยังไม่ทั่วถึง โดยการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวดีจะเป็นยอดขายรถยนต์ แต่การบริโภคไม่คงทน (อาหารและเสื้อผ้า) ยังตกต่ำ บ่งชี้ว่าการใช้จ่ายระดับบนขยายตัว แต่ระดับล่างยังคงหดตัว (2) การลงทุนโดยเฉพาะภาคเอกชนขยายตัวขึ้นบ้าง แต่โดยภาพรวมยังค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะภาคการก่อสร้างที่ยังหดตัว ส่วนการลงทุนภาครัฐน่าผิดหวัง และ (3) ภาคการเงิน แม้สภาพคล่องจะผ่อนคลายในครึ่งปีแรก แต่สินเชื่อภาคธุรกิจขนาดย่อมค่อนข้างตึงตัว ขณะที่ครึ่งปีหลังเริ่มเห็นการตึงตัวทางการเงินที่มากขึ้นโดยเฉพาะภาคเอกชนที่เร่งระดมทุนก่อนดอกเบี้ยขาขึ้น

ในปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณ 3.8-4.0% ต่อปี ชะลอลงจากปีที่แล้วที่ 4.2% โดยมี 3 ธีมเศรษฐกิจและ 1 กลุ่มความเสี่ยง ดังนี้

  1. เศรษฐกิจภาคต่างประเทศ: “ทรุด

ในปี 2019 ภาคการส่งออกและท่องเที่ยวจะชะลอตัวลงชัดเจน โดยฝั่งการส่งออก มูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวลดลง จากประมาณ 7% ในปี 2018 เหลือ 0-4% ในปีนี้ จากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่จะชะลอตัวลง ผลจากการชะลอลงของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจีน ความเสี่ยงสงครามการค้าที่แปรเปลี่ยนเป็นสงครามเทคโนโลยี และวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นขาลง (เห็นได้จากการที่ Apple ปรับลดการขยายตัวของยอดขาย iPhone เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยอ้างทิศทางเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงเป็นหลัก)

ส่วนการท่องเที่ยวที่เคยเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนั้น ก็จะชะลอตัวชัดเจน ผลทั้งจากการชะลอลงของเศรษฐกิจโลก และความกังวลของทางการจีนต่อความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวของไทย โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้จะขยายตัวประมาณ 4% (ประมาณ 39.5 ล้านคน) ต่ำกว่าปีที่แล้วที่ 6.7% โดยนักท่องเที่ยวจีนจะหดตัว 6%

  1. การบริโภคและลงทุน: “ซึม” (จากภาคการเงินตึงตัวมากขึ้น)

ในปี 2019 ความตึงตัวทางการเงินที่จะมีมากขึ้น เห็นได้จาก (1) ดอกเบี้ยระยะสั้นที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเมื่อปลายปี ซึ่งหากภาพเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องก็จะดึงให้ดอกเบี้ยระยะกลางและระยะยาว (โดยเฉพาะพันธบัตรอายุ 2 ปี ซึ่งเป็นฐานของดอกเบี้ยเงินกู้ต่าง ๆ) ให้ปรับเพิ่มขึ้นตาม และจะกระทบต่อเศรษฐกิจวงกว้าง ทั้งนี้ การที่บริษัทเอกชนออกหุ้นกู้เป็นจำนวนมากในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากกังวลทิศทางดอกเบี้ยที่ตึงตัวขึ้น ก็มีส่วนทำให้การเงินตึงตัวขึ้นเช่นเดียวกัน

(2) ปริมาณเงินความหมายแคบ (M1) และฐานเงิน (M0) ที่ขยายตัวชะลอลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ขณะที่สินเชื่อและปริมาณเงินความหมายกว้าง (M2) ขยายตัวในระดับต่ำ บ่งชี้ว่าสภาพคล่องไม่ได้ไหลเข้าสู่เศรษฐกิจจริงอย่างที่ควรจะเป็น และ

(3) ดัชนีค่าเงินบาทเทียบกับคู่ค้าและคู่แข่ง (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) ในรอบ 5 ปีแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในปัจจุบันเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สกุลอื่นทั่วโลก (ยกเว้นเยน) อ่อนค่าลง บ่งชี้ถึงนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นโดยเปรียบเทียบเช่นกัน ทั้งนี้ ภาคการเงินที่ตึงตัวจะทำให้การใช้จ่ายในประเทศซึมเซา

