จับตา surprise เศรษฐกิจไทยปี 62

จับตา surprise เศรษฐกิจไทยปี 62

สวัสดีปีใหม่ ปี 2562 ครับ ปีที่แล้วก็เป็นอีกปีที่เศรษฐกิจไทยเจอเรื่อง surprise หลายเรื่องเลยนะครับ

ทั้ง surprise ด้านลบอย่างนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน การท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลงอย่างมากจากปัจจัยชั่วคราว และ surprise ด้านบวกอย่างการบริโภคภาคเอกชนที่น่าจะขยายตัวได้เกือบ 5% เป็นตัวดันให้ GDP ขยายตัวแตะ 4% เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี มองไปข้างหน้าในปีนี้ก็น่าจะมีเรื่อง surprise ให้ต้องระวังหลายเรื่องเช่นกันนะครับ ตั้งแต่ภาพเศรษฐกิจ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงตลาดการเงิน

เรื่อง surprise แรกจริงๆ ก็คือการบริโภคภาคเอกชนจะชะลอตัวลง เพราะในปีที่ผ่านมาเราเห็นการบริโภคขยายตัวได้เกือบ 5% นั้นมาจากการบริโภคของคนที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง เพราะหากไปดูองค์ประกอบพบว่าใน 5% นั้น เกือบ 1% มาจากการซื้อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นที่ได้รับแรงหนุนจากการครบกำหนดมาตรการรถคันแรกและการโมเดลรถรุ่นใหม่ๆ

ในขณะที่การบริโภคของภูมิภาคแม้จะได้รับแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐแต่ก็ยังไม่ได้ฟื้นอย่างทั่วถึงมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ภาคเกษตรที่ภาพรวมยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น การบริโภคที่เพิ่มขึ้นในปีที่แล้วจึงเป็นเหมือนกันการดึง demand จากอนาคตมาใช้ก่อน กำลังซื้อในอนาคตจึงลดลงคล้ายกับช่วงที่การบริโภคชะงักหลังจากมาตรการรถคันแรก ทำให้ปีนี้การบริโภคภาคเอกชนน่าจะชะลอตัวลงจากปีที่แล้ว

นอกจากนี้ การซื้อรถยนต์ก็มาควบคู่กับสินเชื่อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2561 สินเชื่อรถยนต์คาดว่าจะขยายตัวสูงถึง 14% ซึ่งการแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่รุนแรงขึ้นทำให้เราเริ่มเห็นพฤติกรรมน่าเป็นห่วงอย่างการขอสินเชื่อโดยใช้ทะเบียนรถมาค้ำประกันเพื่อนำรถไปขอสินเชื่อต่อ หรือสินเชื่อเงินทอนที่มาจากรถยนต์ จึงเป็นที่น่าจับตาว่าในปีนี้อาจจะมีมาตรการใหม่ๆที่จะออกเกี่ยวกับการควบคุมสินเชื่อรถยนต์

อีกเรื่องที่อาจจะเป็นเรื่อง surprise ที่ในปีนี้เกี่ยวกับภาคอสังหาฯก็คือ demand ของคอนโดมิเนียมจากชาวต่างชาติที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอ โดยการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ความต้องการซื้อคอนโดฯจากชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนถึง 27% ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิทั้งหมด

โดยฉพาะชาวจีนและฮ่องกงที่มีเงินโอนคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.4 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่นิยมซื้ออาคารชุดราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาทต่อยูนิต ดังนั้น ปัญหาจาก supply คงค้างอาจรุนแรงขึ้นหากกำลังซื้อของผู้ซื้อต่างชาติได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกขาลง

เรื่อง surprise สุดท้ายที่อยากเตือนให้ทุกท่านระวังก็คือ เรื่องสภาพคล่องในตลาดการเงินในปี 2562 ที่จะลดลงจากการขายหรือลดการซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางใหญ่ๆอย่าง Fed ECB และ BOJ สวนทางกับการออกพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเพื่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้น

จึงมีโอกาสที่เงินทุนจะไหลกลับไปยังตลาดบอนด์สหรัฐฯ ดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยสูงขึ้นตาม โดยปัจจุบันตลาดบอนด์ไทยมีนักลงทุนต่างชาติถือสุทธิอยู่ถึง 9.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 12% ของตลาดพันธบัตรรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ตลาดยังมองว่าเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และราคาน้ำมันที่ต่ำจะกดให้เงินเฟ้อต่ำ ทำให้บอนด์ยีลด์ตัวยาวจะไม่ขยับไปไหน ซึ่งการที่ตลาดประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไปแบบนี้ หากบอนด์ยีลด์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วก็อาจเกิด market correction รุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดพันธบัตรไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนการกู้ยืมโดยตรงหรือ direct financing ที่จะแพงขึ้น ที่อาจทำให้ธุรกิจที่มีผลประกอบการไม่ค่อยดีต้องอาจเผชิญปัญหาการไม่สามารถกู้ยืมมาเพื่อจ่ายหนี้เดิมหรือ rollover ได้ จึงมีโอกาสการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น

อันนี้ท่านผู้อ่านอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวนะครับ แต่อย่าลืมว่าหากท่านลงทุนในกองทุนรวมหรือกองทุนตราสารหนี้บอนด์ยีลด์ที่เพิ่มสูงขึ้นก็จะทำให้มูลค่าสินทรัพย์ประเภทบอนด์ลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของกองทุนเหล่านี้เช่นกัน อันนี้ก็อาจจะเป็นเรื่อง surprise ที่จะต้องจับตาดูกันให้ดีในปีนี้นะครับ