สิ่งที่คนไทยหวังจากการเลือกตั้งครั้งนี้

สิ่งที่คนไทยหวังจากการเลือกตั้งครั้งนี้

บทความนี้เป็นบทความแรกของปี จึงขอเริ่มด้วยการส่งความสุขปีใหม่แด่แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” และผู้อ่านทุกท่าน ให้มีความสุขกาย สุขใจ

มีสุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และประสบแต่สิ่งที่ดีตลอดปี 2562 เพื่อจะได้ร่วมกันเป็นกำลังสร้างสรรประเทศไทยของเราให้เจริญก้าวหน้า อย่างถูกต้องต่อไป

ปีนี้เป็นปีสำคัญของประเทศ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง ในแง่เศรษฐกิจปีนี้ชัดเจนว่า เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมาก และจะมีผลอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ต้องพยายามบริหารจัดการให้ประเทศสามารถตั้งรับและก้าวข้ามผลกระทบเหล่านี้ไปให้ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจปีนี้สามารถเติบโตได้ต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ

ในแง่การเมือง ปีนี้จะเป็นปีเปลี่ยนผ่านสำคัญของประเทศ เป็นการเปลี่ยนผ่านจากการเมืองในระบบเผด็จการทหารมาเป็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่การเปลี่ยนผ่านสามารถสร้างฐานใหม่ที่เข้มแข็งให้กับการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศได้จากนี้ไป อย่างที่ทราบกัน การเมืองที่ดีสร้างประเทศได้ และการเมืองที่เลวก็ทำลายประเทศได้ ทำให้การเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้น ต้องเป็นการเปลี่ยนผ่านที่ให้ความหวังที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ประเทศควรมี เพื่อให้ประเทศดีขึ้น และมีอนาคตอย่างที่ควรจะเป็น การเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.นี้จึงสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะมีการเลือกตั้งให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนฯและรัฐบาลได้ตามกลไกของระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการเลือกตั้งที่ควรนำไปสู่การมีรัฐบาลใหม่ มีนักการเมืองรุ่นใหม่เข้ามาทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างตั้งใจ เพื่อให้ความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ดีขึ้น กล้าที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประเทศมีอนาคต กล้าที่จะแก้ไขปัญหาโครงสร้างที่ประเทศมีเพื่อให้ประเทศไทย มีความหวัง นี่คือรัฐบาลที่คนไทยอยากได้ อยากให้เข้ามาบริหารประเทศ

ช่วงวันหยุดยาวตอนสิ้นปี ผมนึกถึงปาฐกถาเก่าของ ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พูดไว้เมื่อ 5 ปีก่อน ปี2557 ในโอกาสวันเนลสัน แมนเดลลา (Nelson Mandela International Day) พูดถึงธรรมาภิบาลในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (Democratic Governance) ที่เป็นแนวทางของการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ผมได้กลับไปอ่านและเห็นว่าหลักการต่างๆ ที่พูดถึง ยังสำคัญ จำเป็นและตรงประเด็นต่อการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้นในบ้านเรา ไม่ให้ล้มลุกคลุกคลานเหมือนที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งนี้ต้องทำให้เกิดขึ้น และเป็นสิ่งที่คนไทยทั้งประเทศ อยากได้จากการเลือกตั้งคราวนี้ สรุปได้เป็นห้าข้อ

หนึ่ง การเลือกตั้งที่จะมีต้องเป็นการเลือกตั้งที่ บริสุทธิ์ และยุติธรรม คือ Free and Fair ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นการเลือกตั้งที่สะอาด โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างท่วมท้นที่ร่วมกันทำหน้าที่พลเมืองใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทนฯ ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชนบริหารประเทศตามนโยบายที่ประกาศไว้เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น นี่คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญจะทำให้ประชาธิปไตยได้รับการยอมรับและได้รับความเชื่อถือจากประชาชน

ตรงกันข้าม ถ้าการเลือกตั้งคราวนี้สกปรกไม่ยุติธรรม มีแต่การโกงและการซื้อเสียงเพื่อผูกขาดอำนาจ ผลที่ออกมาก็จะไม่ใช่รัฐบาลหรือนักการเมืองที่ประชาชนต้องการเพราะไม่ได้ลงคะแนนให้ แต่เป็นผู้แทนฯเป็นรัฐบาลที่มาจากการโกง เป็นรัฐบาลที่ผิดกฎหมายขาดความชอบธรรม ไม่น่าเชื่อถือ ไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน เป็นรัฐบาลที่ประชาชนจะไม่ยอมรับ และในที่สุดก็จะเกิดปัญหาตามมา

สอง ประเทศไทยหลังการเลือกตั้งต้องเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญต่อการแสดงความคิดเห็น เปิดกว้างให้ประชาชนมีอิสระที่จะมีความเห็นได้อย่างเสรีตามตัวบทกฎหมาย เคารพในความเห็นที่หลากหลาย ที่แตกต่าง ไม่มองความเห็นที่แตกต่างเป็นศัตรู เหล่านี้ คือ เงื่อนไขที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศเข้มแข็ง เพราะภาคประชาสังคมของประเทศจะเข้มแข็ง สามารถมีบทบาทส่วนร่วมในการแสดงความเห็น ที่จะนำไปสู่การออกแบบนโยบายพัฒนาประเทศที่ประชาชนเห็นด้วยและสังคมยอมรับ

สาม ประเทศมีการบังคับใช้กฎหมาย (Rule of Law) ที่เป็นธรรม ที่คนไทยทุกคนอยู่ภายใต้ตัวบทกฎหมายเดียวกันอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีหลายมาตรฐานสำหรับคนจน คนรวย หรือคนที่มีอิทธิพล มีกระบวนการเอาผิดลงโทษตามกฎหมายที่ประชาชนพึ่งได้ มีการดำเนินการที่เป็นระบบ โปร่งใส ตรงไปตรงมา มีระบบศาลหรือการตัดสินคดีความที่เป็นอิสระจากการเมือง ไม่ยอมให้การเมืองแทรกแซง ไม่เลือกปฏิบัติตามการเมือง หรือยอมให้รัฐบาลใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือแสดงอำนาจทางการเมือง เป็นระบบยุติธรรมที่ประชาชนให้ความไว้วางใจและหวังพึ่งได้ที่สะท้อนความศักดิ์สิทธิของกฎหมาย

สี่ ภาครัฐโดยเฉพาะระบบราชการต้องทำหน้าที่อย่างโปร่งใส มีเหตุมีผล มีความรับผิดชอบในหน้าที่ และตรวจสอบได้ ระบบข้าราชการต้องให้ความสำคัญกับการมีธรรมาภิบาลในการทำหน้าที่ มีระบบถ่วงดุลหรือระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง เพื่อป้องกันการละเมิด การใช้อำนาจไม่ถูกต้อง ประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้ง และการทุจริตคอร์รัปชัน มีระบบการเปิดเผยข้อมูลที่สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในนโยบาย และในการตัดสินใจของรัฐบาลที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่น การลงทุนขนาดใหญ่ สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการทำนโยบายสาธารณะที่โปร่งใสน่าเชื่อถือ ที่ให้ความสำคัญต่อประโยชน์ของส่วนรวม

ห้า ผู้นำประเทศในระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นผู้นำที่ประชาชนภูมิใจ ที่เข้าใจปัญหาและตอบสนองต่อปัญหาที่ประชาชนและประเทศมีเพื่อนำไปสู่การแก้ไข เป็นผู้นำของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีเหตุมีผล และเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนในสังคมพร้อมยึดถือและปฏิบัติตาม

นี่คือแนวทางห้าด้านที่เป็นพื้นฐานด้านธรรมภิบาลของระบอบประชาธิปไตย ที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศเข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับและมีความยั่งยืน นำไปสู่ความเข้มแข็งของระบบการเมือง และระบบเศรษฐกิจ นี่คือสิ่งที่คนไทยทั้งประเทศหวังจะได้จากการเปลี่ยนผ่านคราวนี้ และเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนพร้อมร่วมมือและผลักดันให้เกิดขึ้น