15 ปีไฟใต้

15 ปีไฟใต้

สามจังหวัดชายแดนภาคใต้รอดพ้นภัยพิบัติจากพายุปาบึกมาแบบหวุดหวิดผิดคาด ช่วงที่พายุปาบึกเข้า คือวันที่ 4 มกราคม ซึ่งตรงกับวาระ

ครบรอบเหตุการณ์ปล้นปืน 413 กระบอกจากค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาสเมื่อ 15 ปีก่อนพอดี หลายคนเรียก

วันนั้นว่า “วันเสียงปืนแตก” เพราะนับจากนั้นก็มีเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นแทบจะรายวัน ทำให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคยสงบเงียบ สวยงาม ต้องแปรเปลี่ยนไปเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยเสียงปืน เสียงระเบิด รอยเลือด และคราบน้ำตา

ผ่านมา 15 ปี มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบไปแล้วมากกว่า 4,000 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 10,000 คน และมีเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นเกือบ 10,000 เหตุการณ์ หมดงบประมาณไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ทั้งสถิติเหตุรุนแรงและยอดผู้สูญเสียสูงกว่าสงครามความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือที่กินเวลาถึง 30 ปีเสีย

อีก

แม้ปลายด้ามขวานจะรอดจากอิทธิฤทธิ์ปาบึก แต่ก็หนีไม่พ้นเหตุระทึกช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทั้งที่หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา และที่นราธิวาส เสียงกัมปนาทของระเบิดส่ง “สัญญะ” ถึงปัญหาความขัดแย้งที่ชายแดนใต้อย่างชัดเจน เพราะมี่เป้าหมายทำลายรูปปั้นนางเงือก ซึ่งมีความสำคัญต่อความรู้สึกของคนสงขลา

ขณะที่ปลอกกระสุนจากอาวุธสงครามที่พบจำนวนมากในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกาลิซา อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ก็นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบไม่ถึง 3 ปีที่ คนร้ายบุกยึดโรงพยาบาลเพื่อความสะดวกในการโจมตีฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ โดยไม่ได้สนใจกฎของสงคราม หรือกติกาสากลใดๆ

นี่คือความร้ายแรงของปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ แม้ช่วงหลังๆ สถิติเหตุรุนแรงในเชิงตัวเลขจะลดน้อยลงตามลำดับ แต่ถ้าเรายังต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มคนที่พร้อมระเบิด รูปปั้น บุกยึดโรงพยาบาล จับหมอ พยาบาลเป็นตัวประกัน ถามว่าความสงบที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้แน่หรือ

ในวาระครบรอบ 15 ปีไฟใต้ โฆษกบีอาร์เอ็นออกแถลงผ่านยูทูบอ้างว่ารัฐไทยไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหา สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในทางบวกตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เกิดเพราะรัฐอยากให้ภาคใต้สงบ แต่ไม่ได้จริงใจ ซึ่งทั้งหมดมาจากการต่อสู้ของบีอาร์เอ็น

คู่ขัดแย้งเปิดตัวมาขนาดนี้ แต่ฝั่งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบยังให้น้ำหนักว่าเป็นการเมืองจ้างมา ก็คงได้เวลาที่จะสรุปให้ฟังชัดๆ ว่าต้นตอปัญหาใต้คืออะไร และทำไมมันถึงไม่สงบเสียที ให้สมกับที่โอ้อวดว่ารู้ปัญหาดีและกำลังเดินมาถูกทาง