  1. ภาคการคลัง: ประคองเศรษฐกิจให้ ทรง

แม้ภาคเศรษฐกิจต่างประเทศและภาคการเงินจะเป็นความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย แต่ภาคการคลังจะยังเป็นส่วนพยุงเศรษฐกิจได้บ้าง ส่วนหนึ่งจากกระทรวงการคลังที่ออกนโยบายตอบสนองต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเร็วกว่า โดยสามารถแบ่งเป็นมาตรการระยะสั้น ยาว และมาตรการภาคท่องเที่ยว ดังนี้

มาตรการระยะสั้น มี 3 กลุ่มมาตรการ อันได้แก่ (1) การลดภาษีจากการจับจ่าย อันได้แก่ Shop ช่วยชาติ และ Shop คืนVAT (1-15 ก.พ.) ซึ่งผู้เขียนมองว่าจะช่วยเพิ่ม GDP ประมาณ 0.1%

(2) มาตรการบัตรคนจน (14.5 ล้านคน) วงเงินรวม 8.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการโอนเงิน ช่วยผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ ซึ่งอาจกระตุ้น GDP ได้ประมาณ 0.1% และ

(3) มาตรการผ่านธนาคารเฉพาะกิจ เช่น ธ.ออมสิน และ ธกส. คืนดอกเบี้ยผู้กู้รายย่อยชั้นดี ส่วน ธอส. มีโครงการบ้าน 1 ล้านหลัง โดยคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด โดยโครงการเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะกลุ่ม และมีผลต่อ GDP เล็กน้อย โดยทั้ง 3 มาตรการจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.2-0.3% ของ GDP

ส่วนมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว โดยหลักคือการให้ VISA on arrival โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแก่นักท่องเที่ยว 20 ประเทศ โดยเน้นจีนเป็นหลัก รวมถึงมาตรการอื่น ๆ เช่น Double Entry Visa และ Re-entry permit อาจช่วยเรื่องการท่องเที่ยวได้บ้าง แต่ไม่มากนัก เพราะปัจจัยลบเชิงโครงสร้างสำคัญ อันได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และมาตรการคุมเข้มของทางการจีน จะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวไทยที่ 11.8% GDP สูงสุดในอาเซียน มีความเสี่ยงมากขึ้น

ส่วนสุดท้าย ได้แก่มาตรการระยะยาว ซึ่งโดยหลักได้แก่พัฒนาการของ 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อันได้แก่ (1) รถไฟความเร็วสูงที่ปัจจุบันได้ชื่อผู้ร่วมทุนแล้ว และจะลงนามภายในปลายเดือนนี้ (2) ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) (3) สนามบินอู่ตะเภา Terminal 2-3 (4) ท่าเรือมาบตะพุด (ก๊าซธรรมชาติ) และ (5) ท่าเรือแหลมฉบัง (ขนส่งสินค้า) โดยตามแผนแล้วจะได้รายชื่อเอกชนเข้าร่วมลงทุนในไตรมาสแรกของปีนี้

ทั้งนี้ หากพัฒนาการของทั้ง 5 โครงการยังคงเป็นไปตามแผนที่ประกาศไว้ ก็อาจทำให้นักลงทุนมั่นใจและมาลงทุนใน EEC มากขึ้น ซึ่งความเสี่ยงของสงครามการค้า จีน-สหรัฐ ก็ทำให้นักลงทุนที่เคยลงทุนจีน สนใจจะย้ายฐานการผลิตมาไทยมากขึ้นเช่นกัน

นอกจาก 3 ธีมหลักแล้ว อีก 1 กลุ่มความเสี่ยงที่อาจฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวกว่าคาดได้แก่ (1) ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกว่าคาด โดยเฉพาะจีนที่ภาคการผลิตเริ่มเข้าสู่แดนลบแล้ว (2) การตึงตัวของนโยบายการเงินโลก ที่แม้ว่าจะเริ่มมีสัญญาณผ่อนคลายลงในระยะหลัง และ (3) เสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้งที่จะเปราะบางมากขึ้น

ซึม ทรง ทรุด และเสี่ยง คือธีมเศรษฐกิจไทยในปี 2019 นักธุรกิจและนักลงทุน โปรดระวัง

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ]